สำรวจความรักของคุณ ผ่านทฤษฎี “สามเหลี่ยมความรัก”

Last updated: 20 ก.พ. 2566  | 


ความรักในโลกใบนี้มีหลากหลายประเภทและหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันไปตามศาสตร์ ความเชื่อ ทัศนคติของแต่ละบุคคล และสำหรับทฤษฎี “สามเหลี่ยมความรัก” (Triangular Theory Of Love) ทฤษฎีความรักของ Robert Sternberg ที่อธิบายถึงธรรมชาติและรูปแบบของความรัก จาก 3 องค์ประกอบก็คือ


1. ความใกล้ชิด (Intimacy) เกิดจากความรู้สึกใกล้ชิด สนิทสนมและความผูกพัน ทั้งหมดนี้ทำเกิดความรู้สึกอบอุ่น ความเข้าใจกัน ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ระยะยาว

2. ความหลงใหล (Passion) เกิดจากแรงเสน่หา นำไปสู่ความโรแมนติก และความดึงดูดทางกาย

3. ความผูกมัด (Commitment) เกิดจากการตัดสินใจในระยะสั้น “ว่าจะเรารักกันในระยะยาว” หรือหมายถึงการให้คำสัญญาว่าจะรักษาความรักครั้งนี้เอาไว้ 


ซึ่งทั้ง 3 องค์ประกอบนี้จะผูกพันธ์เชื่อมโยงกันและแยกย่อยออกไปเป็น 8 ประเภทของความรัก ได้ดังนี้

 

1. การไม่มีความรัก non-love (ไม่มีทั้ง 3 องค์ประกอบ)

การไม่มีความรักนั้นก็ถือเป็นอีกประเภทหนึ่งของความรักเช่นกัน แต่เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่ไม่มีความรู้สึกใดใดเลย เป็นแค่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลแบบง่ายๆ เพียงระยะเวลาหนึ่ง ที่ไม่มีความรู้สึกมาเกี่ยวข้อง


2. ความชอบ Liking (ความใกล้ชิด)

เป็นรูปแบบความรักที่เกิดจากความใกล้ชิดเท่านั้น ไม่มีความเสน่หา และความผูกมัด มาเกี่ยวข้อง มักจะเกิดขึ้นกับคนที่เราสนิทสนมใกล้ชิดด้วย หรือในความสัมพันธ์แบบเพื่อน 


3. ความรักแบบหลงใหล Infatuated love (ความหลงใหล)

เป็นรูปแบบของความรักที่ประกอบและถูกหล่อหลอมขึ้นมาด้วยความเสน่หาเพียวๆ อย่างการพอใจในรูปลักษณ์ภายนอก ไม่ได้มีความใกล้ชิดสนิทสนม หรือมีข้อผูกมัดต่อกัน หากจะกล่าวแบบเข้าใจง่ายก็คงเป็น การรักแรกพบ หรือ one night stand  เป็นความรักที่ไม่มั่นคงแต่ก็สามารถสานต่อได้


4. ความรักที่ว่างเปล่า Empty love (ความผูกมัด)

เป็นความรักที่ประกอบด้วยความผูกมัดอย่างเดียว ไม่มีความผูกพัน และความหลงใหล เช่น คู่รักที่ต้องแต่งงานกัน “คลุมถุงชน” แต่ความรักประเภทนี้อาจจะมีการพัฒนาองค์ประกอบด้านความใกล้ชิด ความเสน่หา ขึ้นมาในภายหลังได้


5. ความรักแบบโรแมนติก Romantic love (ความใกล้ชิด+ความหลงใหล)

เป็นความรักที่เกิดจากความใกล้ชิดและความหลงใหล มักเกิดในความสัมพันธ์ที่ได้รู้จัก ได้ใกล้ชิดกันและเกิดความชอบพอกัน โดยไม่มีความผูกมัด เช่น FWB  


6. ความรักแบบมิตรภาพ Companionate love (ความใกล้ชิด+ความผูกมัด)

เป็นความรักที่เกิดจากความใกล้ชิดและความผูกมัด เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระยะยาว เช่น ความสัมพันธ์แบบเพื่อน พี่น้อง คนในครอบครัว หรือคู่รักที่ใช้ชีวิตร่วมกันมาอย่างยาวนาน ไม่มีความชอบพอในเชิงเสน่หา แต่มีความมั่นคงสม่ำเสมอ ถือเป็นความรักที่ยั่งยืนและยาวนานที่สุด


7. ความรักลวง Fatuous love (ความหลงใหล+ความผูกมัด)

เป็นความสัมพันธ์ที่มีเพียงความหลงใหลและความผูกมัด ความสัมพันธ์ประเภทนี้เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดจากความพึงพอใจกันและตัดสินใจรักกันอย่างรวดเร็ว อาจจะไม่รู้จักตัวตนของกันและกันจริงๆด้วยซ้ำ มักเกิดและจบอย่างรวดเร็ว


8. ความรักแท้ complete love (มีทั้ง 3 องค์ประกอบ)

เป็นรักที่มีทั้งความเสน่หา ความใกล้ชิด และความผูกมัด ถือว่าเป็นความรักที่สมบูรณ์แบบ เป็นความรักที่หลายคนใฝ่หา แต่ก็ยากที่จะเกิดขึ้น และก็ยากที่จะรักษาเอาไว้

 

อยากให้ลองสำรวจและแบ่งปันกันนะคะ ว่าความรักของคุณในขณะนี้ เป็นความรักรูปแบบไหน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้