“แบ่งเวลา” เพื่อจัดสมดุลความสุขของครอบครัว

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

ในยุคที่ค่าครองชีพสูง งานประจำเพียงแค่อย่างเดียวคงจะไม่พอหาเลี้ยงครอบครัว สิ่งที่คุณได้กลับมาหลังจากทำงานอย่างบ้าคลั่งอาจเป็น “เงิน” แต่สิ่งที่คุณเสียไปคือความสุขของคนในครอบครัว

นอกจากการสร้างฐานะครอบครัวให้มั่นคงเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับมีเจ้าตัวน้อยแล้ว  แน่นอนว่าต่อให้ตกลงปลงใจจะใช้ “ชีวิตคู่ร่วมกัน” รวมเป็นหนึ่งอันเดียวกัน แต่ทุกคนก็ล้วน อยากมีพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง ได้สร้างความสุขเล็กให้กับตัวเองในรูปแบบของตัวเอง อาจจะเป็นอยู่มุมเงียบๆ อ่านหนังสือจากนักเขียนที่ชื่นชอบ ใส่หูฟัง ฟังเพลงจากวงโปรด ดูหนังแนวดราม่าโรแมนติกที่สามีไม่ถนัด ไม่อินกับเราด้วย รวมไปถึงสามีเองก็อาจจะอยากใช้เวลานิดหน่อยหลังมื้อเที่ยงเล่นเกมส์ออนไลน์กับเพื่อน…


"สำรวจดูว่าคุณมีเรื่องใดที่ต้องใช้เวลาไปเพื่อการส่วนตัว และเวลาใดเพื่อครอบครัวบ้าง คุณอาจคิดไปว่าการทำงานหามรุ่งหามค่ำ จนไม่มีเวลาให้กับครอบครัว นั่นก็เพื่อความสุขของครอบครัว แบบนี้ถือว่าเป็นการเล็งเป้าที่ไกลเกินไป จนตกหล่นรายละเอียดบางอย่างที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน การให้ความสำคัญกับงานมากกว่าครอบครัว อาจทำให้เป้าหมายเดิมของคุณเปลี่ยนไปก็ได้… ถ้าในความเป็นจริงคุณออกจากบ้านแต่เช้า กลับถึงบ้านอีกทีค่ำ พร้อมกับหอบงานกลับมาทำต่อ ส่วนวันหยุดก็ออกไปอีก สิ่งที่คุณได้กลับมาอาจเป็น “เงิน” แต่สิ่งที่เสียไปคือความสมดุลของครอบครัว"


ลองตั้งคำถามให้กับคนในครอบครัวว่า จริงๆ แล้วพวกเขาต้องการอะไร ระหว่างเงินทอง สิ่งของ หรือการได้อยู่ร่วมกันพร้อมหน้าในครอบครัว ?


 

เวลาไม่ตรงกัน แต่ใจต้องสื่อถึงกัน

ปัญหานี้ควรเป็นเหตุผลของคู่รักที่ไม่ได้ใช้ Time Zone เดียวกัน เวลาบ้านฉันต่างจากบ้านเธอ 8 ชั่วโมง กว่าเธอจะว่างฉันก็หลับไปแล้ว… แต่ในเมื่อเวลามันไม่ตรงกันจริงๆถึงแม้จะใช้ Time Zone เดียวกัน การสร้างความสุขเล็กๆ อย่างเขียนโน้ต ทำกับข้าว หรือแม้แต่แกล้งกันเล็กๆน้อยๆ ส่ิงเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่จะแสดงให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่า ชีวิตของเราไม่ได้มีแค่งาน เรายังนึกถึงเขาอยู่เสมอ นอกจากนั้นหามีเวลาว่างระหว่างวันก็หมั่น Video Call หากัน เทคโนโลยีสมัยนี้ไปไกลแล้ว อยากจะเห็นหน้าเมื่อไรก็ได้ “คอลมาเถอะ”

 

งานก็ส่วนงาน ครอบครัวก็ส่วนครอบครัว ต้องแบ่งเวลาให้ชัดเจน…
ปฎิเสธไม่ได้ว่า “งาน” มีส่วนเรื่องปัญหาของชีวิตคู่ ด้วยความอยากสร้างฐานะที่ดีให้กับครอบครัว อยากเติบโตพร้อมชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี บางคู่ถึงกับต้องหางาน “ฟรีแลนซ์” เพิ่ม แต่หารู้ไม่ว่า นั่นคือเส้นทางที่จะพาไปสู่ปัญหาครอบครัวในอนาคต ทำไมถึงเป็นปัญหา…เพราะบางทีเราก็มัวแต่ทำงาน ทำงาน ทำงาน ทำงานแล้วก็เหนื่อย เวลาที่เหลือน้อยก็อยากจะนอนหลับพักผ่อน หลายครั้งที่กลับบ้านดึกอีกฝ่ายก็นอนหลับไปแล้ว เว้นเสียแต่ว่างานฟรีแลนซ์นั้นจะเป็นงานที่สามารถทำร่วมกันได้ เมื่อมีเวลาให้กันน้อย อีกฝ่ายก็อาจจะเกิดอาการ “เหงา” อย่างที่เราเคยได้ยินกันมาว่า เหงาเพราะไม่มีใคร ยังน้อยกว่ามีใครแล้วยังรู้สึกเหงา… พอเริ่มเหงา (น่าจะพอนึกภาพต่อไปออกนะคะ) จะมีอาการใจบาง อยากมีเพื่อนคุย อ่อนไหว จนเผลอรู้สึกดีกับคนอื่น กว่าจะรู้ หรือกว่าจะถอนตัวได้ก็อาจจะสร้างปัญหาที่บานปลาย เพราะฉะนั้นควรแบ่งให้่กับงานแค่ส่วนหนึ่ง งานควรไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตคู่ เมื่อถึงเวลาครอบครัว ก็ควรให้เวลาครอบครัวอย่างเต็มที่ เท่านี้ปัญหาก็อาจจะไม่เกิด หรือถ้าเกิดก็อาจจะน้อยมาก

 

หาเวลามา “แชร์” ความรู้สึก
ปัญหาที่เกิดจากเรื่องงาน เรื่องเพื่อน หรือแม้แต่ปัญหาที่เกิดร่วมกัน ทั้งคู่ควรกล้าที่จะเล่าสู่กันฟัง ไม่ใช่ว่าเอาปัญหาทั้งหมดเก็บไว้คนเดียวจนบั่นทอนอยู่ข้างใน หรืือเอาปัญหาทั้งหมดไปลงโซเชียลเพื่อหวังว่าจะมีคนมาให้กำลัง โดยลืมไปว่าคนที่พร้อมจะให้กำลังใจและคอยเคียงข้างเสมอคือ “คู่ชีวิต” ของเรา สามีเรา หรือภรรยาเรานี่แหละ เพราะฉะนั้นแล้วเมื่อเกิดปัญหาใดๆก็แล้วแต่ ต้องหาเวลามานั่งคุยกัน เพื่อปรับทุกข์และหาทางออกร่วมกัน

 

วางแผน “ใช้เวลาร่วมกัน”  
เดี๋ยวนี้เหล่า KOL สายกิน ดื่ม เที่ยว หลากหลาย lifestyle ต่างๆ ก็พากันแชร์แหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร งานดนตรี หรือที่ฮิตสุดอย่างคาเฟ่ใหม่ๆ ลองใช้เวลาในวันหยุด ตามเช็คอินตามสถานที่ต่างๆ ที่ได้ปักหมุดกันไว้ ถ้าหากมีเวลาทั้งหมดก็ลองขับรถไปพักผ่อน หากิจกรรมทำตามต่างจังหวัดใกล้ๆ ที่ใช้เวลาขับรถไม่ถึง 2 ชั่วโมง และถ้ามีเวลา 2 วัน ก็ลองจองที่พักสำหรับค้างคืน เปลี่ยนที่นอน เปลี่ยนบรรยากาศ เปลี่ยนมุมพระอาทิตย์ขึ้นกันดูบ้าง หรือจะเอาแบบพักผ่อนกันยาวๆ ลองหาวันหยุดร่วมกันสัก 4-5 วัน จองทริปไปพักผ่อนต่างประเทศ หรือติดเกาะทางใต้ของประเทศไทยเองก็ไม่เลว ได้พักผ่อน ได้ถ่ายรูปเก๋ๆ สร้างความสุขด้วยเงินที่ใช้เวลาเกืือบส่วนหนึ่งของชีวิตหามันมาดู….

 
ข้างบนนี้อาจเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการจัดการเวลา ไม่ให้เป็นต้นเหตุของปัญหาชีวิตคู่ในอนาคต แต่เหนือสิ่งอื่นใด ทัศนคติที่มีร่วมกันก็สำคัญไม่น้อย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้