พูดคุยกับคุณแม่อีม เจ้าของเพจ Being Mama

Last updated: 7 ต.ค. 2565  | 


เป็นเรื่องจริงเลยนะ ที่ว่าแม่กับแม่ด้วยกันนี่แหละ จะเข้าใจกันที่สุด… ตรงนี้เลยเป็นเหตุผล ที่มัมสเตอร์อยากจะพูดคุยกับคุณแม่หลากหลายแบบ เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ที่หลากหลาย + มุมมองที่แตกต่าง แล้วก็หวังว่าส่วนหนึ่งของเรื่องราวเหล่านี้ จะสร้างพลังงานดีๆให้กับคุณแม่ที่ได้อ่านบ้าง… แม้เพียงน้อยนิดก็ยังดี 


มัมสเตอร์ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณแม่อีม เจ้าของเพจ Being Mama เพจที่บอกเล่าเรื่องราวการเลี้ยงลูกจากประสบการณ์ตรง ผ่านมุมมองที่น่าสนใจ และบ่อยครั้งมุมมองที่ได้จากคุณแม่อีม ก็ฮีลใจได้ดีเลย

------------------------------------------------------------------------------------------------

“การเลี้ยงลูกคนแรก”

อีมมีลูกคนแรกตอนอายุ 26 ค่ะ แล้วอีมก็เป็นคนแรกของรุ่นเลยที่มีลูก ในตอนนั้นอีมรู้สึกว่าเรายังเด็กมากเลย เรียนจบมาหนึ่งปีก็มีลูกแล้ว (จริงๆ ก็ไม่ได้วางแผนไว้ด้วย) ตอนนั้นอีมมีความคิดว่า “เอ๊ะ คนอื่นเค้าจะมองเรายังไง” พอเวลาผ่านไป แล้วอีมมาทบทวนตอนหลัง ก็คิดได้ว่า ไม่มีใครสนใจหรอก ว่าการที่เรามีลูกเร็ว เราจะเป็นแม่ที่ดีได้มั้ย คนอื่นไม่ได้มาใส่ใจเราขนาดนั้น
 
หลังจากนั้นอีมก็เลยมีความตั้งใจว่า ในขณะที่อีมยังไม่พร้อมมีลูกเนี้ย อีมจะตั้งใจแบบสุดขีดเลยว่าจะทำหน้าที่แม่ให้ดีที่สุด “แต่ว่ามันก็โคตรเหนื่อยเลย” ด้วยธรรมชาติของอีมที่เป็นคนลงรายละเอียดอย่างลึกซึ้งกับเรื่องที่สนใจ การเลี้ยงลูกของอีมยิ่งพยายามมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งตั้งความหวังไปที่ลูก เริ่มมีความคิดว่า จะให้เค้าเป็นแบบนั้นแบบนี้ และพอมันไม่เป็นแบบที่หวังเอาไว้ มันก็เหนื่อย

 
“การเลี้ยงลูกคนที่สอง”

พอผ่านการเลี้ยงลูกคนแรกมาแบบลองผิดลองถูก ก็เลยมามองย้อนว่าอะไรที่สิ่งที่เราทำได้ดี อะไรคือสิ่งที่ไม่น่าทำ และอะไรที่เป็นปัญหาเพราะความคิดมากของเรา แล้วก็เอามาประยุกต์ใช้กับลูกคนที่สอง ซึ่งก็ทำให้การมองภาพการเลี้ยงลูกของอีมเปลี่ยนไปมากๆ ด้วย

ลูกคนแรก อีมคิดว่าการเลี้ยงลูกมันคือ “งาน” เราหง้วนอยู่แต่กับลูกคนนี้ จนเราไม่ได้มองสิ่งแวดล้อม ไม่มองภาพรวม ไม่มองความสัมพันธ์กับสามีและคนอื่นๆ การเลี้ยงลูกของอีมก็คือการเลี้ยงลูกอย่างเดียวเลย บวกกับอีมเป็นแม่ full time ด้วย เราคิดว่าหน้าที่นี้มันเป็นหน้าที่ของเรา เราก็เลยใส่ใจมันแบบสุดๆ แต่พอลูกคนที่สอง อีมคิดว่าการเลี้ยงลูกคือ “การใช้ชีวิตแบบหนึ่ง” เรามีหน้าที่ดูแลเค้าให้เค้าโตไปตามวัยของเค้า โดยที่ไม่ต้องไปคาดหวังอะไรในชีวิตของเค้า เราแค่ทำให้มันดีที่สุดในวันนี้ก็พอ 

อีมว่าการเลี้ยงลูกไม่ใช่แค่งานเลี้ยงลูก แต่มันคือความสัมพันธ์และการใช้ชีวิตของเราด้วย มันคือความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสามี กับพ่อแม่ กับคนรอบข้าง สิ่งที่เราทำในชีวิตประจำวันแล้วลูกสัมผัสได้ว่าแม่เป็นแบบนี้





“เป้าหมายในการเลี้ยงลูก”

ถ้าเป็นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนที่อีมเลี้ยงลูกคนแรก เป้าหมายของอีมก็อาจจะเป็น อยากให้ลูกมีความสุข มีสมองดี เรียนเก่ง ยอมรับเลยว่าตอนลูกคนแรกเราคิดแบบนั้น เราอยากให้ลูกโตไปเป็นคนที่มีคุณภาพในสังคม อีมคิดว่าการตั้งเป้าหมายแบบนี้ก็ไม่ได้ผิดอะไรนะคะ ถือเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำไป

แต่ถ้าถามว่าเป้าหมายในการเลี้ยงลูกตอนนี้คืออะไร อีมตอบไม่ได้เลย เพราะว่าอีมไม่เคยวางอนาคตลูก ไม่ได้วาดฝันว่าอนาคตของเค้าจะเป็นแบบไหน เพราะอีมว่าการวาดฝันอนาคตลูกเหมือนเป็นการก้าวก่ายการใช้ชีวิตของคนๆนึงมากเกินไป พอเราเลี้ยงลูกแล้วเค้าโตขึ้นเรื่อย ๆ เราเองก็โตตามลูก มุมมองเราก็เปลี่ยน เราเลยไม่คาดหวังว่าลูกเราจะโตไปเป็นคนแบบไหน อีมอยากให้เค้าได้เป็นอิสระในการเป็นตัวเองมากๆ

อีมว่าอิสระในการเป็นตัวเองของลูกนี่แหละมั้งน่าจะเป็นเป้าหมายของเรา คือเค้าจะเป็นยังไงก็ได้เลย แค่ให้เค้าได้เป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดของเค้า


"Mind set การเลี้ยงลูกให้มีความสุข"

อีมคิดมาตลอดเลยว่า “เด็กเค้าพร้อมที่จะมีความสุขอยู่แล้ว” แต่ความสุขของลูกมันขึ้นอยู่กับความสุขของแม่อย่างปฏิเสธไม่ได้เลย อีมว่าเราน่าจะได้ยินจนเบื่อแล้วว่า “การเลี้ยงลูก แม่ต้องมีความสุขนะเว้ย ลูกถึงจะมีความสุข” ในฐานะแม่คนหนึ่ง อีมขอคอนเฟิร์มว่ามันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ค่ะ

อีมว่าการเลี้ยงลูกคือการเลี้ยงอารมณ์ เลี้ยงใจของแม่เองให้มีความสุข แล้วความสุขของแม่มันคืออะไร เพราะความสุขของแต่ละคนมันก็ต่างกัน บางคนคือการออกกำลังกาย บางคนความสุขคือการอ่านหนังสือ แต่ว่าคุณแม่บางคนรวมถึงตัวอีมเองในสมัยก่อน เราไม่กล้าที่จะทำเรื่องที่ทำให้ตัวเองมีความสุข เพราะกลัวว่าจะเป็นแม่ที่ไม่ทุ่มเทกับลูก เอาเวลาส่วนตัวไปทำเรื่องอื่น ไม่ยอมอยู่กับลูก เราเลยยอมที่จะนั่งอมทุกข์แล้วก็เลี้ยงลูกไป

พอเราสะสมแต่ความเหนื่อย โดยที่เราไม่มีความสุขสะสมอยู่ด้วย มันเลยทำให้เราควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ พอเราคุมอารมณ์ไม่ได้เราก็จะดึงด้านแม่มดของเราออกมา พอเรามีพลังงานด้านลบสะสมไปเรื่อย ๆ สมองส่วนที่จะสั่งให้เราเป็นแม่ที่คิดบวก มันทำหน้าที่ตรงนั้นไม่ได้แล้วเพราะมันเหนื่อยเกินไป พอลูกทำอะไรผิดหูผิดตาไปนิดนึง เราก็จะระเบิดอารมณ์ออกมาได้ง่ายๆ แล้วการระเบิดอารมณ์ในทุกครั้งของเรา เรารู้สึกตัวเองเลยว่าความมั่นใจในการเป็นแม่ของเรามันลดลงทุกครั้งเลย แล้วก็ลดลงไปเรื่อยๆ ด้วยนะ เวลาที่เราระเบิดอารมณ์มากๆ

พอความมั่นใจในการเป็นแม่ของเราลดลง เราก็จะรู้สึกว่าเราเป็นแม่ที่ดีพอหรือเปล่า เมื่อแม่ไม่มีความสุข ลูกก็พร้อมที่จะไม่มีความสุขไปด้วย ทั้งๆ ที่เค้าพร้อมที่จะมีความสุขมากเลยนะ

 



“พ่อแม่คือพ่อแม่ ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ”

ไม่ว่าใครก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ถึงแม้ว่าเราจะเปลี่ยนสถานะมาเป็นพ่อกับแม่แล้วก็ตาม เราไม่จำเป็นต้องทิ้งข้อดีข้อเสียที่เป็นตัวตนของเราไปก็ได้นะ เราก็เป็นเราที่มีข้อดีข้อเสียแบบนี้แหละ พ่อแม่ก็คนๆนึง ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบเลย เราไม่มีทางรู้หรอกว่าข้อดีข้อเสียของพ่อแม่จะพาลูกไปอยู่จุดไหน แต่อีมว่าการเป็นเรานี่แหละมันดีที่สุด

การเป็นพ่อแม่ที่ Perfect มันไม่สำคัญกับการเลี้ยงลูกเลย สิ่งที่สำคัญจริงๆคือ เป็นคนดีให้ลูกเห็น แล้วการเป็นคนดี มันไม่ต้องอาศัยความสมบูรณ์แบบเลย

 
“บางทีการเป็นพ่อแม่ทำให้เราใส่ใจแต่ลูก จนลืมความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาไป”

อีมว่าการไปต่อไม่ได้ของชีวิตคู่มันมีหลายปัจจัยมาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการที่แม่เอาแต่ลูกไม่ใส่ใจพ่อมันก็เป็นปัจจัยอันนึงเหมือนกัน ซึ่งอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นเลยก็ได้ ที่ทำให้ความสัมพันธ์มันไปต่อไม่ได้ อีมเองก็เคยมีประสบการณ์กับเรื่องที่ว่าสามีเริ่มรู้สึกว่าความสัมพันธ์เราไม่แนบสนิทเหมือนเดิม เราทั้งคู่ก็ได้เล่าความรู้สึกนี้ให้หมอที่ดูแลครอบครัวของเราฟัง

วันนั้นคุณหมอถามอีมว่า “ถ้ามีอาหารอยู่ชิ้นนึงระหว่างสามีกับลูก จะเลือกให้ใครกิน” คุณหมอให้ตอบเร็วๆ ตอบความคิดแรกโดยที่ไม่ต้องคิดไตร่ตรอง อีมก็ตอบไปแบบไม่คิดเลยว่า “ก็ให้ลูกไง ไม่เห็นต้องคิดมากเลย” คุณหมอก็เลยบอกว่า นี่แหละที่ทำให้ความสัมพันธ์มันไม่แนบเหมือนเดิม เป็นวันที่อีมคิดได้ว่าเราตัดสินใจที่จะให้ของชิ้นนั้นกับลูก โดยที่เราไม่รู้เลยว่าลูกจะชอบกินหรือเปล่า อาจจะเป็นของที่ลูกไม่ชอบเลย ตรงกันข้ามอาจเป็นของที่สามีชอบมากก็ได้

อีมว่าตรงนี้แหละเป็นความท้าทายของการเป็น “ชีวิตคู่ที่มีลูก” ทำไมการเลี้ยงลูกถึงเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ เพราะงานเลี้ยงลูกมันไม่ใช่แค่ที่การเลี้ยงลูก ไม่ใช่แค่การพาลูกเข้านอน ป้อนข้าว ป้อนน้ำลูก หรือการขับรถไปส่งลูกที่โรงเรียน แต่มันเป็นการบาลานซ์เรื่องความสัมพันธ์ เรื่องมวลรวมของความรู้สึกรอบตัว การเลี้ยงลูกมันละเอียดอ่อนและซับซ้อนแบบนี้แหละ มันถึงเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มากๆ

“ถ้าเรามีปัญหาด้านความสัมพันธ์ เราจับมือกันไปพบจิตแพทย์ได้นะ”

การไปพบจิตแพทย์ ที่ช่วยได้อย่างแรกเลยคือ มันช่วยให้เราเข้าใจความต้องการของตัวเอง เวลาที่เราใช้ชีวิตของเราไปแล้วมันมีปัญหาเข้ามา เรารู้สึกว่ามันมีปัญหานะ แต่เราก็ไม่เข้าใจว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน การที่เราได้ไปนั่งคุยกับใครสักคน ใครสักคนที่เค้าไม่ตัดสินว่าเราดีหรือไม่ดี ทำแบบนี้ถูกหรือไม่ถูก ใครสักคนที่เราสามารถเล่าให้ฟังได้ทุกอย่างจนหมดเปลือก เพราะเรารู้ว่าใครคนนี้เค้าจะไม่ตัดสินเรา

เราสามารถดึงด้านแม่มด ด้านชั่วร้ายของเราออกมาให้เค้าฟัง วางกองทั้งหมด แล้วคุณหมอไม่ได้แก้ปัญหาให้อีมนะคะ หมอเค้าแค่ถามแล้วให้เราเล่า พอเราได้เล่าเราก็เลยเห็นภาพของปัญหาว่ามันอยู่ตรงไหน แล้วเราจะแก้ยังไง แล้วอีมว่าเทคนิคที่เราได้เวลาที่เราไปหาหมอ อย่างเช่นการฟัง มันก็ทำให้เราเอามาปรับใช้กับลูกเราได้ด้วย

อีมว่าในชีวิตของเราต้องมีใครสักคนที่ฟังเราโดยที่เค้าไม่ตัดสิน ไม่จำเป็นต้องเป็นจิตแพทย์ก็ได้นะคะ

 

สำหรับมัมสเตอร์... ประสบการณ์อาจทำให้คนๆหนึ่งเติบโต และบ่อยครั้งที่เรารับฟังประสบการณ์จากคนอื่น ก็ทำให้เรารู้สึเติบโตขึ้นตามเค้าไปด้วย”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้