Last updated: 9 พ.ค. 2568 |
เลี้ยงสัตว์ในบ้าน = เลี้ยงหนึ่งชีวิต
ก่อนจะให้ลูกเลี้ยงสัตว์...ลองคิดอีกนิด เพื่อชีวิตที่เรารับผิดชอบ ทุกครั้งที่ลูกพูดว่า“แม่ หนูอยากเลี้ยงหมา” หรือ “ขอแมวตัวนึงได้ไหม?”
พ่อแม่หลายคนอาจใจอ่อน เพราะรอยยิ้มของลูก และคำสัญญาว่า “หนูจะดูแลเอง”
แต่คำขอที่ฟังดูน่ารักนี้ แท้จริงแล้วคือการตัดสินใจร่วมกันทั้งบ้าน เพราะสัตว์เลี้ยงไม่ใช่แค่ของเล่น ไม่ใช่แค่วัตถุตกแต่งบ้าน
แต่มันคือ “อีกหนึ่งชีวิต” ที่ต้องการความรัก การดูแล และความรับผิดชอบตลอดชีวิตของมัน
และเพื่อการอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข การเลือกสัตว์เลี้ยงให้เหมาะสมระหว่างเราและเขาจึงมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากค่ะ ยิ่งในกรุงเทพฯ ด้วยแล้ว ต้องพิจารณากฎบัญญัติว่าด้วยควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2567 ร่วมด้วย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 มกราคม 2569 ดังนั้น การตัดสินใจเลี้ยงเจ้าขนฟูสักตัวสองตัวต้องดูกฎฯ ไว้เทียบเคียงด้วยนะคะ
คราวนี้เรามาเริ่มพิจารณาสัตว์เลี้ยงตามลำดับกันเลย
1. สัตว์แบบไหนที่เหมาะกับบ้าน
สัตว์เลี้ยงที่ “เหมาะกับบ้าน” ไม่ใช่แค่น่ารัก แต่ต้องสามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมของเราได้จริง
บ้านของเรามีพื้นที่พอไหม มีเด็กเล็กหรือสัตว์อื่นไหม เราพร้อมดูแลแค่ไหน
ตัวอย่างสัตว์ที่เหมาะกับบ้านทั่วไป:
- แมว / สุนัขพันธุ์เล็ก (โดยเฉพาะพันธุ์ที่อ่อนโยนกับเด็ก)
- กระต่าย หรือหนูแฮมสเตอร์ (แต่ต้องคอยระวังเด็กไม่ให้จับน้องแรงๆ )
- ปลาในตู้ (เหมาะกับการเริ่มต้นสอนความรับผิดชอบเบื้องต้น)
- นกพันธุ์เล็กที่เลี้ยงในกรงแบบเปิดไม่ได้
2. แล้วสัตว์แบบไหน “ไม่ควรเลี้ยง”
สัตว์บางชนิดอาจดูน่ารักในคลิปหรือหน้าร้านขายสัตว์เลี้ยง
แต่เมื่อโตเต็มวัยหรือเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม มันอาจทุกข์ทรมาน หรือกลายเป็นภัยต่อสมาชิกในครอบครัวก็เป็นได้
สัตว์ที่ไม่ควรเลี้ยงในบ้าน เช่น:
- สัตว์ป่าคุ้มครอง เช่น ลิง ชะนี กระรอกป่า
- สัตว์ Exotic ที่ต้องควบคุมสภาพแวดล้อมเฉพาะ เช่น งู เต่ายักษ์ กิ้งก่า ชูก้าร์ไกลเดอร์
- นกปากใหญ่ที่เสียงดังและต้องการพื้นที่บิน
- สัตว์มีพิษ หรือสัตว์ขนาดใหญ่ที่อันตรายกับเด็ก
บางครั้งการซื้อสัตว์หายาก ยังเป็นการสนับสนุนการค้าสัตว์ป่าอย่างไม่รู้ตัวอีกด้วย
3. ความรักต้องมาพร้อม “ความรับผิดชอบ”
เลี้ยงสัตว์ = ดูแลชีวิตหนึ่งตลอดทาง ไม่ใช่แค่ให้อาหาร
เจ้าของที่ดีต้อง:
- ศึกษาธรรมชาติของสัตว์ก่อนเลี้ยง
- เตรียมใจและเวลาให้กับการดูแลระยะยาว (บางตัวอายุ 10–20 ปี)
- ไม่เลี้ยงตามกระแสหรือเพราะเห็นว่าน่ารักชั่วคราว
- พาไปพบสัตวแพทย์เมื่อป่วย
- สอนลูกว่าการเลี้ยงสัตว์คือ “สัญญาระยะยาว” ไม่ใช่แค่คำพูดตอนอยากได้
“ถ้าวันหนึ่งลูกเบื่อ ใครจะดูแลต่อ?”
คำถามนี้สำคัญมากก่อนที่พ่อแม่จะตอบว่า "โอเค เลี้ยงได้"
4. ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เราอาจไม่รู้ตัว
สัตว์บางชนิด เมื่อหลุดรอดจากบ้านไปอยู่ในธรรมชาติ อาจกลายเป็น “สัตว์ต่างถิ่นรุกราน” ที่ทำลายระบบนิเวศ
ตัวอย่าง:
- เต่าแก้มแดง หรือเต่าญี่ปุ่น (Red-eared slider) ที่กินสัตว์น้ำท้องถิ่น
- ปลาช่อนอเมซอน ที่โตเร็วและกินทุกอย่างในบ่อ
- กระรอกบิน หรือสัตว์ Exotic อื่นๆ ที่เบียดเบียนสัตว์พื้นถิ่น
❗ อย่าปล่อยสัตว์คืนสู่ธรรมชาติเด็ดขาด — เพราะผลเสียอาจไม่ใช่แค่กับสัตว์นั้น แต่อาจกระทบทั้งระบบนิเวศในระยะยาว
2 มิ.ย. 2568
23 เม.ย 2568
12 พ.ค. 2568