Last updated: 30 ก.ย. 2565 |
มัมสเตอร์เชื่อว่าคุณแม่ทุกคนคงรู้จักเพจ “แม่ไหวแหละ” กันเป็นอย่างดี
เพจที่เล่าเรื่องราวที่มนุษย์แม่ต้องพบเจอ ทั้งการเป็นซึมเศร้า การตั้งท้อง การเป็นคุณแม่มือใหม่ การเลี้ยงลูก ปัญหากับสามี ปัญหากับครอบครัว รวมถึงเรื่องราวการดูแลตัวเองในแบบฉบับของคุณแม่ ผ่านประสบการณ์ตรงของ คุณแพรว-มณฑิรา เรืองอร่าม และประสบการณ์ของคุณแม่ที่ติดตามเพจแม่ไหวแหละ
สำหรับมัมสเตอร์ นอกจากคุณแพรวจะเล่าเรื่องได้เข้าใจง่าย สนุก น่าติดตามแล้ว รูปแบบการเลี้ยงลูกของคุณแพรวยังน่าสนใจไม่แพ้กันเลย มัมสเตอร์เลยพาทุกคนไปรู้จักกับคุณแพรว เพจ ‘แม่ไหวแหละ’ ให้มากขึ้น ผ่าน 10 คำถามต่อไปนี้
"เริ่มเลย...."
1. ทำไมถึงใช้ชื่อเพจ “แม่ไหวแหละ”
ก่อนที่แพรวจะมาทำเพจ แพรวเหมือนเป็นศิราณีของเพื่อนในกลุ่ม เวลาเพื่อนมีปัญหาอะไรก็จะมาปรึกษาแพรว เหมือนแพรวสามารถรับฟังและเข้าใจในสิ่งที่เขาเป็นได้ และพอวันที่แพรวมาเป็นแม่ แพรวต้องเผชิญกับความรู้สึกที่ว่าไม่มีใครเข้าใจเราเลย ถ้ามีสักคนที่เข้าใจเรา หรือรับฟังเราก็คงดี แล้วช่วงที่แพรวเป็นแม่แล้ว เวลาแพรวลงรูปตัวเองหรือลงรูปลูกลงเฟสบุ๊คส่วนตัว แพรวจะชอบใช้แฮชแทคว่า ‘แม่ไหวแหละ’ คือว่าช่วงนั้นแพรวเป็น Baby Blue ค่อนข้างเยอะ อารมณ์ดิ่งค่อนข้างบ่อย มันเหมือนเราเหนื่อยแต่ไม่มีคนเข้าใจ แพรวก็จะชอบระบายผ่านเฟสบุ๊คแล้วก็บอกตัวเองว่า ‘แม่ไหวแหละ’ คือเป็นแม่แล้วอะ ไม่ไหวก็ต้องไหว
2. ถ้าวันนึง ‘แม่ไม่ไหวล่ะ’
‘แพรวว่าโดยปกติแล้วคนเป็นแม่มันไหวอยู่แล้วค่ะ’ แต่ที่เราไม่ไหวไม่ใช่เพราะเราเหนื่อย แต่เป็นเพราะเรารู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจเรา ด้วยความที่เราเป็นแม่มือใหม่และก็บวกกับฮอร์โมนด้วย มันเลยทำให้เรารู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจเราเลย ไม่มีใครอยู่ข้างเราเลย ยกตัวอย่างการเลี้ยงลูก ทุกคนรอบตัวเราก็จะเลี้ยงลูกกันคนละแบบ แม่แบบนึง ป้าแบบนึง แล้วเขาก็จะมาบอกเราว่าทำไม่ไม่เลี้ยงแบบนั้นแบบนี้ เราก็มีวิธีการเลี้ยงของเรา แต่เราก็พยายามปรับและอดทนแต่เราก็พยายามปรับและอดทนแล้ว มันเลยทำให้เราเหนื่อยจนรู้สึกเหมือนว่าไม่มีใครเข้าใจ
‘คำว่าไม่ไหว’ มันไม่ใช่ความเหนื่อยที่อดหลับ อดนอน อะไรแบบนี้นะคะ แต่มันคือความไม่ไหวจากสภาวะคนรอบข้างและฮอร์โมนตัวเราเอง ที่เขาพูดนิดนึงแล้วมันดิ่ง แต่พอฮอร์โมนมันดีขึ้น และเราก็ได้ปรับความเข้าใจกันมากขึ้น แพรวว่าเหนื่อยแค่ไหน คนเป็นแม่มันก็คือไหว
3. Message ไหนที่อยากส่งผ่านเพจแม่ไหวแหละ
ที่แพรวมาทำเพจแพรวอยากบอกแม่ๆว่า ‘มีเพื่อนอยู่ตรงนี้คนนึงนะ’ คุณไม่ได้เดียวดายในเส้นทางที่คุณอาจรู้สึกว่ามันเหนื่อยจัง ทำไมไม่มีใครเข้าใจเราเลย คือเพจของแพรวค่อนข้างออกไปทางดราม่า เล่าถึงชีวิตจริงที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะแพรวอยากโชว์ Reality ให้ทุกคนได้เห็นว่า ทุกบ้านก็มีจุดที่เป็นปัญหาด้วยกันทั้งนั้น บางบ้านที่เราเห็นว่าทำไมเขามีไลฟ์สไตล์ที่ดีจัง ดูมีพร้อมทุกอย่าง มีเงิน ไม่ต้องดิ้นรน แต่เขาก็มีปัญหาในแบบของเขาซึ่งเขาอาจจะไม่ได้โชว์ออกมาให้เราเห็น แพรวอยากให้แม่ๆเขารู้สึกว่าเขามีแพรวเป็นเพื่อนอยู่ตรงนี้หนึ่งคนนะ หรือเวลาที่แม่รู้สึกแย่ๆ ยังมีเพจแม่ไหวแหละคอยอยู่ข้างๆ ตรงนี้ ถึงแม้ว่าแพรวจะไม่ได้เข้าใจทั้งหมด แต่แพรวเข้าใจว่าแม่กำลังรู้สึกแย่นะ
4. สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำเพจ “แม่ไหวแหละ”
อย่างแรกที่แพรวได้เต็มๆ เลยคือ แพรวรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้น ก่อนที่จะมาเป็นคุณแม่เต็มตัวแพรวเป็นแอร์มาก่อน เราสามารถหาเงินได้เยอะด้วยตัวเอง เดินทางไปเที่ยวบ่อย อยากไปไหนก็ได้ไป แต่พอเรามาเป็นแม่เราต้องอยู่บ้านได้เงินจากสามี ถึงแม้เขาจะเต็มใจให้เรา แต่มันจะมีบางช่วงที่เรารู้สึกว่าเราไม่มีคุณค่าเลย บวกกับการที่เราเป็น Baby Blue ด้วย เรายิ่งรู้สึกว่าชีวิตมันแย่ไปหมด แต่พอเรามาทำเพจมันเหมือนเราได้ระบาย ได้ส่ง massage ที่อยู่ในใจออกไป แล้วพอเริ่มมีคนมาอินกับเรา เข้ามาพูดคุยกับเรา เข้ามาบอกว่าเข้าใจเรา มันช่วยทำให้อาการแพรวดีขึ้น มันเหมือนเป็นการบำบัดตัวเราเองด้วย และก็ทำให้เรารู้สึกมีคุณค่ามากขึ้น แต่ละวันมันของแพรวมีความหมายมากขึ้น
บางทีการที่ได้ทำให้คนอื่นรู้สึกดี มัน happy กว่า การที่เราทำอะไรแล้วตัวเองรู้สึกดีโดยตรง คือแค่มีคนมาคอมเมนต์ว่า ‘รู้สึกเหมือนกันเลย’ แค่นี้เราก็มีความสุขแล้ว สิ่งที่แพรวได้จากเพจคือไม่ใช่แค่แม่ๆ ได้กำลังใจ แต่แพรวก็ได้กำลังใจเหมือนกัน สิ่งที่เราบอกไป มันมีคุณค่ากับคนอื่น และมันสะท้อนกลับมาที่เรา
อย่างบางคอนเทนต์ที่เขียนไม่ใช่เรื่องของแพรวนะ แพรวเขียนมาจากเรื่องแม่ๆ คนอื่นเหมือนกัน คือเขาอยากให้เราเป็นกระบอกเสียงในส่วนที่เราพอจะทำได้ว่า อันไหนที่เราเข้าใจเขา แล้วเราพอจะเขียนให้คนอื่นเข้าใจเขาได้มั้ย เพราะเขาก็ไม่รู้จะบอกที่บ้านเขายังไง’
5. ความสุขของการทำเพจแม่ไหวแหละ
แพรวมีความสุขทุกครั้งที่ได้เห็นข้อความเข้ามาในเพจบอกว่า ‘แม่แพรวเขียนแทนใจมากเลย รู้สึกแบบนี้แต่เขียนออกมาแบบนี้ไม่ได้’ มันทำให้แพรวรู้สึกว่าแพรวได้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้แต่แรก ว่าแพรวอยากให้เพจเป็นเพื่อนที่เข้าใจแม่ๆ
6. อยากบอกอะไรถึงแม่ๆ ที่กำลังท้อแท้หรือรู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจ
แพรวเข้าใจเลยว่านาทีที่เรารู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจ คนที่เราอยากให้เข้าใจมากที่สุดเลยคือสามีของเรา แพรวเลยอยากบอกว่าเลิกคาดหวังให้สามีมาเข้าใจเราเองแล้วทุกอย่างจะง่ายขึ้น ถ้ารู้สึกเหนื่อยหรือต้องการความช่วยเหลือ ให้พูดกับสามีไปตรงๆ เลย เช่น ถ้าอยากให้เขามาอุ้มลูกก็บอกเขาไปเลยว่ามาอุ้มลูกให้หน่อย ไม่ใช่ว่านั่งอุ้มแล้วทำหน้าเหนื่อย ผู้ชายเขาไม่รู้หรอก หรือบางเรื่องที่เครียดมากหนักใจมาก อยากหาทางออก แต่ถ้ายิ่งไประบายให้สามีฟังมันยิ่งรู้สึกว่าเพิ่มปัญหาให้กับชีวิตคู่ อยากให้แม่ลองเปลี่ยนไปคุยกับเพื่อนแทน หรือทักข้อความเข้ามาที่เพจแพรวก็ได้ แพรวตอบทุกข้อความอยู่แล้ว (อาจจะตอบช้าหน่อยแต่ตอบแน่)
แพรวว่าคนส่วนใหญ่เวลาที่รู้สึกเหนื่อยหรือรู้สึกท้อแท้ เขาไม่ได้ต้องการที่ปรึกษา ไม่ได้ต้องการคำแนะนำนะ เขาแค่อยากมีคนที่เขารู้สึกว่าเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่ว่าเข้าใจให้มันจบๆ ไป สุดท้ายแพรวอยากฝากบอกเหล่าสามีว่า ปัญหาบางอย่างไม่ได้อยากให้ช่วยแก้ไข แค่อยากให้รับฟัง และให้กำลังใจกันเฉยๆ
7. การเลี้ยงลูกสไตล์แม่แพรว
แพรวว่าการเลี้ยงลูกมันต้องปรับไปตามหน้างาน บางอย่างก็สมัยใหม่ บางอย่างก็สมัยเก่า คือแพรวว่าธรรมชาติของเด็กแต่ละคนเขาต่างกัน อย่างลูกเราก็ไม่เหมือนในตำราทั้งหมด แพรวก็จะใช้วิธีดูว่าลูกโอเคมั้ย เอาตามลูกเป็นหลัก แค่ให้อยู่บนพื้นฐานที่ว่าลูกปลอดภัยไม่อันตรายแค่นั้นพอ อย่างลูกของแพรวเขาจะเป็นเด็กที่ขี้กลัวนิดๆ ต้องสังเกตให้มั่นใจก่อนถึงจะทำ จะไม่ใช่ว่าลุยเลย ลงไปทำเลย ก็เลยไม่ค่อยมีอะไรที่เรากลัวว่าจะอันตรายเกินไป
แต่ถ้าอะไรที่เขายังไม่เคยลองแล้วเรามองว่ามันไม่อันตราย เราก็จะหาวิธีทำให้เขารู้สึกสบายใจเพื่อให้เขามั่นใจก่อน ถึงไปถามเขาว่า ‘อยากลองมั้ย’ ถ้าเขาไม่อยากลองเราก็จะไม่บังคับ และจะไม่ไปบอกว่า ‘ทำไมละลูก แค่นี้เอง ทำไมไม่ลองละคะ?’ เพราะเรารู้ว่าคำนี้มันแย่มาก คือสำหรับเรามันไม่แค่นี้อะ ทำไมต้องมาบอกว่าแค่นี้ ทุกครั้งแพรวก็จะถามลูกก่อนว่าอยากทำมั้ย อยากลองมั้ย
8. สิ่งที่คุณแพรวให้ความสำคัญในการเลี้ยงลูก
แพรวว่าคำพูดที่เราสื่อสารกับลูกเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ‘คนอื่นไม่เข้าใจเขาไม่เป็นไร แต่แม่ต้องเข้าใจเขา’ ยกตัวอย่างเรื่องการให้ลูกลองเล่น เราก็จะบอกลูกว่าเล่นสิ น่าสนุกนะ แต่จะไม่บังคับเขา เพราะแพรวว่าจากเรื่องที่มันน่าสนุก เขาก็จะเริ่มรู้สึกว่ามันจะสนุกได้ยังไง มันไม่สนุกตั้งแต่แม่เริ่มบังคับแล้ว แพรวจะดูว่าเขาอยากทำหรือเปล่า แล้วก็จะเข้าใจถ้าเกิดเขาไม่อยากทำ
9. เรื่องที่สอนลูกในวันนี้
เด็กวัยนี้เริ่มมีเพื่อน เริ่มมีสังคมที่โรงเรียน และในจุดนั้นเราก็ไม่สามารถไปดูแล ไปช่วยเหลือเขาได้ตลอด และด้วยความที่ลูกแพรวเขาเป็นเด็กที่ค่อนข้างนิ่ง เรียบร้อย เวลาที่เพื่อนแกล้งก็จะเก็บ ไม่สู้ ไม่ฟ้องใครเลย คนอื่นที่มองมาอาจจะบอกว่าก็ดีแล้ว ลูกเรียบร้อยดีเลี้ยงง่ายดี แต่ถ้าคิดในแง่ที่คุณเป็นแม่ คือไม่สู้เนี้ยไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่บอกเลยใครเลยมันเครียดนะ เรารู้สึกว่าไม่อยากให้ลูกเรายอมในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ช่วงวัยนี้แพรวจะคอยบอกลูกบ่อยๆ ว่าถ้าเพื่อนแกล้งต้องบอกครูหรือบอกแม่นะ และถ้าคนไหนชอบแกล้งก็ไม่ต้องไปเล่นกับคนนั้น แล้วก็มีอยู่ช่วงนึงที่พิตต้าชอบเล่นกับเพื่อนคนนี้มาก แพรวก็จะถามว่าทำไมถึงชอบเล่นกับเพื่อนคนนี้ เขาก็จะบอกว่า ‘ก็เขาเล่นเบาๆ ไง’ เรารู้สึกเลยว่ามันได้ผล เขาเลือกที่จะใช้ชีวิตที่สบายใจ รู้จักเอาตัวรอด คนไหนเล่นแรงก็ไม่เล่นด้วย จะเล่นกับคนที่เล่นแล้วสบายใจ
แพรวจะสอนลูกแค่ว่าอะไรที่อยู่แล้วไม่โอเค ก็ไม่ต้องไปอยู่ใกล้ และแพรวว่ามันใช้ในอนาคตได้ เพื่อนคนไหนที่เราอยู่ด้วยแล้วไม่ Happy เราก็แค่ไม่ต้องอยู่กับเขา
10. เป้าหมายในการเลี้ยงลูกของแม่แพรว
แพรวอยากให้เขาเป็นเด็กที่มีความสุขง่าย เพราะแพรวรู้สึกว่าการมีความสุขง่ายมันเป็นสิ่งที่สำคัญมากในปัจจุบันและอนาคต อย่างบางคนเขารวยมากเราคิดว่าเขาต้องมีความสุข แต่เขาก็ไม่มี แพรวว่าความจริงแล้วความสุขมันอยู่ที่ใจเรา แพรวเคยเขียนอยู่ครั้งหนึ่งในเพจว่า ‘เป้าหมายในการเลี้ยงลูกคืออยากให้ลูกมีความสุขง่าย และมีความทุกข์ยาก’ แพรวอยากให้เรื่องเล็กๆ ก็สามารถทำให้เขามีกำลังใจในการใช้ชีวิตได้ ไม่ต้องคาดหวังว่าจะต้องมีเท่านี้เท่านั้นถึงจะมีความสุข
ส่วนเรื่องความทุกข์แพรวจะสอนเขาเสมอว่า มันเป็นเรื่องธรรมดานะที่คนเราจะเสียใจหรือมีความทุกข์ แม่เข้าใจ แม่ก็เคยเป็น คือแพรวรู้สึกว่าทุกคนต้องอยู่กับทุกข์ให้ได้ คำว่าทุกข์ยากเลยไม่ใช่ว่าไม่ทุกข์ แต่หมายถึงว่าเราจะทุกข์สั้นๆ รับรู้มันแล้วก็ผ่านไป หรือว่าเมื่อไหร่ที่ทุกข์ แค่มาเล่าให้แม่ฟังความทุกข์มันก็ลดลงนิดนึงแล้ว
"คุณแม่แต่ละคนต่างออกแบบแนวคิดและวิธีการเลี้ยงลูกจากประสบการณ์ตรงและมิติของชีวิตที่ตัวเองได้พบเจอ และแน่นอนว่าปลายทางของคุณแม่ทุกคน ล้วนต้องการเห็นลูกมีชีวิตที่ดี มีความสุขกับสิ่งที่เขาได้เลือกด้วยตัวเอง"
23 ส.ค. 2567
26 ส.ค. 2567
4 ก.ย. 2567