เอาชีวิตรอดหลัง "ตกงาน"

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

 

สิ่งที่คนส่วนใหญ่มักทำหลังตกงาน คือพยายามรีบหางานใหม่ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานก็ยังหางานใหม่ไม่ได้สักที เวลานี้นี่แหละที่จะทำให้ความเครียดเริ่มถามหา ตกงานแล้วรีบหางานใหม่เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่ถ้าคุณหมกมุ่นทุ่มเทอยู่กับเรื่องการหางานใหม่ แล้วบังเอิญโชคร้ายยังไม่ได้งานสักที โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจตกสะเก็ดอย่างนี้จะยิ่งเป็นการสร้างความกดดันให้กับตัวเองเปล่าๆ ความจริงแล้วหลังตกงานยังมีอีกหลายเรื่องหลายกิจกรรมที่ควรทำไม่แพ้เรื่องหางานใหม่ ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่คุณต้องคิด ต้องทำหลังตกงาน

1. เดินเรื่องใช้สิทธิประกันสังคม เพื่อให้มีเงินทุนในการหางานใหม่
เมื่อว่างงาน สองสิ่งที่คุณต้องดำเนินการเกี่ยวกับประกันสังคม คือ เรื่องเงินช่วยเหลือกรณีว่างงาน และการเลือกว่าจะรักษาสิทธิความคุ้มครองจากสำนักงานประกันสังคมต่อไปหรือไม่
-  เงินช่วยเหลือกรณีว่างงาน  จะจ่ายให้กับลูกจ้างที่มีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนว่างงาน โดยหากอยู่ในสถานะผู้ถูกเลิกจ้างจะได้รับประโยชน์ทดแทนในอัตรา 50% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 180 วัน สำหรับผู้ลาออกจากงาน ได้รับในอัตรา 30% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ตามเงื่อนไขในการส่งเงินสมทบแต่ละกรณี ในการจ่ายชดเชยทั้งสองกรณีจะจำกัดเพดานจ่ายไม่เกินอัตราจ้าง 15,000 บาท นั่นหมายความว่าต่อให้เงินเดือนสูงแค่ไหน เขาก็จะคิดให้เป็นเปอร์เซ็นต์จากยอด 15,000 บาทเท่านั้น โดยผู้ใช้สิทธิจะต้องไปขึ้นทะเบียนหางานที่สำนักจัดหางานของรัฐ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ว่างงาน
-  การรักษาสิทธิความคุ้มครอง  ลูกจ้างที่ออกจากงาน จะยังคงได้รับความคุ้มครองจากสำนักงานประกันสังคมต่อไปอีก 6 เดือน นับจากวันที่ลาออกจากงาน โดยจะได้รับความคุ้มครองต่อ 4 กรณี คือ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ และเสียชีวิตตามเงื่อนไข ในการส่งเงินสมทบแต่ละกรณี และถ้าผู้ประกันตนประสงค์ที่จะอยู่ในระบบประกันสังคมต่อ ก็สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้ตามเงื่อนไข คือเคยนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และจะต้องสมัครภายใน 6 เดือน นับจากวันที่ลาออกจากงาน และจะต้องจ่ายเงินสมทบในอัตราเดือนละ 432 บาท ได้รับความคุ้มครองทั้งหมด 6 กรณี คือ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร และชราภาพ 

2.  ตรวจสุขภาพทางการเงิน เพื่อให้รู้สถานะที่เป็นอยู่
หลังตกงานรายรับรายจ่ายของคุณจะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วรายรับหดหาย ส่วนรายจ่ายแทบอยู่ครบ กระนั้นคุณยังควรสำรวจดูว่ารายจ่ายที่มีอยู่ในตอนนี้มีอะไรบ้าง รายรับยังมีที่อื่นอีกหรือไม่ และตอนนี้มีทรัพย์สินอะไรบ้างที่สามารถแปลงมาเป็นเงินได้ เมื่อบวกลบคูณหารออกมาแล้วรายรับที่มีจะสามารถรองรับรายจ่ายให้คุณมีชีวิตเสรีไม่เป็นหนี้ใครอยู่ต่อไปได้อีกนานแค่ไหน 

3. ปรับพฤติกรรมการใช้เงินเสียใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์
ไม่ว่ารายรับ หรือทรัพย์สินที่มีอยู่จะเพียงพอ หรือรองรับภาระค่าใช้จ่ายได้นานแค่ไหนก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ อย่างไรเสียคุณก็ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ รายจ่ายอันไหนลดได้ก็ให้ลด ทำบัญชีรับจ่ายเอาไว้จะได้เกาะติดสถานการณ์ทางการเงินของตัวเองตลอดเวลา

4. จัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ เงินสะสม (ที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุน) เงินสมทบ(ที่นายจ้างจ่ายให้) ผลประโยชน์เงินสะสม และผลประโยชน์เงินสมทบ (สิ่งที่งอกเงยจากการลงทุน)เงินที่เป็นสิทธิของคุณในฐานะสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแน่นอนคือ เงินสะสมและผลประโยชน์เงินสะสม ส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์เงินสมทบ จะได้รับก็ต่อเมื่อคุณปฏิบัติตามเงื่อนไขของกองทุน เช่น มีอายุงานถึงเกณฑ์ที่กำหนด 

เมื่อออกจากงานคุณมีสองทางเลือก คือ ทางเลือกแรกคงเงินไว้ในกองทุนต่อไป จนกว่าจะได้งานใหม่ แล้วย้ายไปสะสมต่อที่กองทุนของที่ทำงานใหม่ ในทางเลือกนี้จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 650 บาท แต่คุณจะได้ออมอย่างต่อเนื่องเพื่อเก็บไว้ใช้ในยามเกษียณ หรือยามจำเป็นจริงๆ ซึ่งถ้าหากคิดว่าถึงเวลานั้นแล้ว อีกทางเลือกหนึ่งคุณสามารถเอาเงินออกจากกองทุนเพื่อนำมาใช้จ่ายได้ แต่จะมีค่าภาษีเพราะถือเป็นเงินได้ โดยเงินที่ต้องนำมาคำนวณภาษีจะมีเงินสมทบ ผลประโยชน์ของเงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสะสม กรณีที่ทำงานมานานกว่า 5 ปี จะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี โดยนำมาหักลดหย่อนขั้นแรก 7,000 บาท คูณจำนวนปีตามอายุงาน  ทั้งนี้จำนวนวันทำงานตั้งแต่ 183 วันขึ้นไป จะนับเป็น 1 ปี แต่ถ้าน้อยกว่านั้นจะถูกตัดทิ้งไป จากนั้นสามารถนำยอดที่เหลือมาหักลดหย่อนขั้นที่ 2 ได้อีก 50% เหลือเท่าไหร่จึงนำเงินก้อนนี้ไปเสียภาษี โดยให้ยื่นแยกจากการยื่นแบบ ภงด.91 

5. เก็บเงินก้อนไว้รักษาสภาพคล่อง
เงินก้อนที่ได้หลังตกงาน หรือเงินก้อนไหนๆ อย่าเพิ่งเอาไปใช้โปะหนี้ คนส่วนใหญ่มักคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดคือการรีบจ่ายหนี้เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่าย ซึ่งหากเป็นภาวะปกติวิธีคิดเช่นนี้ย่อมถูกต้องแน่นอน แต่ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้ คุณต้องรักษาเงินก้อนไว้กับตัวมากที่สุด แล้วค่อยๆ ทยอยจ่ายให้น้อยที่สุดเท่าที่จะรักษาสภาพคล่อง และเครดิตทางการเงินของตัวเองไว้ให้ได้นานที่สุด ตราบเมื่อหางานใหม่ได้แล้วเงินก้อนมีเหลือเท่าไหร่ค่อยเอาไปโปะหนี้ให้หมด

6. หางานใหม่ให้ได้เร็วที่สุด
ช่องทางการสมัครงานมีหลากหลาย แถมในยุคสมัยนี้คุณไม่ต้องเสียเงินทองเป็นค่ารถค่าอาหารเพื่อเดินทางไปไล่กรอกใบสมัครด้วยตัวเอง เพียงแค่นั่งหน้าเครื่องคอมฯ อยู่กับบ้านก็สามารถร่อนใบสมัครได้หลายแห่งหลายที่ผ่านเว็บไซต์ของบริษัทต่างๆ โดยตรง หรือผ่านเว็บไซต์ของบริษัทจัดหางานก็ได้ หรือจะไปเดินช้อปตำแหน่งงานช่วงที่มีการจัดบูธของบริษัทจัดหางานตามศูนย์ประชุม หรือตามห้างก็ยังได้ สิ่งที่ควรทำก็แค่หมั่นติดตามข้อมูลข่าวสารอยู่เสมอ เจองานที่ใช่ก็ส่งใบสมัครไปได้เลย

7. ใช้เวลานี้พัฒนาตัวเอง
ในช่วงเวลาที่ตกงาน คือช่วงเวลาทองที่หาไม่ได้ หากคุณยังทำงานประจำอยู่ ในระหว่างหางานใหม่ที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ปล่อยเวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ก็ควรมีการพัฒนาตนเอง โดยเฉพาะทักษะด้านการสื่อสารในภาษาต่างประเทศ ฟัง พูด อ่าน เขียน และการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำงานทุกอย่างไปแล้วนอกจากนั้น ก็เป็นการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านวิชาชีพตามความจำเป็นในสายงานที่ทำอยู่ 

8. ผันตัวเป็นฟรีแลนซ์
หากยังหางานประจำทำไม่ได้ ก็ลองสำรวจตัวเองดูว่าพอมีทักษะความสามารถใดที่ใช้มาเป็นเครื่องมือสร้างรายได้ได้บ้าง ลองทุกๆ วิถีทาง หาประจำหายาก งานพาร์ทไทม์ หรืองานฟรีแลนซ์น่าจะหาได้ง่ายกว่า ได้เงินน้อยหน่อยก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย แถมยังช่วยให้คุณไม่รู้สึกว่าวันเวลาผ่านไปโดยไร้ค่าอีกต่างหาก บางทีคุณอาจได้ค้นพบพรสวรรค์ของตัวเอง และนำออกมาใช้สร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับตัวเองก็เป็นได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้