Last updated: 30 ส.ค. 2565 |
การเป็นคุณแม่ตั้งครรภ์ในยุคนี้ “ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย” ไหนจะเรื่องสภาพเศรฐกิจ การบ้านการเมือง รวมถึงโควิด ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์มีเรื่องให้ต้องคิดมาก ไม่สบายใจ อยู่ตลอดเวลา และด้วยความที่ คุณแม่ตั้งครรภ์มีระดับฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ยิ่งทำให้สภาพจิตใจและอารมณ์ของคุณแม่แปรปรวนมากกว่าปกติ
เพื่อให้คุณแม่ตั้งครรภ์ สามารถผ่านช่วงอารมณ์แปรปรวนเหล่านี้ไปได้ ครอบครัว และคนรอบข้าง ต้องทำความเข้าใจอารมณ์ต่างๆ ของคุณแม่ตั้งครรภ์ (Pregnancy Mood) รวมถึงต้องใส่ใจ ดูแลอย่างใกล้ชิด และต้องคอยสังเกตว่า คุณแม่ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลืออยู่หรือเปล่า หากเป็นเช่นนั้น ครอบครัวต้องรีบเข้าไปช่วยเหลือคุณแม่ตั้งครรภ์ให้ทันท่วงทีนะคะ
“วิตกกังวล”
อาการแพนิค หรืออาการวิตกกังวล เป็นหนึ่งในอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อยในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ ซึ่งอาการวิตกกังวลของคุณแม่ตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากความเครียดและความวิตกกังวลในทุกเรื่องรอบตัวมากเกินไป ข้อสังเกตของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการแพนิคคือ มักจะรู้สึกเจ็บแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก เหงื่อออกตามร่างกาย ตัวสั่น หรือชา หัวใจเต้นรัวและแรง รวมถึงเวียนศีรษะ
แต่ทั้งนี้ ก็มีผลการศึกษาระบุว่า อาการวิตกกังวลไม่ส่งผลโดยตรงต่อทารกในครรภ์ แต่ถ้าหากคุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการวิตกกังวลมากเกินไป ก็อาจจะส่งผลให้เกิดการนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ นอนไม่หลับ หรือนอนหลับได้ยาก
“อารมณ์แปรปรวน อ่อนไหว”
สาเหตุหลักของอารมณ์อ่อนไหวของคุณแม่ตั้งครรภ์คือ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งฮอร์โมนนี้สามารถส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของคุณแม่ได้ จึงทำให้คุณแม่กลายเป็นคนอารมณ์แปรปรวน จิตใจอ่อนไหว ร้องไห้ง่าย น้อยใจง่าย หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย เคืองง่าย
ฉะนั้น เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์เกิดภาวะนี้ขึ้น คนรอบข้างโดยเฉพาะสามี จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจและรู้เท่าทันอาการนี้ให้ได้ไวที่สุด ไม่ใช้อารมณ์รุนแรง ไม่ประชดประชัน แต่ควรอยู่ข้างๆ ให้กำลังใจคุณแม่ แล้วผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน
“ภาวะซึมเศร้า”
การเกิดภาวะซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจาก สามีหรือคนในครอบครัวไม่ให้ความใส่ใจระหว่างที่ตั้งครรภ์ ปัญหาทางด้านการเงิน ปัญหาภายในครอบครัว ปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ รวมถึงการมีคนในครอบครัวมีประวัติภาซึมเศร้า หรือคุณแม่เองมีภาวะซึมเศร้ามาก่อนหน้านี้
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะซึมเศร้า มักจะมีความรู้สึกเศร้าตลอดเวลา รู้สึกว่างเปล่า โดดเดี่ยว ชีวิตไม่สดใส นอนไม่ค่อยหลับหรือบางคนหลับมากผิดปกติ รู้สึกเหนื่อยล้าตลอดเวลา ไม่อยากทำอะไร และถึงแม้ว่าภาวะเครียดหรือซึมเศร้า ไม่มีผลโดยตรงต่อลูกในครรภ์ แต่อาจทำให้คุณแม่เบื่ออาหาร พักผ่อนน้อย ทำให้คุณแม่ร่างกายอ่อนแอ ลูกน้อยอาจกระทบจากตรงนี้ได้ค่ะ
หากคุณแม่ตั้งครรภ์รู้สึกว่าตัวเองกำลังอยู่ในอารมณ์วิตกกังวัล อ่อนไหว แปรปรวน รวมถึงภาวะซึมเศร้า สามารถนำวิธีการต่อไปนี้ ไปลองทำเพื่อสร้างความรู้สึกให้ดีขึ้นค่ะ
♡ ลองหาใครสักคนที่คุณแม่ไว้ใจ รู้สึกสบายใจที่ได้คุยกับเค้า พูดเรื่องราวของความวิตกกังวลให้เค้าฟัง อย่างน้อยการที่เราได้พูดออกไป แล้วมีคนตั้งใจฟังด้วยหัวใจ จะสามารถช่วยให้คุณแม่รู้สึกดีขึ้นได้ค่ะ
♡ คุณแม่ตั้งครรภ์ลองพาตัวเองออกไปสูดอากาศที่บริสุทธิ์ ไปมองต้นไม้สีเขียวๆ หรือนั่งฟังเสียงคลื่นทะเล ซึ่งธรรมชาติเหล่านี้ สามารถสร้างความผ่อนคลาย และบำบัดอาการวิตกกังวลให้คุณแม่ตั้งครรภ์ได้ดีทีเดียวค่ะ
♡ หากคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สามารถเริ่มต้นจากกิจกรรมเบสิค เช่น โยคะ เดิน และการออกกำลังกายในน้ำ ซึ่งการออกกำลังกายจะช่วยให้ระบบหัวใจและปอดทำงานร่วมกันอย่างสมดุลค่ะ
♡ ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้นเลย คุณแม่ตั้งครรภ์ควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อรักษาอาการในขั้นตอนต่อไป
สำหรับครอบครัวและคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นสามี เพื่อน พ่อแม่ ควรสังเกตชีวิตประจำวันของคุณแม่ตั้งครรภ์ ทั้งการนอนหลับพันผ่อน การรับประทานอาหาร รวมถึงอารมณ์ต่างๆ ว่ามีอะไรไม่ปกติหรือเปล่า หากสังเกตว่าผิดแปลกไปจากเดิม ครอบครัวควรมีการสอบถาม พูดคุยให้กำลังใจ ไม่ปล่อยให้คุณแม่ตั้งครรภ์รู้สึกโดดเดี่ยวหรือรู้สึกว่ากำลังผ่านมันไปเพียงลำพัง
พักสายตา ฟังบทความแบบ Audiobook คลิกเลยค่ะ
9 ต.ค. 2567
13 ต.ค. 2567
27 ก.ย. 2567
3 ต.ค. 2567