คุณแม่โย จากเพจ “Mom Me Life บันทึกมนุษย์แม่” คุณแม่ธรรมดาที่แสนพิเศษ

Last updated: 30 ก.ย. 2565  | 

 
เป็นเรื่องจริงที่ว่า มุมมองที่มีต่อสิ่งต่างๆ ของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันออกไปตามสิ่งที่คนนั้นเคยได้พบเจอ เช่นเดียวกับคุณโย Influencer เจ้าของเพจ Mom Me Life บันทึกมนุษย์แม่ ที่บอกเล่าเรื่องราวการเลี้ยงลูกในแบบฉบับของตัวเอง ซึ่งแบบฉบับการเลี้ยงลูกที่ว่าของคุณโยอาจค่อนข้างจะแตกต่างออกไปจากคนอื่น ตาม Intro ที่คุณโยระบุไว้บนเพจว่า “ตามติดชีวิตคุณแม่มือใหม่ มือเดียว”
 
“คอนเทนต์นี้เราเลยอยากให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกับคุณแม่คนพิเศษที่ทำทุกอย่างด้วยมือข้างเดียว คนนี้ค่ะ”

 
“จริงๆ แล้ว โยเกิดมาเป็นเด็กปกติค่ะ ร่าเริงแจ่มใส ร่างกายแข็งแรง อวัยวะครบ 32 ทุกประการ แต่พออายุได้ 4 ขวบ วันนั้นคุณแม่ไปส่งที่โรงเรียน ซึ่งโรงเรียนกับที่บ้านของเราอยู่ใกล้กัน คุณแม่ก็เลยเอามอเตอร์ไซค์ไปส่ง และพอถึงหน้าโรงเรียน (คือเลี้ยวซ้ายก็ถึงโรงเรียนแล้ว) ก็โดนรถเฉี่ยว ทำให้เส้นประสาทแขนข้างขวาขาดทุกเส้นเลยค่ะ หลังจากนั้นมา ทำให้โยใช้แขนข้างขวาไม่ได้อีกเลย”
 

“ครอบครัวและกำลังใจ”

ตอนนั้นเราไม่เข้าใจว่าอะไรยากและง่ายเลย เพราะว่าเราคือเด็ก เราคิดแค่เรื่องเล่นสนุก และพอ flashback กลับไป โยรู้สึกแค่ว่าชีวิตโยไม่เคยมีอะไรยากเลย โยเล่นเท่าที่ร่างกายเรามี ถึงเวลาเราก็เข้ากรุงเทพฯ มาผ่าตัดที่ศิริราช แต่ช่วงวัยเด็กมันก็จะมีเพื่อนที่แบบบูลลี่ อีพิการ อีแขนด้วน อะไรอย่างนี้ ก็คือโดนนะ แต่ถามว่ามันก็คือวัยเด็ก พอโตมาเพื่อนก็เข้าใจว่าเราเป็นแบบนี้

โยอาจจะโชคดีที่มีครอบครัวที่แข็งแรง อะไรที่ลูกทำไม่ได้ เขาก็ให้ไปทำ แล้วทุกคนก็จะพูดแค่ว่า “ไม่มีใครทำอะไรเป็นตั้งแต่เกิด” ไปฝึก ไปทำ ทำไม่ได้ก็ไปทำจนกว่าจะทำได้ แล้วเพื่อนที่อยู่รอบข้างเราก็จะคอย support ทั้งเพื่อนผู้หญิงเพื่อนผู้ชาย เขาก็จะแบบ “เห้ยโย มึงทำแบบนี้ไม่ได้ มึงต้องทำแบบนี้นะ” คือเขาพยายามคิดแทนเรา มีช่วงนึงโยไม่กล้าใส่เสื้อแขนสั้นเลย จะไปไหนหรืออากาศร้อนแค่ไหน โยจะมีเสื้อกันหนาว มีแจ็คเก็ต มีคาร์ดิแกนตลอดเวลา หรือเสื้อยืดก็ต้องเป็นเสื้อยืดแขนยาว จนเพื่อนพูดว่า “มึง กูร้อนแทน ใส่แขนสั้นเถอะ อย่าไปซีเรียส” คือทุกคนเขาจะคอยเป็นกำลังใจให้เราตลอด แล้วก็จะพูดว่า “มึง ขนาดมึงแขนเดียว มึงยังเก่งกว่ากูเลย มึงว่ายน้ำได้นะ กูว่ายไม่เป็น” คือเราก็จะได้กำลังใจจากคนรอบข้าง จากเพื่อน จากครอบครัวตลอด

“สำหรับโย ระหว่างทางมันก็ไม่ได้สวยหรูนะ แต่ว่าเราอาจจะเป็นคนที่ attitude บวก เราก็เลยแบบไม่ได้ซีเรียสเรื่องคุณจะมาพูดอะไรกับเราแบบนั้น แล้วเราเป็นคนที่แบบนิสัยคือ “มึงเห็นว่ากูทำไม่ได้ใช่ไหม ได้ เดี๋ยวกูทำให้ดู” อะไรแบบนี้ค่ะ อยากเอาชนะ”
 

“ให้เวลา”

ตอนแรกพ่อโยก็รับไม่ได้ พ่อโยทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อให้ลูกกลับมาใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ โยผ่าตัดที่ศิริราชหมดหลายล้านมาก ตลอดเวลาที่รักษาพ่อให้เงินไปรักษาอย่างเดียว แต่ไม่เคยไปเยี่ยม ไม่เคยไปดูโยรักษาเลย เพราะว่าเขาทำใจไม่ได้ เขากลัวจะเห็นโยร้องไห้ เขากลัวจะเห็นโยเจ็บ จนสุดท้ายหมอบอกว่ารักษาให้กลับมาปกติไม่ได้นะ รักษาได้ดีที่สุดแค่นี้ “จากที่แขนไม่รู้สึก มันก็รู้สึกขึ้น จากยกไม่ได้เลย มันก็ยกขึ้นได้” แล้วหมอแนะนำให้ไปรักษาที่อเมริกา เพราะช่วงนั้นมันกำลังมี innovation ที่ฝังไมโครชิปที่หัวไหล่ แล้วก็เปิดแขนเอาสายไฟวางตั้งแต่ต้นหัวไหล่จนถึงปลายนิ้วทั้ง 5 นิ้วของเรา แล้วมันก็จะวางโปรแกรม โยจะไปมั้ย?

ตอนนั้นโยอยู่ประมาณ ม.4 แล้ว โยบอกพ่อไม่ไปแล้ว โยเหนื่อย โยผ่าตัดมาทั้งหมด 7-8 ครั้ง โยรู้สึกว่าโยพอแล้ว อีกอย่างตอนนั้นโยขับรถได้ โยว่ายน้ำได้ ทำทุกอย่างได้หมดเลย โยไม่ซีเรียสแล้ว โยยอมรับในความพิการได้ ก็เลยบอกพ่อว่าไม่ไป โยมองว่าความไม่สมบูรณ์ของชีวิตมันคือความสมบูรณ์ บางคนเขามีครบ 32 แต่ก็มีปัญหามากกว่าโย โยก็เลยรู้สึกเฉยๆ ไปเลย แต่กว่าจะผ่านมาถึงทุกวันนี้ก็ร้องไห้นะ แต่ไม่ได้ร้องไห้แบบว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่ แต่มันเหมือนแค่บางอย่างทำไมมันดูยากจัง เขินจัง แค่นั้นเอง


 
 
“ความรักและการแต่งงาน”

ส่วนหนึ่งที่โยตัดสินใจแต่งงานกับผู้ชายคนนี้คือเขาไม่อายทำมาหากิน ตัวโยเป็นลูกแม่ค้า เรามีเลือดนักขายอยู่ตลอดเวลา อย่างสมัยเรียนเราก็ไปเปิดท้ายขายของอะไรอย่างนี้ พอเราอยู่กับแฟนคนนี้ เรารู้สึกว่าเขาโอเคมากๆ เราทำอะไรเขาก็อยากทำด้วย มันทำให้เรารู้สึกว่า attitude ในการใช้ชีวิตมันตรงกัน คิดอะไรไปในแนวทางเดียวกัน (เป็นส่วนมาก) ก็เลยคิดว่าคนนี้แหละ อีกอย่างคนนี้เราก็ไปจีบเขามา เขาเป็นรุ่นน้องที่คณะ เขาหล่อ เพราะปกติคนอื่นมาจีบเรา


“มีลูก”

ตอนแรกคิดว่าแต่งงานแล้วเราขอเที่ยวสักปีสองปีเราค่อยมีลูก ไม่ได้คิดว่าแต่งแล้วจะต้องมีลูกเลย ตอนนั้นเราก็อยู่ในช่วงสร้างชีวิต เพราะว่าเราไม่ได้รับการ offer หมายถึงว่าเราสู้กันมาเอง สร้างกันมาเอง ไม่ได้แบบเอาเงินพ่อแม่มา เราเลยรู้สึกว่า เอ้ย ตอนนี้เราสร้างตัวได้ละ เราหาเงินมาได้ก็ขอเที่ยวก่อนแล้ว ทีนี้คนรอบข้างเขาชอบพูดว่า “กว่าจะมีลูกมันไม่ได้ง่ายนะแก นี่ฉัน 5 เดือน 8 เดือน 2 ปี 3 ปี” เราก็คิดว่าจริงเหรอ? มีลูกมันยากเหรอ? สรุปหลังจากแต่งงานไม่ถึงเดือน เราก็โบ๊ะบ๊ะกันครั้งแรก แล้วก็มีลูกเลย แต่ถามว่าพร้อมมั้ย เราพร้อมนะ แค่ว่าลูกมาก่อนเวลาที่เราเตรียมไว้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าผิดแผน


“ซึมเศร้าหลังคลอด”

เพราะว่าเรื่องแขนเดียวนี่แหละ เรื่องที่เราใช้งานได้ข้างเดียว คือตอนแรกเราก็จินตนาการเอาไว้ว่า การเลี้ยงลูกมันไม่น่าจะยาก เราน่าจะเลี้ยงเองได้ เราไม่ต้องจ้างพี่เลี้ยงหรอก พอมาถึงจริง ๆ แล้วมันเหมือนหนังคนละม้วน คือลูกก็ยังไม่รู้ว่าอะไรคือกลางวัน-กลางคืน ลูกก็จะตื่น ๆ หลับ ๆ แต่สุดท้ายแล้วคือโยอุ้มลูกไม่ได้ ด้วยความที่เรามือเดียว พอเวลาที่เราเอาลูกเข้าเต้า ลูกก็อยู่บนหมอนให้นม พอลูกหลับเราก็ยกลงได้ แต่ช่วงที่สามีออกไปข้างนอก ไปซื้อกับข้าว ลูกจะตื่น พอตื่นแล้วเราอุ้มไม่ได้ แล้วเราอยู่ในบ้านคนเดียว มันเหมือนระเบิดเวลา เหมือนเวลามีอะไรอยู่ตรงหน้าเราแล้วเราทำอะไรไม่ได้ มันรู้สึกเครียดแบบนั้นเลย มันทำอะไรไม่ได้ มันอุ้มไม่ได้ เพราะว่าปกติถ้าเด็กร้องคือก็อยากให้เราอุ้ม เป็นแบบนี้อยู่สามครั้งจนครั้งที่ 4 เราบอกว่า ไม่ไหวแล้ว เราก็จ้างพี่เลี้ยงเถอะ แล้วเราก็นอยด์ว่า เราอุ้มลูกไม่ได้ แล้วลูกจะรู้ไหมว่าเราเป็นแม่ มันเหมือนคนแบบคิดวนไปวนมา มันออกจากกรอบตรงนี้ไม่ได้

แต่โยอาจจะยังไม่ได้เป็นหนักขนาดนั้น Mama blue หมายถึงว่าไม่ต้องถึงขั้นที่ไปหาหมอ คือโยโชคดีที่ว่าเพื่อนรอบข้างเป็นหมอ แล้วเขามีลูกมาก่อนเรา เขาก็บอกว่าลูกมันรู้อยู่แล้วว่าเราเป็นแม่ แต่ด้วยความที่มันเป็นเพื่อนเนอะ มันก็เชื่อไม่สุด เราก็เลยได้ e-mail ไปหาหมอประเสริฐว่า คุณหมอคะ… (พูดแล้วจะร้องไห้อีกแล้ว) โยใช้แขนได้ข้างเดียวค่ะ คือลูกจะรู้ไหมว่าเราแบบเป็นแม่อะไรอย่างนี้ เพราะเราอุ้มเขาไม่ได้เลย หมอตอบกลับมาแค่ “ลูกไม่ได้ต้องการมาก ลูกต้องการแค่แม่” แค่ประโยคนี้มันเหมือนอยู่ดี ๆ มันก็ปลดล็อค และพอลูกร้อง เราก็มาอยู่ข้าง ๆ ลูก ก็พูดเลย “หนูจะเอาอะไรลูก..เป็นอะไรคะ” คือเสียงต้องมาก่อน ถึงพี่เลี้ยงจะอุ้มแต่เราก็ยืนจับมืออยู่ข้าง ๆ พอผ่านช่วงนั้นมาได้ก็รู้สึกเก่งเหมือนกัน


 

“Mom Me Life บันทึกมนุษย์แม่”

โยแค่อยากเก็บความทรงจำที่ผ่านมาว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง วันนี้เป็นอะไร คืออยากให้ลูกได้ดูว่าแต่ละวันที่เราเลี้ยงเขามา เรารู้สึกยังไง เขาโตมาเป็นยังไง ยิ่งช่วงที่พัฒนาการเขาจาก 1 เดือนเป็น 2 เดือน ความแตกต่างมันเห็นชัดแบบ จาก 3 เดือนเป็น 5 เดือนมันต่างกันยังไง จาก 5 เดือน ไปเป็น 8 เดือน มันต่างมาก มันไม่เหมือนตอนที่ลูกเดินหรือพูดได้แล้ว มันก็จะเห็นไปในอีก step นึงเนอะ พูดง่าย ๆ คืออยากเก็บไว้ให้เขาดูตอนโต ว่าเราเลี้ยงเขามาเป็นยังไง สนุกไหม เขาได้ใช้ชีวิตมาเป็นยังไง ประมาณนี้
 
“คุณแม่มือเดียว”

"ไม่ว่าจะเป็นแม่แบบไหน มีมือเดียวหรือสองมือ สิ่งที่โยคิดว่าควรจะมีในการเลี้ยงลูกคือสติ" เพราะว่าถ้าเราไม่มีสติทุกอย่างจะพัง การเลี้ยงลูกต้องใช้สัญชาติญาณล้วนๆ เลี้ยงกันวันต่อวัน เป็นอะไรก็แก้ตามนั้น ถ้าไม่สบายก็หาหมอ โยเคยเขียนลงเพจว่าการเลี้ยงลูกไม่มีอะไรมาก หนึ่งความสะอาด สองปลอดภัย สามตามสัญชาติญาณความเป็นแม่ สี่ไม่เลี้ยงแบบงมงาย แล้วก็ไม่แพนิคจนเกินไป ในมุมมองของโยความยากง่ายของการเลี้ยงลูก มันน่าจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละครอบครัว ขอแค่เรามีสติ ส่วนที่คิดว่ายากสำหรับโยมันคือการปรับตัวในช่วงแรกที่อยู่ดีๆ ลูกก็ร้อง บางทีก็ตื่นเที่ยงคืน นอนอีกทีก็ตี 5 และบางทีกลางวันก็ไม่ยอมนอน



“ถ้าคุณโยคือแบบอย่างของคุณแม่อีกหลายคน แล้วแบบอย่างของการเป็นแม่ของคุณโยคือใคร”

ก็อาจจะเป็นแม่ของโย คือบ้านเราเลี้ยงกันมาแบบแข็ง ๆ ไม่ได้นุ่มนวลสักเท่าไหร่ แต่พอโยประสบอุบัติเหตุ แม่ก็เปลี่ยนไปเลย มีวันนึงเขาพูดกับเพื่อนเขา ว่าการที่เราต้องมาเป็นแบบนี้มันเป็นเหมือนตราบาปในชีวิตเขา เพราะวันที่รถล้มเขาไม่เป็นอะไรเลย มีหัวเข่าและแขนถลอกนิดหน่อย ส่วนคุณพ่อเขาก็พูดว่าเขาสงสารเรา ที่ชีวิตเราน่าจะได้รับในสิ่งที่เราควรจะได้รับ พอเราประสบอุบัติเหตุสิ่งที่เราน่าจะทำได้มันก็อาจจะทำไม่ได้ สิ่งที่เราน่าจะได้เรียน เราก็อาจจะไม่ได้เรียน

ที่ผ่านมาแม่จะเป็นคนที่คอยผลักดันเราตลอด “อย่างอันนี้ทำไม่ได้ใช่ไหม ไปฝึก ไปทำให้ได้นะ เพราะมันไม่มีใครทำได้ตั้งแต่เกิด ไป ไปทำ” แล้วถ้าเรายังทำไม่ได้เขาก็จะบอกว่า “ทำไม่ได้วันนี้ เดี๋ยววันหน้าก็ทำได้ ค่อย ๆ ทำไป” จะไม่ใช่ว่า “ไม่เป็นไรลูก เดี๋ยวแม่ทำให้” แม่ไม่เคยเป็นแบบนี้เลย เหมือนเขาเลี้ยงให้เราเข้มแข็ง ให้เราแกร่ง

โยรู้สึกว่าโยขอบคุณเขานะ ถ้าวันนั้นเขาเลี้ยงเรามาแบบสปอย วันนี้เราคงไม่มั่นใจในตัวเองแบบนี้ ดูแลตัวเองไม่ได้แบบนี้ และก็คงข้ามผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาไม่ได้
 

“คุณโยเอาส่วนไหนของคุณแม่ มาปรับใช้ในการเลี้ยงลูกของคุณโยบ้างคะ”

เอามาปรับในทุกเรื่องเลยค่ะ อย่างเวลาแสนดีล้มหรือทำอะไรผิดพลาด เราจะบอกว่า “ไม่เป็นไรลูก ค่อย ๆ ทำ ใจเย็น ๆ” ให้เขารู้สึกว่าเรื่องแค่นี้มันเป็นเรื่องธรรมดา เราก็แค่สอนเขาในความเป็นจริงว่า “ล้ม หนูอาจจะไม่ได้ระวังนะ ต่อไปหนูเดินระวังลูก เนี่ย มาม๊ายืนอยู่ข้าง ๆ มาม๊าดูอยู่ ไม่เป็นไรลุกขึ้น ปัดขา แล้วก็เดินต่อ” เราแค่รู้สึกว่าอยากให้ลูกเข้มแข็ง เผื่อถ้าวันนึงเราไม่อยู่เขาจะได้อยู่ได้ แค่นั้นเอง โยก็พยายามเอาสิ่งที่แม่เลี้ยงเรามา ค่อยๆ ให้เขาซึมซับในการเรียนรู้ ในการใช้ชีวิต ค่อยๆ เรียนรู้อะไรไปอย่างนี้ค่ะ

 

“รูปแบบการเลี้ยงลูกของคุณโย”

โยเลี้ยงลุย ๆ เลย อยากทำอะไรให้ทำ อยากเล่นอะไรให้เล่น แต่แค่ระวังเรื่องของมีคม ระวังเรื่องอุบัติเหตุ ระวังเรื่องสกปรก นอกนั้นก็คือลุย ก็คือในกระเป๋าที่เป็นกระเป๋าของแสนดีก็จะมีเสื้อผ้าให้เปลี่ยนตลอด ก็จะมีทิชชู่ แอลกอฮอล์ มีเสื้อผ้าเปลี่ยน เพราะเราไม่อยากจำกัดเขา อันนี้อย่า อันนั้นอย่า เพราะตอนที่พ่อแม่เลี้ยงเรามาก็คือเราได้เล่นเต็มที่เลย ถ้าเลอะก็ล้าง สกปรกก็เปลี่ยน โยเลยเลี้ยงลูกแบบง่าย ๆ สบาย ๆ และก็คอยเสริมเรื่องการเอาตัวรอดในสังคมและการดูแลช่วยเหลือตัวเอง อย่างล่าสุดโยซื้อเครื่องซักผ้าสำหรับเด็กที่ใส่ความจุได้ 3-4 กิโลให้เขา แล้วก็สอนเขาว่า “แสนดี อันนี้เครื่องซักผ้าของแสนดีนะลูก แสนดีซักผ้าเองนะคะ”

แล้วเราก็สอนเขาว่าครอบครัวคือการดูแลซึ่งกันและกัน “อย่างลูกอยากกินนม มาม๊าก็เอามาให้ แล้วถ้ามาม๊าหิวน้ำ แสนดีเอาน้ำให้มาม๊าหน่อยได้ไหม” มีอยู่ครั้งนึงเราพาเขาไปเคลือบฟลูออไรด์ เราก็ลงจากรถ แสนดีก็พูดขึ้นมาว่า “โยโย่” เราก็ “อะไรคะ???” “ลงดี ๆ นะ ระวังรถ” เราเลยคิดว่าบางอย่างที่เราเคยพูดกับเขา เขาอาจจะจำแล้วก็อาจจะพูดตามเรา ทำตามเรา

"สำหรับโย แสนดีจะเป็นอะไรก็ได้ แต่ขอแค่อยู่บนโลกใบนี้ได้แบบมีความสุข"
 

“ลูกคือกำลังใจสำคัญ”

มีครั้งหนึ่งช่วงแสนดีเล็กกว่านี้ เขาก็คงยังไม่เข้าใจว่ามือเราใช้ได้ข้างเดียว แต่เขาคงเห็นแหละว่าเราใช้งานแขนข้างเดียว เขาคงไม่รู้ว่าแขนอีกข้างเป็นอะไร จนมีวันหนึ่งเขาเดินมาจะจับมือเราเพื่อที่จะเดินไปด้วยกัน เขาจับมือเราเสร็จปุ๊บ เหมือนมันคงไม่มี reaction ไปจับมือเขาต่อ เขาก็เลยดูว่ามันคืออะไร พอเขาเห็นมือเราเขาก็เลยปล่อย ก็เลยเดินมาจับมือซ้ายแทน ทีนี้พอแสนดีประมาณซัก 2 ขวบ เริ่มพูดตอบโต้เหมือนผู้ใหญ่ คุยกันรู้เรื่อง เราก็เลยถามเขาว่า “แสนดี แสนดีรู้ไหมว่าแขนโยโย่เป็นอะไร ทำไมใช้แขนได้ข้างเดียว” เขาบอกว่า “รู้ โยโย่โดนรถชน” แล้วถามว่า “แล้วโยโย่เจ็บไหมอะลูก” “โยโย่เจ็บ” แล้วถ้าทุกวันนี้เราบอกเขาว่าเราไม่สบาย เขาจะเดินไปหยิบยามาให้เรากิน “โยโย่ปวดแขนเหรอ” วันนึงเราถามเขาว่า “แล้วถ้ามีคนมาพูดกับแสนดีว่า แม่แสนดีใช้งานแขนได้ข้างเดียวอะ แสนดีจะทำยังไง” “แสนดีตีเลย” แสนดีบอกว่า “แสนดีตีเลย” โยแค่รู้สึกว่าบางครั้ง การที่เขามีแม่แบบนี้มันทำให้เค้าไม่เคอะเขิน หรือไม่ได้รู้สึกแปลก ในการเข้าหาคนที่ร่างกายไม่สมบูรณ์คนอื่นๆ

โยเคยมีประสบการณ์ไป backpack กับเพื่อน ตอนนั้นเราไปนอน hostel แล้วเรานอนเตียงข้างบนกัน โยก็ต้องแบกกระเป๋าขึ้นไปเอง ซึ่งเพื่อนก็ไม่ได้เอ่ยปากถามว่าให้ช่วยไหม ซึ่งเราก็ไม่ได้ซีเรียสว่าเพื่อนจะช่วยไหมเพราะเราสามารถทำได้ เราไม่ได้คิดอะไร จนเรากลับมาจากทริปนั้นเพื่อนพูดกับเราว่า ตอนนั้นไม่กล้าเอ่ยปากถามเลย ไม่กล้าเอ่ยถามว่าให้ช่วยไหม เพราะเขาก็ทำตัวไม่ถูก ว่าเราจะรู้สึกยังไง จะอายไหมจะเขินไหมถ้าเขาถาม

โยก็เลยมองว่า เอาจริง ๆ แล้วไม่ว่าเราจะพิการหรือไม่พิการ การเอ่ยปากถามหรือช่วยเหลือใครสักคน ไม่ใช่เรื่องน่าอาย โยว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนต้องการความช่วยเหลือ แม้กระทั่งถ้าสมมติโยไม่ได้เป็นคนพิการ แต่เราต้องแบกของขึ้นบันไดลิงไปนอนชั้น 2 โยว่าใครก็ต้องการความช่วยเหลือ ถามออกไปเถอะ ส่วนเขาจะตอบรับหรือไม่มันก็คืออีกเรื่องหนึ่ง

แต่เอาจริง ๆ แล้วโยก็รู้สึกโอเคที่เพื่อนก็ได้เห็นว่าบางครั้งคนพิการก็ไม่ใช่คนที่น่าสงสาร เราก็ทำอะไรได้ในมุมมองเรา แต่แค่อาจจะดูแปลกตาในมุมของคนทั่วไป โยมองว่าตรงนี้มันทำให้แสนดีได้เรียนรู้ว่า บางทีคนเรามันไม่ได้สมบูรณ์แบบ ถ้าเขาได้เห็นคนพิการข้างนอก เขาก็จะมีทัศนคติดีกับคนพิการ

อีกอย่างหนึ่งของการมาทำเพจคือ โยอยากเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงว่า บางทีคนพิการเขาไม่ได้น่าสงสารนะ เขาก็มีชีวิตที่มีความสุข สนุก มีครอบครัวที่น่ารักบ้าง ตลกบ้าง ดูอย่างคุณชัชชาติที่มีลูกหูหนวกตั้งแต่เกิด ถ้าคุณไม่มีลูกพิการ ไม่มีแม่พิการ ไม่มีใครในครอบครัวที่พิการ คนเหล่านี้เขาไม่รู้หรอกนะว่าคนพิการต้องรับมือยังไง ต้องเลี้ยงดูยังไงที่มันต้องพิเศษกว่าคนทั่วไป โยบอกเลย คุณชัชชาติคือ The Best


“มุมมองเกี่ยวกับชีวิต”

สำหรับโย คำว่าไม่สมบูรณ์มันคือชีวิต วันนี้ดูเหมือนว่าโยจะขาด โยก็ถามตัวเอง…โยจะขาดเหรอ คือถ้ามองว่ามันขาดคือมันขาดแหละ เพราะใช้งานแขนได้ข้างเดียวเนอะ แต่ถามว่าโยว่ายน้ำได้ โยขับรถได้ โยเลี้ยงลูกได้ โยทำอะไรหลาย ๆ อย่างที่ทุกคนปกติเขาทำได้ แล้วชีวิตโยก็มีความสุข โยเลยไม่คิดว่าชีวิตโยขาดอะไรแล้ว มันก็คือความสมบูรณ์ในอีกรูปแบบหนึ่งที่มันไม่ได้เป็นบรรทัดฐานของสังคมแค่นั้นเอง
 

“Positive Mindset”

มันอาจจะมีลบ แต่คำว่าลบของโยคือมันไม่ได้ลบแบบอยากตาย ไม่อยากอยู่ แต่แค่มันยากตอนเริ่มในสถานที่ใหม่ๆ อย่างตอนเรียนไม่อยากโดนออกไปยืนหน้าแถว ไม่เอาฉันไม่อยากโดนลงโทษ เพราะถ้าโดนลงโทษแล้วเขาจะเห็นว่าฉันมีแขนน้อย เราจะคิดว่า กูจะเอา กูจะ survival ยังไงในสังคมตอนนี้ได้ คือโยจะไม่อยากทำตัวเด่น แต่ก็ชอบเจอสถานการณ์ที่ทำให้เราต้องเด่น เช่น รุ่นพี่จะส่งชื่อน้องโยเข้าไปประกวด freshy โยก็จะบอกว่า “พี่..หนูประกวดไม่ได้” “ทำไม หนูเป็นอะไรลูก” “พี่ หนูมีมือเดียว” “อะไรหนูมีมือเดียวหนูเป็นอะไร” ก็โทรไปเล่าให้พ่อฟังพ่อก็บอกว่า “ก็บอกมันไปว่าเรามีมือเดียวถ้าอยากได้ความพิเศษก็มาเอากู” อะไรอย่างนี้คือพ่อก็เป็นแบบนี้ คือทุกคนเลี้ยงเรามาแบบ positive ไม่ได้เลี้ยงมาแบบ “อย่าลูก มันน่าอาย” ไม่มีเลย


“บทบาทของสามี”

สามีเขาจะเป็นคนที่คอย support ทุกอย่างที่เราอยากทำ เขาไม่เคยห้ามเลยว่าเราอยากทำอะไร สมัยที่เราอยากลองเป็น beauty blogger ก็ทำสิ ก็ซื้อเครื่องสำอาง ทำมือเดียว แต่งมือเดียว ซื้อกล้องให้ อยากทำอะไรทำ เสร็จแล้วเดี๋ยวไปเป็น blogger ท่องเที่ยวดีกว่า เราก็ไป backpack อยู่เดือนนึง เขาก็ไม่ไป เขาอยู่บ้าน เราก็ไป backpack ของเรา เขาไม่เคยว่าเราเลยจนเรากลับบ้านมาแล้วเขาบอกว่า “ไม่ต้องไปหรอก อยู่บ้านด้วยกันได้ไหม นั่งอยู่ข้าง ๆ กันนี่แหละ” คือเขาไม่ได้พูดว่าเขาเป็นห่วงนะ แต่จะแบบว่า “อยู่บ้านดูหนังเป็นเพื่อนหน่อย ไม่มีเพื่อนดูหนัง” เขาไม่ใช่คนโรแมนติก ไม่ใช่คนหวาน ไม่ใช่คนแบบ “ฉันรักเธอนะ” ไม่มีเลย

 
 

“บันทึกของแม่ที่ชื่อว่าโย ตอนนี้เดินทางมาถึงตอนไหนแล้ว”

ถ้าจะพูดมันเหมือนเพิ่งจุดเริ่มต้นเองค่ะ แล้วมันก็ไม่รู้จะไปสิ้นสุดตอนไหนเลย มันคงสิ้นสุดตอนที่โยตาย มันคงจะสิ้นสุดอยู่แค่วันนั้น แต่แค่โยรู้สึกว่าการเป็นแม่มันมีอะไรให้เราได้เรียนรู้มาตลอดทุกเส้นทาง ตั้งแต่วันแรกที่ลูกเกิดจนถึงตอนนี้ แล้วโยก็มองว่ากว่าลูกจะโตไป มันควรจะต้องเรียนรู้ไปตลอด ๆ เพราะเวลาเปลี่ยน ทัศนคติในบางเรื่อง สิ่งที่เราเจอในชีวิตมันคงอาจจะเปลี่ยนทัศนคติเราไป แล้วยิ่งถ้าวันหนึ่งลูกเราเป็นแบบอะไรที่ amazing ชีวิตเราคงจะเปลี่ยนไปอีก ถ้าถามว่าตอนนี้มาถึงจุดไหนแล้ว ก็คงมาถึงจุดที่ชีวิตมีความสุขที่มีลูกเข้ามาเติมเต็มให้เราแบบ ปวดหัวบ้าง ปะทะกับลูกบ้าง รักกันบ้าง มันเหมือนรุ้งกินน้ำที่มีหลายสี


“การเดินทางต่อไปข้างหน้าจะเป็นอย่างไร”

ไม่วางแผนค่ะ โยรู้สึกว่าถ้าวางแผนมันคือการคาดหวัง แต่มันไม่ใช่ไม่วางแผนเลยนะ แต่หมายถึงว่า เราเลี้ยงไปทีละ step ดีกว่า เลี้ยงลูกแบบวันต่อวัน เขาเป็นแบบไหนก็ปรับตามเขา แค่นั้นเอง เพราะว่าถ้าเราวางแผนมันเหมือนกับการที่เราวาง step ไว้ แล้วถ้ามันไม่เป็นไปตามแผนล่ะ โยไม่อยากเสียใจ
 

“ฝากอะไรถึงแม่ ๆ ที่ติดตามเพจ”

โยไม่เคยคิดว่าวันนี้โยจะมาเป็น influencer ไม่เคยคิดว่าชีวิตเรามันจะน่าสนใจ แล้วก็ไม่เคยคิดว่าจะต้องมานั่งเล่าชีวิตตลกๆ ให้ใครฟัง แล้วก็ไม่เคยคิดว่าจะมีคนมาติดตามถึงหลัก 4 หมื่น ย้อนไปครั้งแรกที่ได้งาน โยได้เงินหลักร้อย แต่โยก็ตั้งใจทำเพจมาก เป็นตัวของตัวเองและรักษามาตรฐานของเราไว้ จนตอนนี้โยได้งานเรทหลักหมื่น ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะเดินทางมาถึงทุกวันนี้

ขอบคุณที่รักที่โยเป็นโย ขอบคุณที่รักแสนดี แล้วก็ขอบคุณที่เติบโตมาด้วยกัน เพราะว่าทุกวันนี้แฟนพันธ์แท้ในเพจคือลูกอายุพอ ๆ กันเลย เหนียวแน่นมาก ไปโรงเรียนพร้อมกัน ซื้อของเหมือนกัน โยเชื่อว่าแฟนพันธ์แท้ของแต่ละเพจจะเป็นคนที่ทัศนคติเหมือนกันในการใช้ชีวิต เพราะว่าไม่อย่างนั้นเขาคงไม่มาเป็นแฟนพันธ์แท้เราหรอกถูกไหม ขนาดเรามีเพื่อนถ้าคุยไม่โอเคเรายังไม่อยากคุยต่อเลย นอกจากมันจะรู้ความลับเรา เราก็ต้องคบมันต่อไป แต่การเป็นแฟนพันธ์แท้โยว่ามันใช้เวลานะ มันไม่ได้แปป ๆ ก็นั่นแหละขอบคุณลูกเพจที่น่ารัก ที่ support โยตลอด

โยดีใจที่มีคนยอมรับในความพิเศษของเรา

 
“อยากบอกอะไรกับน้องแสนดีในวันที่ได้มาอ่าน content นี้”

โยบอกลูกทุกคืนก่อนนอนเลยว่า “แสนดี I love you”
โยโย่ดีใจที่มีแสนดีเป็นลูกนะ ขอบคุณที่ทำให้โยโย่มีความสุข


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้