การเลี้ยงลูกแบบสำลักความรัก (Overindulgence)

Last updated: 26 เม.ย 2566  | 

การที่พ่อแม่เลี้ยงลูกแบบให้ความรักเกินพอดี กางปีกปกป้องลูกในทุกเรื่องราวจนเกินไป ในทางจิตวิทยาเรียก Overindulgence หรือ Overprotection หรือภาวะที่เรียกว่า สำลักความรัก เพราะพ่อแม่ปรนเปรอลูกมากเกินไปจนกลายเป็นรังแกลูกโดยไม่รู้ตัว เข้าข่ายพ่อแม่รังแกฉัน

 

โดยการเลี้ยงดูลูกแบบนี้ จะทำให้เด็กกลายเป็นคนที่เข้ากับคนอื่นยาก ทำอะไรเองไม่เป็น เอาแต่ใจตนเอง ไม่สนใจใคร เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง และกลายเป็นเด็กไม่น่ารักสำหรับใคร ๆ เมื่อเป็นผู้ใหญ่จะมีแต่คนระอาไม่อยากคบหา ถึงวันนั้นเราจะเสียใจเพราะสายเกินไปที่จะแก้ไขได้ ทางที่ดีพ่อแม่ควรเลี้ยงลูกทางสายกลางทั้งรักและหวังดี ถูกผิดว่าไปตามเนื้อผ้า สั่งสอนและลงโทษตามความเหมาะสม

 

 

9 รูปแบบของการเลี้ยงลูกแบบสำลักความรัก
โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น


1. ปกป้องลูกมากเกินไป… ส่งผลให้เด็กขาดความมั่นใจ ตัดสินใจไม่เป็น ขาดภาวะผู้นำ หรือกร่าง

2. บริโภคนิยม อยากได้อะไรก็พร้อมให้ทุกอย่าง… เกิดในครอบครัวฟุ้งเฟ้อ

3. เลี้ยงแบบอวดรวย… ขาดความผูกพันกันระหว่างในครอบครัว

4. เลี้ยงแบบประคบประหงม… เกิดในครอบครัวย้ำคิดย้ำทำ ต้องรักษาพ่อแม่ที่วิตกกังวลกับลูกมากเกินไป

5. เลี้ยงแบบเร่งรัดบังคับ… เด็กขาดความคิดสร้างสรรค์

6. เลี้ยงแบบรักมากเกินไป ตามใจทุกอย่าง… เด็กมีความเคยตัว อยู่ในสังคมจะลำบาก

7. ใกล้ชิดมากเกินไป… ขาดพื้นที่ส่วนตัว

8. ครอบครัวหวาดระแวง ไม่อยากให้ลูกออกสู่สังคมภายนอก… ทำให้เด็กขาดความมั่นใจ

9. ให้อิสรเสรีมากเกินไป… เด็กไม่รู้ถูกผิดอยู่ร่วมกับสังคมไม่ได้ บางคนกลายเป็นขโมยทั้งที่มีฐานะดี

 

  5 เทคนิคการเลี้ยงลูกให้เหมาะสมแบบฉบับพ่อแม่ยุคใหม่


1. มอบความรักอบอุ่นและความปลอดภัย โดยเป็นรักที่ร่วมทุกข์ร่วมสุข ไม่ใช่รักเพียงแต่หวังความสุขอย่างเดียว ซึ่งมีพ่อแม่อีกมากที่เลี้ยงลูกแบบสำลักความรัก


2. พ่อแม่ควรเป็นผู้ฟังที่ดี รวมถึงสร้างการสนทนาที่ดีภายในบ้าน อาจจะใช้วิธีเหลาความคิด ด้วยคำถามต่อลูกว่าเห็นแล้วรู้สึกอย่างไร คิดอะไร หากประสบเรื่องนี้คิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เพื่อเป็นการฝึกการแก้ปัญหาและฝึกการใช้สติในการจัดการกับปัญหา


3. พ่อแม่ต้องเป็นต้นแบบในการควบคุมอารมณ์ เพราะถ้าอยากให้ลูกสามารถควบคุมอารมณ์และไม่ใช้ความรุนแรงพ่อแม่จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกก่อน


4. กำหนดกฎเกณฑ์กติกาในบ้าน เพราะบ้านก็จำเป็นต้องมีกติกาไม่ต่างจากสังคมภายนอก ซึ่งการมีกติกาในครอบครัวนั้นจะช่วยฝึกให้เด็กรู้จักการปรับตัวเข้ากับคนอื่นในสังที่หลากหลาย และยังเป็นการฝึกให้รับฟังความคิดเห็นของคนอื่นด้วย โดยการกำหนดกฎเกณฑ์กติกาที่ดี ควรเปิดโอกาสให้สมาชิกในครอบครัวได้ออกแบบกติการ่วมกัน


5. ยอมรับความสามารถที่หลากหลายของลูก อย่าเลี้ยงลูกโดยเอาไปเปรียบเทียบกับบ้านอื่น หรือเปรียบเทียบกับการถูกเลี้ยงดูมาของตัวเอง เพราะเด็กแต่ละคนมีลักษณะนิสัยและธรรมชาติที่แตกต่างกัน



การสร้างนิสัยที่ดีให้กับลูกยังมีเทคนิคอีกมากมาย การที่ลูกเป็นคนที่ดีย่อมจะเป็นที่รักกับคนในสังคม ควรสร้างนิสัยที่ดีให้ติดตัวลูกไปตลอดชีวิต โดยจะต้องเริ่มปลูกฝังสิ่งที่ดีให้แก่ลูกตั้งแต่ยังเล็กเพื่อจะติดตัวลูกไปในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้