เมื่อเด็กไม่ใช่ผ้าขาว เราจะเลี้ยงดูเขาอย่างไร

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

เมื่อก่อนเราคงได้ยินคำว่า “เด็กคือผ้าขาว”  ที่ผู้ใหญ่จะเติมแต่งเพื่อให้ผ้าขาวนั้นเกิดสีสันที่งดงาม ซึ่งบางครั้งก็เป็นสีสันตามแต่ใจของผู้ลงสี ซึ่งหมายถึงพ่อแม่ที่เลี้ยงดูลูกนั่นเอง  แต่ในมุมมองของ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว  มหาวิทยาลัยมหิดล และอนุกรรมการขับเคลื่อนงานจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)  คุณหมอผู้เชียวชาญในการทำงานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนมายาวนาน กลับเห็นว่า  “เด็กไม่ใช่ผ้าขาว” นั่นเพราะเด็กทุกคนไม่ได้เกิดมาเหมือนกันหมด 

แต่แต่ละคนมีความชอบ และความถนัดที่ทำให้รูปแบบการเรียนรู้แตกต่างกัน ดังนั้นการเลี้ยงดูจึงต้องแตกต่างกันไปด้วย ซึ่งหากพ่อแม่มีความเข้าใจในเรื่องความต่าง จะเลี้ยงลูกแบบเลิกเปรียบเทียบ เมื่อไม่เปรียบเทียบ เด็กก็จะไม่บาดเจ็บ ไม่เกิดบาดแผลในใจ และเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสมบูรณ์พร้อมทั้งร่างกาย และจิตใจที่แข็งแรง ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการเปลี่ยนทัศนคติของคนเป็นพ่อแม่ เมื่อทัศนคติเปลี่ยน วิธีการเลี้ยงก็จะเปลี่ยน และส่งผลถึงเด็กโดยตรง

“เด็กทุกคนที่เกิดมาเป็นผ้าสีพื้นที่ไม่เหมือนกัน บางคนเป็นสีเหลือง บางคนเป็นสีฟ้า กระบวนการเลี้ยงของพ่อแม่ตลอดเส้นทางจะไปใส่ลวดลายบนผืนผ้านั้น การเลี้ยงดูเด็กเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ในทางการแพทย์เรียกว่า goodness of fit คือศิลปะในการเลี้ยงลูก ซึ่งสามารถพัฒนาเด็กคนหนึ่งที่อาจจะเคยเป็นเด็กเลี้ยงยาก แต่พอเขามีพื้นที่ จากที่เขาเคยบ้าพลังแล้วใช้พลังไปในทางที่แย่ ก็ถูกเปลี่ยนไปในทางที่ดี กระบวนการ goodness of fit คือการไม่เปรียบเทียบลูก คือการให้การสนับสนุน อย่างเด็กบางคนที่ไม่เคยคิดจะปูเตียงเลย แต่วันนี้ลุกขึ้นมาปูเตียง พ่อแม่ก็ใส่คำชื่นชมเข้าไป แล้วท้าทายเขาต่อ เพื่อให้เขากลายเป็นคนที่มีศักยภาพสูงขึ้น เพราะฉะนั้นมันต้องมีประเด็นท้าทาย ไม่ใช่ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น ผู้ปกครองต้องชมและท้าทายไปด้วย เช่นบอกว่า ลูกแม่จะเก่งมากเลยถ้าปูเตียงได้ดีกว่านี้ พอเด็กบ้ายอเขาก็จะลุกขึ้นมาทำต่อ นี่คือการสร้างแรงบันดาลใจนั่นเอง”

นอกจากนี้คุณหมอยังกล่าวอีกว่า  หัวใจของการเลี้ยงลูก  คือการใช้ใจ จิตวิญญาณ ความรัก และความเข้าใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีวันหมดอายุ 

“มันมีอยู่ตั้งแต่ในท้องแม่ การที่แม่ส่งสัญญาณบวกไปให้ลูก เป็นการกระตุ้นทางสภาวะแวดล้อม ทารกในครรภ์มารดาที่ได้รับกระแสบวกอยู่ตลอดเวลาจะได้รับความอบอุ่น และเกิดการไว้วางใจ เมื่อคลอดออกมา และยังคงได้รับการเลี้ยงดูแบบไว้วางใจ เมื่อโตขึ้นไปเขาก็จะมีคุณลักษณะอย่างหนึ่ง คือมองโลกในแง่ดี การมองโลกในแง่ดีมันดีตรงที่เขาพร้อมที่จะรับฟังคนอื่น การเลี้ยงดูเช่นนี้เท่ากับได้ปลูกฝังอุปนิสัยพื้นฐานที่ดีให้กับลูกแล้วนั่นเอง” 

เลี้ยงลูกแบบ Growth Mindset 
เมื่อพ่อแม่ตระหนักแล้วว่า  ลูกไม่ใช่ผ้าขาว แต่เป็นผ้าที่มีสีเฉพาะตัวของเขาเอง ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีสีสันที่แตกต่างกันออกไป  การเลี้ยงดูของพ่อแม่ เปรียบได้กับการแต่งแต้มสีสัน ซึ่งสิ่งสำคัญคือ  การปลูกฝังนิสัย และแนวความคิดที่เหมาะสมเพื่อเป็นพื้นฐานที่ดีติดตัวลูกต่อไป หรือที่ในแวดวงวิชาการเรียกกันว่า  “Growth Mindset” 

คุณหมอ อธิบายความหมาย ของ Growth Mindset ไว้ว่าคือ  ค่านิยมที่ทันยุคทันสมัยพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงได้ มีวิธีคิด มีวิธีการจัดการตัวเอง ซึ่งการจะทำให้คนคนหนึ่งเปลี่ยนแปลงตัวเองจากที่เคยมีอุปนิสัยอย่างหนึ่งที่ถูกส่งต่อมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ให้เปลี่ยนไปในมิติอื่นได้ มันต้องอาศัยการพัฒนา รวมถึงไม่ยึดติดรูปแบบใด ๆ ตายตัว  เชื่ออะไรก็เชื่ออยู่อย่างนั้น แม้จะเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง  ที่สำคัญต้องสอนให้ลูกพร้อมที่จะต่อสู้ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะบางอย่าง เพื่อจะจัดการปัญหาของตนเองได้ จัดการกับการอยู่ร่วมกันในสังคมได้  

พ่อแม่ต้องเลี้ยงอย่างไร ลูกถึงจะมี Growth Mindset
เด็กคนหนึ่งจะเติบโตมาอย่างเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ แน่นอนนอกจากการเลี้ยงดูทางด้านกายภาพ  อาหาร โภชนาการที่เหมาะสมเพื่อการเจริญเติบโตต่อไป  การเลี้ยงดู  การปลูกฝังนิสัย ความเชื่อ ทั้งหลายทั้งมวลล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างให้ลูกเกิดการพัฒนากระบวนการคิดตามช่วงวัย  รวมถึงการปลูกฝังนิสัยขั้นพื้นฐานให้แก่ลูก  การเลี้ยงดู  การพัฒนาเด็กคนหนึ่งต้องพัฒนาทั้งหัวจิตหัวใจทั้งหมด ทุกอย่างถึงจะกลมกลืนกัน เพราะฉะนั้นการใช้ใจในการเลี้ยงลูก กระบวนการต่าง ๆ เหล่านั้น จะสร้าง Growth Mindset ได้ทันที ถ้าจะตอบให้ชัดมากขึ้นคือ การใส่อุปนิสัยเข้าไปในตัวเด็ก เช่น ทำให้เด็กเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์ มีความเพียรพยายาม ลุกขึ้นมาต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคนั่นเอง  

ยกตัวอย่าง การเลี้ยงลูกแบบสมัยก่อน แบบง่ายๆ ก็จะเห็นว่าบางเรื่องพ่อแม่ไม่ได้ไปตามใจ ลูกหกล้มก็ต้องลุกเอง จะได้เรียนรู้เอง ซึ่งตรงนี้ก็เป็นการพัฒนา Growth Mindset เพราะเขาจะเห็นทันทีเลยว่าโลกใบนี้ไม่ได้มีแต่สิ่งสวยงามอย่างเดียว ไม่ใช่ว่าเรียกร้องตอนไหนพ่อแม่ก็หามาให้ทันที ถ้าพ่อแม่ตามใจแบบนั้น Growth Mindset จะไม่เกิดเลย ซึ่งกระบวนการพวกนี้สำคัญหมด  ซึ่งก็คือ  การให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง พ่อแม่ไม่ควรปกป้องลูกไปเสียทุกอย่าง กลัวลูกเจ็บ กลัวลูกร้องไห้ กลัวไปสารพัด ซึ่งความกลัวนั้นเกิดจากพ่อแม่คิดเอง เพราะมันไม่ใช่ความกลัวของลูก แต่เป็นการปลูกฝังความกลัวนั้นเข้าไปในจิตใจของลูกแทน  

โดยสรุปจากแนวคิด “เด็กไม่ใช่ผ้าขาว” ตามที่คุณหมอสุริยเดว ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น  สะท้อนมุมมองในเรื่องการเลี้ยงดูลูกด้วยความเข้าใจในความเป็นตัวตนของลูก  มากกว่าสิ่งที่พ่อแม่ต้องการให้ลูกเป็น เพราะเด็กแต่ละคนเกิดมามีพื้นฐานความคิดและจิตใจที่ต่างกัน  การเปรียบเทียบเท่ากับการทำร้ายจิตใจและส่งผลเสียต่อกระบวนการคิดของเด็กต่อไป  แนวทางสำคัญของการเลี้ยงลูก คือ  การใช้ใจ ใช้จิตวิญญาณ ความรักความเข้าใจ ส่งผ่านไปในการเลี้ยงดู เท่ากับพ่อแม่ได้เติมแต่งสีสันที่หลากหลายและสวยงามบนผืนผ้าในโทนสีของลูกได้อย่างสวยงามและลงตัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้