ลูกเลียนแบบพฤติกรรมการโกหกจากพ่อแม่

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

เมื่อจับได้ว่าลูกตัวน้อยกำลังโกหก

คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่จะรู้สึกตกใจ และสงสัยว่าเจ้าตัวน้อยไปหัดจากใครมา ?

ลองคิดดูดี ๆ ซิค่ะ ...
ไม่ใช่จากใครที่ไหนหรอกค่ะ.. ก็จากตัวคุณพ่อคุณแม่ และผู้ใหญ่รอบตัวเขานั่นเอง


ยิ่งงงหนักเข้าไปอีกล่ะซิที่นี้ .. แหม! ก็คุณสู้อุตสาห์ใส่ใจเลี้ยงดูซะขนาดนั้น ไหงยังมาตุว่า คุณเป็นต้นเหตุทำให้เจ้าหนูกลายเป็น “จอมโกหก” อีกได้ เอาเถอะค่ะ ก่อนจะไปคลี่คลายความฉงนนี้ เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า การโกหกของเจ้าหนูเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการทางด้านอารมณ์ และสติปัญญา ของเขาเชียวนะ นั่นเพราะเด็กต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างเรื่อง หรือคิดไตร่ตรองในการผูกเรื่องเพื่อไม่ให้ตัวเองถูกจับได้ไงล่ะ

ผลงานวิจัยจำนวนมากพบว่า เด็กส่วนใหญ่เริ่มเรียนรู้กลวิธีการโกหกเป็นครั้งแรกในช่วงอายุ 2-4 ขวบ เด็กเรียนรู้การโกหกมาจากผู้ใหญ่รอบตัวของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ให้การดูแลใกล้ชิดเขา บุคคลเหล่านี้ มักจะทำให้เด็กรู้สึกว่าบางครั้ง ความซื่อสัตย์ ก็ไม่เป็นที่ปรารถนาเสมอไป เช่น เมื่อเขาโพล่งออกมาต่อหน้าคุณย่าว่า “หนูเกลียดคุณย่า” คุณแม่อาจรีบดุ พร้อมกับปรามว่า “พูดกับคุณย่าอย่างนั้นได้ยังไง รีบขอโทษเดี๋ยวนี้นะ” เจ้าหนูจะรู้สึกสับสนว่า ทำไมเขาถึงไม่สามารถพูดในสิ่งที่ตัวเองรู้สึกจริงๆ ได้ด้วย

แม้คุณจะอธิบายในภายหลังถึงความไม่เหมาะสมของการพูดความจริงเช่นนั้น ต่อหน้าคุณย่าของเขา แต่เจ้าหนูก็ยังเด็กเกินกว่าจะเข้าใจความหมายของ “โกหกบริสุทธิ์ – white lie” ได้ ในขณะเดียวกัน เขาจะเรียนรู้ว่า บางครั้งผู้ใหญ่ก็ต้องการ “คำโกหก” เช่นกัน

เจ้าหนูจะคอยสังเกตพฤติกรรมการโกหกของผู้ใหญ่ตลอดเวลา และเรียนรู้เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างผลประโยชน์ให้กับตัวเอง เช่น เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกทำโทษ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ตัวเองไม่ต้องการ หรือแม้กระทั่งเพื่อสร้างกำลังใจให้กับตัวเอง

เมื่อเจ้าหนูโตขึ้น... การโกหกในบางครั้งมีความหมายถึงการแสดงอำนาจ หรือการปกป้องสิทธิ หรือความเป็นส่วนตัวของตัวเอง เมื่อเจ้าหนูโกหก นั่นหมายถึงเขากำลังพยายามเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยการจินตนาการสร้างภาพในสิ่งที่ตัวเองต้องการอยากจะให้เป็น

พัฒนาการของการโกหก
การโกหกของเด็กจะมีพัฒนาการก้าวหน้า ตามความรู้ความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละช่วงวัยของเจ้าหนูเอง

วัย 3 ขวบ ยังมีคำโกหกที่ใสๆ อยู่ คุณจึงสามารถจับโกหกของเขาได้ไม่ยากนัก ความคิดของเจ้าหนูยังไม่ซับซ้อนพอที่จะคำนึงถึงความสมจริง หรือข้อเท็จจริงที่จะพูด บางครั้ง เขาไม่ได้ตั้งใจโกหกคุณ เพียงแต่เขาต้องการพูดในสิ่งที่ตัวเองอยากจะให้เป็นเท่านั้น โดยไม่สนใจว่าคุณพ่อคุณแม่จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม !!แต่เมื่อเขาโตขึ้น!!

วัย 4 ขวบ เขาเริ่มรู้ถึงความแตกต่างระหว่างความจริง กับคำโกหก และรู้ว่าการโกหกเป็นสิ่งที่ไม่ดี ดังนั้น เด็กวัย 4 ขวบ จะพูดโกหก เพื่อเป้าหมายในสิ่งที่ต้องการ ทั้งๆ ที่รู้ว่าตัวเองกำลังทำผิด เจ้าหนูมีความชำนาญในการพูดโกหกมากขึ้น รู้จักใช้ประโยชน์จากความเชื่อของผู้ฟัง เป็นเครื่องมือในการหลอกล่อให้เชื่อในสิ่งที่เขาโกหก

วัย 5 ขวบ ความเข้าใจเกี่ยวกับคำโกหกของเจ้าหนูมีมากขึ้น เขารู้ว่าคำโกหกจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อผู้อื่น และรู้ว่าคุณจะคิดพิจารณาในสิ่งที่เขาพูด จากข้อเท็จจริงที่มีอยู่ และพฤติกรรมของเขา ถึงอย่างนั้น เขาก็ยังดูไม่ออกหรอกว่าคุณเชื่อเขามากน้อยแค่ไหน

วัย 6 - 8 ขวบ เริ่มที่จะพูดเบี่ยงเบนไปจากความต้องการที่แท้จริง เพื่อปกปิดความรู้สึกของตัวเอง เช่น โกหกแม่ว่า ..กลัวน้องจะทำของเล่นเสีย จึงไม่ยอมให้น้องเล่นของเล่น ทั้งที่ความจริงแล้ว ตัวเองหวงของเล่น และไม่อยากให้น้องเล่นของเล่นของตัวเองต่างหาก

นอกจากนี้ จินตนาการของเด็ก มักแอบแฝงความปรารถนาที่อยู่ก้นบึ้งในหัวใจน้อยๆ ของเขา เสียแต่ว่า คุณแม่ส่วนใหญ่จะฟังๆ ไปอย่างนั้น หรือดีขึ้นมาหน่อย สำหรับบางท่านก็เพียงแค่ตั้งใจฟัง และพูดคุยตอบโต้กับเขา โดยไม่ได้สังเกตสักนิดว่า ในเรื่องราวจากเสียงเจื้อยแจ้วของลูกตัวน้อย มีนัยบางอย่างที่เจ้าหนูพยายามส่งสัญญาณให้คุณแม่ได้รับรู้  ซึ่งถ้าหากคุณแม่ช่างสังเกตสักนิด และมีโอกาสได้ล่วงรู้ และถอดรหัสความนัยนั้นออกมาได้ ก็จะได้รู้ว่าลูกน้อยของคุณคิด และรู้สึกอย่างไร และนั่น อาจหมายถึงพัฒนาการทางทัศนคติที่นำไปสู่ความเป็นตัวตนของเขาในอนาคตก็ได้

" ความรู้ ความเข้าใจในสิ่งที่ลูกเป็น ไม่เพียงช่วยให้คุณส่งเสริมพัฒนาการลูกได้อย่างถูกต้องเหมาะสมเท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกันไม่ให้เด็กหาทางออกด้วยการโกหกอีกด้วย "

ทำยังไงดีน้า.. เมื่อเจ้าหนูโกหก
1. อันดับแรกเลยคุณต้องตั้งสติให้ได้เสียก่อน ทำใจให้เย็นๆ อย่าเพิ่งไปคาดคั้นเอาความจริงจากเขาในทันที เมื่อคุณมีสติ ..ก็จะมีเวลาฉุกคิดได้ว่า ทำไมลูกน้อยถึงต้องโกหก .. เขาต้องการอะไรที่แท้จริง

2. หันไปให้ความสนใจกับพฤติกรรมที่เขาต้องการปกปิด จนเป็นสาเหตุให้เขาต้องโกหก บอกให้เขารู้ว่าพฤติกรรมเช่นนั้นไม่ดีอย่างไร (โดยไม่ต้องสนใจคาดคั้นให้เขายอมรับความผิดนั้น)

3. ให้เขาเป็นผู้รับผิดชอบต่อการกระทำที่เขาปกปิดไว้ ถือเป็นโอกาสสอนให้เขารู้จักพัฒนาความคิดเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาไปในตัว พร้อมๆ กับสอนให้รู้ว่า เมื่อทำผิด .. ยอมรับผิด.. แก้ไขความผิด.. จะได้รับการยอมรับจากผู้อื่น มากกว่าการโกหก

4. จำเอาไว้ว่า การคาดคั้นเอาความจริง และการลงโทษเมื่อลูกน้อยได้สารภาพว่าเขาได้ทำอะไรผิดไป จะยิ่งผลักดันให้เด็กกลับไปฝึกปรือวิชาการโกหกให้แก่กล้ามากขึ้น

5. ท้ายที่สุด พฤติกรรมของพ่อแม่ เป็นรูปแบบการสอนที่คุณไม่ต้องเหนื่อยแรงเลย คุณไม่จำเป็นต้องกังวลกับเรื่อง white lie เลยสักนิด ขอเพียงแค่ให้คำนึงถึงความถูกต้อง และผลลัพธ์ที่สร้างสรรค์ ในทุกครั้งที่จำเป็นต้องพูดในสิ่งที่ไม่ตรงกับความจริง เท่านี้ เจ้าหนูก็จะค่อยๆ เรียนรู้ความซับซ้อนของการสื่อความหมายด้วยคำพูดแล้วล่ะค่ะ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้