Last updated: 30 ส.ค. 2565 |
"ความเศร้า" เป็นหนึ่งใน "อารมณ์" ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย จะเกิดขึ้นเวลาที่เรารู้สึกเสียใจ ผิดหวัง การสูญเสีย ความเศร้ายังเป็นหนึ่งใน "สัญญาณ" ของการขอความช่วยเหลือ ว่าคนๆนั้นกำลังต้องการการปลอบโยน การเยียวยา การทบทวน ความเข้าใจ
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิตได้มีการเก็บข้อมูลจากเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีจำนวน 183,974 คน ผ่านแอพพลิเคชั่น Mental Health Check-in พบว่าเด็กยุคนี้มีสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ เพิ่มมากขึ้น
- ร้อยละ 28 ของเด็กและวัยรุ่นมีภาวะเครียดสูง
- ร้อยละ 32 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า
- ร้อยละ 22 มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย
สาเหตุของโรคซึมเศร้าที่พบได้บ่อย
ด้านชีวภาพ (Biological)
เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมและฮอร์โมนในร่างกาย เช่น คนในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคทางจิตเวช การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล รวมถึงโรคประจำตัวที่ส่งผลกระทบต่อฮอร์โมน เช่น ไทรอยด์ต่ำ มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนอื่น
ด้านจิตใจ (Psychological)
เกี่ยวข้องกับทัศนคติ บุคลิก และมุมมองด้านการใช้ชีวิต อย่างเช่น มนุษย์ Perfectionist เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่ได้ดั่งใจ จะรู้สึกหงุดหงิด ผิดหวัง และเครียดมากกว่าคนอื่น
ด้านสังคม (Social)
เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับสังคม เช่น การถูกกลั่นแกล้งทั้งต่อหน้าและทางโลกออนไลน์ ความไม่เข้าใจกันของคนในครอบครัว และความสำเร็จ แรงกดดันของคนในสังคม ปัจจัยเหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่ทำให้เด็กเป็นโรคซึมเศร้าได้
หน้าที่ของครอบครัวเมื่อเด็กรู้สึกเศร้า
สังคมในยุคปัจจุบันมีปัจจัยมากมายที่ส่งผลต่อความเศร้าของเด็ก และก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าต่อให้พ่อแม่ และครอบครัวจะป้องกันไม่ให้ลูกต้องเผชิญความเศร้าเพียงใด ปัจจัยภายนอกก็ยังส่งกระทบให้เด็กสามารถเศร้าได้อยู่ดี
แต่ก็ใช่ว่าพ่อแม่จะสามารถมองข้ามหรือละลายได้ เมื่อพ่อแม่สังเกตเห็นว่าลูกมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น เก็บตัว ไม่ค่อยพูด เศร้า ร้องไห้บ่อย หงุดหงิดง่าย อะไรที่เคยชอบก็ไม่ชอบแล้ว อะไรที่ทำเป็นประจำก็ไม่อยากทำแล้ว รวมถึงเริ่มพูดถึงการอยากตาย เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้แล้ว สิ่งที่พ่อแม่จะสามารถทำได้ เช่น
- พูดคุยกับลูกโดยใช้เหตุและผล ไม่ใช้อารมณ์ ให้ความเอาใจใส่ และความอบอุ่นแก่ลูก
- เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่าปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่เร่งรัด ไม่ตึงเครียด และพ่อแม่ควรตั้งใจฟังลูกอย่างลึกซึ้ง
- หมั่นพูดคุยกับลูก ถามถึงความสุข ความทุกข์ มีปัญหาหรือความเศร้าอะไรที่ลูกกำลังเผชิญอยู่หรือเปล่า
เพื่อให้ความเศร้าที่เกิดขึ้นกับเด็ก เป็นสิ่งที่มาแล้วก็จากไป ครอบครัวจะต้องเป็น “พื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็ก” ด้วยการมอบความรัก ความเข้าใจในตัวตนที่แท้จริงของเค้า สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้โดดเดี่ยว ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากเพียงใด จะยังมีครอบครัวที่เข้าใจเค้าอยู่เสมอ
พักสายตาฟังบทความแบบ Audiobook คลิกเลยค่ะ
ข้อมูลจาก
https://www.phyathai.com/article_detail/2123/en/Depression_in_children
https://thepotential.org/social-issues/mental-health/
27 ก.ย. 2567
9 ต.ค. 2567
3 ต.ค. 2567
22 ก.ย. 2567