จิตวิทยาการเลี้ยงดู เพื่อให้พ่อแม่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ลูก

Last updated: 7 ก.ค. 2565  | 

ในทางร่างกาย พ่อแม่สามารถดูแลลูกได้ด้วยการจัดสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับลูก ให้ลูกรับประทานอาหารที่ดี เพื่อไม่ให้ลูกเจ็บป่วย เพื่อให้ลูกมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงเติบโตสมวัย #แต่สำหรับจิตใจ เด็กต้องการตอบสนองต่อความต้องการที่เหมาะสม เพื่อทำสุขภาพจิตดีควบคู่กับการมีสุขภาพกายดี

 

ด้านจิตใจ “เด็กต้องการอะไร?”
ความต้องการด้านจิตใจของเด็กนั้นมีความแตกต่างกันไปตามวัยของเด็ก แต่พอจะสรุปได้กว้างๆ ว่าสิ่งต่อไปนี้มีความจำเป็น และเป็นที่ต้องการสำหรับเด็กทุกคน

1. ความรักความอบอุ่น

เด็กทุกคนอยากให้พ่อแม่รัก อยากรู้สึกว่าตัวเองเป็นที่ต้องการ มีค่าสำหรับพ่อแม่ และรู้สึกว่าตัวเองเป็นที่ยอมรับ และไม่อยากรู้สึกว่าพ่อแม่รังเกียจ ไม่ชอบ ลำเอียง หรือเป็นส่วนเกิน แต่ความรักความอบอุ่นที่ว่านี้ ต้องเป็นความรักอย่างเหมาะสม ไม่ใช่รักมากอย่างไม่มีขอบเขต เช่น ตามใจทุกอย่างโดยไม่มีเหตุผล จนทำให้กลายเป็นคนตามใจตัวเองตลอดเวลา ไม่สามารถอดทนต่อภาวะที่คนปกติธรรมดาควรจะอดทนได้ จนกลายเป็นข้อบกพร่องทางบุคลิกภาพในอนาคต

2. ให้โอกาสใช้พลังงานในทางสร้างสรรค์

วัยเด็กเป็นวัยที่มีกำลังงานในตัวมาก เด็กต้องได้รับโอกาสให้ใช้พลังงานไปในทางสร้างสรรค์ เช่น การเล่น การออกกำลังกายในเกมกีฬาต่าง ๆ การมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่เหมาะสม ถ้าพ่อแม่ไม่เห็นความสำคัญข้อนี้ ต้องการให้เด็กอยู่อย่างสงบเรียบร้อยเสมอ อาจทำให้กลายเป็นเด็กที่ไม่กล้าแสดงออก เชื่องซึม ไม่ร่าเริงแจ่มใส ไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ปรับตัวเข้ากับสังคมได้ยาก

3. การกระตุ้นอย่างเหมาะสม

เด็กในแต่ละช่วงวัยจะมีพัฒนาการที่แตกต่างกันตั้งแต่เด็กทารกแรกเกิดไปจนถึงเด็กวัยรุ่น พัฒนาการของเด็กได้รับอิทธิพลจากพันธุกรรมและสภาพแวดล้อม ดังนั้นการเลี้ยงเด็กในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จะทำให้เด็กพัฒนาศักยภาพตามพันธุกรรมได้อย่างเต็มที่ ในช่วงขวบปีแรกๆของชีวิตเด็กเป็นช่วงเวลาที่สำคัญต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กมากที่สุด การดูแลเด็กอย่างเหมาะสมจะทำให้เด็กเติบโตอย่างมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี มีความรับผิดชอบและประสบความสำเร็จในชีวิต

 

4. ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย

ความรู้สึกมั่งคงปลอดภัยของเด็กได้มาจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง โดยเฉพาะพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ครอบครัวสงบสุข เด็กจะไม่รู้สึกกลัวว่าจะถูกทอดทิ้ง บ่อยครั้งที่พบว่าเด็กมีอาการทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง โดยไม่มีโรคทางกายเป็นเหตุ แต่กลับสัมพันธ์กับเวลาเด็กเกิดรู้สึกเครียด รู้สึกกลัวที่เห็นพ่อแม่ทะเลาะกันทำร้ายร่างกายกัน หรือกำลังจะหย่าร้างกัน นอกจากนั้นเด็กก็ยังต้องการความรู้สึกว่าผู้ใหญ่สามารถปกป้องเค้าได้

 

5. คำแนะนำและการสนับสนุน

นอกจากเด็กจะต้องการความรัก ความอบอุ่นจากพ่อแม่แล้ว กำลังใจและการสนับสนุนก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ลูกเติบโตขึ้นไปเป็นคนที่มีคุณภาพในสังคมอนาคต เมื่อพ่อแม่เห็นว่าสิ่งไหนที่ลูกสนใจก็ควรสนับสนุนลูกอย่างเต็มที่ และต้องคอยสังเกตด้วยว่าเมื่อไหร่ที่ลูกต้องการที่ปรึกษา

 

พ่อแม่มีวิธีตอบสนองต่อพฤติกรรมของลูกอย่างไร ให้เหมาะสม เพื่อให้ลูกสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ พร้อมกับสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกด้วย ใช้เหตุผล (Reasoning) การให้หลักเหตุผลง่ายๆ สั้นๆ อย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เด็กเข้าใจ ใช้สิ่งทดแทน (Alternative response) เวลาห้ามไม่ให้เด็กทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ควรสอนเด็กไปด้วยว่าสิ่งไหนที่ทำแทนได้ เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นและความรู้สึก (Freedom to discuss ideas and feelings) ควรให้เด็กรู้สึกว่าเมื่อมีความคิดเห็นอย่างไรก็สามารถพูดออกมาได้อย่างอิสระ หรือมีความรู้สึกอย่างไรก็สามารถพูดคุยชี้แจงได้ ให้รางวัล (Positive reinforcement) เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว เพื่อให้พฤติกรรมนั้นเกิดขึ้นอีกไม่หายไป ควรให้รางวัลสำหรับพฤติกรรมนั้น เช่น ชื่นชม โอบกอด ลูบหัว เป็นแบบอย่างที่ดี (Positive model) การเป็นแบบอย่างในด้านดีๆให้กับลูก คือหนึ่งในวิธีการสอนที่ได้ผลดีที่สุด

พักสายตา ฟังบทความนี้ที่ Audiobook คลิก

 

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้