Last updated: 6 ต.ค. 2565 |
โลกที่หมุนด้วยความรวดเร็ว(กว่าแต่ก่อน) ทำให้การใช้ชีวิตแบบค่อยๆ เจริญเติบโต เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นน้อยกับวัยรุ่นยุคนี้ และหลายคนเริ่มหมดแรงเดินไปสู่เป้าหมายที่เคยวาดฝันไว้
และปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดของโควิด 19 เป็นหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้วัยรุ่นยุคนี้ตกอยู่ในภาวะหมดไฟ โดยผลสำรวจของ Mental Health Check-in ช่วยกันยายนปีที่แล้ว ระบุว่า จากการตอบแบบประเมิน 2,045 คน พบเด็กที่มีความเครียดสูงถึงร้อยละ 29.29 ภาวะหมดไฟในการเรียนร้อยละ 16.67 ซึ่งสูงกว่าผู้ใหญ่ประมาณ 3 เท่า
(นี่อาจจะเป็น) ต้นเหตุของภาวะหมดไฟในวัยรุ่น
เพื่อให้พ่อแม่ได้หาวิธีรับมือกับภาวะหมดไฟของลูกอย่างถูกจุด จำเป็นต้องเห็นสาเหตุของภาวะนี้เสียก่อน
1. ความกังวลเรื่องการเรียน
แม้ว่าจะไม่ได้มีข้อมูลอย่างเป็นทางการ แต่เราก็สามารถรับรู้ได้ว่า ในช่วงโควิดวัยรุ่นมีความกังวลว่าพวกเขาจะไม่สามารถรักษาผลการเรียนไว้ได้เพราะเขาขาดแรงกระตุ้นและไม่สามารถจดจ่อกับงานหรือการบ้านได้ดีเท่าตอนที่ยังต้องไปโรงเรียน
2. การสอบเข้ามหาลัย
Fernández-Castillo Antonio ศาสตราจารย์ประจำ University of Granada สาขาวิชาจิตวิทยาการพัฒนาและการศึกษา ประเทศสเปน ได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจว่า สภาวะการหมดไฟและความเครียดมักจะเกิดขึ้นกับนักเรียนที่กำลังเข้าสอบเพื่อศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับสัดส่วนของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด (886 คน จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,021 คน) เขาระบุเพิ่มเติมว่า กลุ่มนักเรียนที่กำลังเตรียมตัวเข้าสอบจะมีความเครียดและภาวะหมดไฟมากกว่ากลุ่มที่ผ่านการสอบเข้ามหาวิทยาลัยไปแล้ว
3. การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ
จากข้อมูลที่พบทั้งในงานวิจัยของ แอนเดรีย เฟอร์นานเดซ-คาสติลโล และงานศึกษาของ เชอร์รี เบิร์ก คาร์เตอร์ ชี้ให้เราเห็นจุดร่วมตรงกันว่า สภาวะการหมดไฟและความเครียดนั้นส่วนหนึ่งมีที่มาจากการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ การทำกิจวัตรประจำวันเดิมๆ ซ้ำๆ เป็นระยะเวลานาน รวมถึงการเรียนการสอน และที่สำคัญการใช้เวลากับสมาร์ทโฟนมากเกินไป ทำให้ไม่ได้มีการจัดสัดส่วนของเวลาผ่อนคลายและพักฟื้นสภาพร่างกายและอารมณ์ที่เหมาะสม ก็อาจนำไปสู่สภาวะหมดไฟของวัยรุ่นได้
สัญญาณการหมดไฟ
พ่อแม่อาจมองว่าสาเหตุดังกล่าวอาจไม่มากพอที่จะก่อให้เกิดอาการหมดไฟ แต่สำหรับวัยรุ่น วัยที่กำลังค้นหาตัวเอง วัยที่โหยหาการออกไปใช้ชีวิต ไปเที่ยวเล่นกับเพื่อน ไปสนุกแบบสุดเหวี่ยง เติมสีสันให้กับชีวิตก่อนจะก้าวไปสู้วัยผู้ใหญ่ แต่ด้วยช่วงโควิดทำให้ความฝันเรื่องการใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นหายไป ทำให้พวกเขามีแนวโน้วอาการหมดไฟมากขึ้น ถ้าหากพ่อแม่เกตเห็นว่าลูกมีอาการต่อไปนี้ จำเป็นจะต้องเตรียมรับมือเพื่อช่วยเหลือทันที
1. ซึมเศร้า
พวกเขาสูญเสียความสนใจในสิ่งที่พวกเขาชอบทำ ไม่สามารถจดจ่อหรือทำสิ่งเหล่านั้นได้ดีเหมือนเคย มากไปกว่านั้นพวกเขาอาจไม่อยากทำอะไรเลยก็เป็นได้
2. วิตกกังวล
มีความกังวลโดยไม่มีสาเหตุและไม่สามารถปล่อยใจสบายๆ ได้จนอาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ (Insomnia) ร่วมเพราะฝันร้ายบ่อยและไม่สามารถพักผ่อนได้อย่างเพียงพอ
3. พฤติกรรมผิดปกติ
ในด้านร่างกาย พวกเขาอาจกินมากขึ้นหรือน้อยลงจากเดิม หรือในทางจิตใจ พวกเขาอาจอ่อนไหวผิดปกติ ไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์ อาจโกรธง่าย กลัวง่าย และเศร้าง่ายกว่าปกติมาก
4. สุขภาพร่างกายผิดปกติ
วัยรุ่นอาจมีอาการปวดคอหรือปวดหลังจากการเรียนออนไลน์ ทั้งยังรวมไปถึงประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือมีอาการปวดท้องและเวียนหัว
5. มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์
มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงมากขึ้น ตัวอย่างเช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ การลองมีเพศสัมพันธ์หรือเสพยา
พ่อแม่สามารถเยียวยาลูกได้อย่างไร
ถ้าหากเป็นเรื่องของการเรียน การสอบ พ่อแม่แบบเราอาจไม่สามารถช่วยเหลือลูกได้เท่าที่ควรนัก แต่ก็ยังมีหนทางอื่นที่พ่อแม่จะสามารถเยียวยาความรู้สึกหมดไฟของลูกได้
1. ทำกิจกรรมเล็กๆ ร่วมกัน อย่างการดูหนังเบาสมอง ทำอาหารทาน จัดปาร์ตี้ปิ้งย่าง ไปเที่ยวต่างจังหวัด
2. สอนให้พวกเขาดูแลตัวเอง ลองปล่อยให้เขาได้หาหนทางรักษาจิตใจห่อเหี่ยวจากอาการหมดไฟดู ไม่ต้องเป็นการทำอะไรที่ยากเย็น อาจเป็นการนั่งสมาธิ ออกกำลังกาย ฟังเพลง ซึ่งช่วงเวลาที่เขาได้อยู่กับตัวเองจริงๆ อาจช่วยให้เขาค้นพบวิธีรับมือกับความเครียดได้
3. หมั่นพูดคุยเปิดใจแต่ไม่ลืมที่จะให้พื้นที่ส่วนตัว ด้วยคำตามง่ายๆเช่น “เหนื่อยมั้ยลูก” หรือ “หิวมั้ย อยากกินอะไรหรือเปล่า” เป็นการเริ่มบทสนทนาที่ดีและยังเป็นการบอกเหล่าวัยรุ่นอ้อมๆ ว่าพวกเขาไม่ได้ตัวคนเดียวพ่อแม่ยังอยู่ข้างๆเสมอ
ช่วงวัยรุ่น เป็นช่วงวัยเริ่มต้นของการใช้ชีวิต มีทั้งความกล้าและความกลัวเกิดขึ้นในเวลาเดียว ดังนั้น การได้รับกำลังใจและความใส่ใจจากพ่อแม่ ก็เป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนในวันที่เขาหมดไฟ ให้ก้าวไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้ค่ะ
พักสายตา ฟัง audiobook บทความนี้ คลิกเลย
26 เม.ย 2566
19 พ.ค. 2566
6 เม.ย 2566