เมื่อประชากรทั่วโลกกลายเป็นสังคมสูงวัย

Last updated: 1 มิ.ย. 2563  | 



          เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา โลกของเรามีประชากรประมาณ 5,735 ล้านคน และมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 540 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 9 ของประชากรโลก ในปี พ.ศ. 2558 ประชากรโลกมีจำนวน 7,349    ล้านคน ในจำนวนนี้มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 901 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 12 จึงอาจกล่าวได้ว่า “ประชากรโลกได้กลายเป็นสังคมสูงวัย” เสียแล้ว ใน 6 ทวีปของโลก ยุโรปมีระดับการสูงวัยสูงที่สุด คือ มีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป สูงถึงร้อยละ 24 ของประชากรทั้งทวีป ทวีปเอเชียจะมีสัดส่วนของประชากรสูงอายุสูงเป็นอันดับ 4 รองจากทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ และโอเชียเนีย แต่ก็เป็นทวีปที่มีประชากรสูงอายุมากที่สุด คือประมาณ 508 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 12 ของประชากรทั้งทวีป

          ขณะเดียวกันราชวิทยาลัยลอนดอนได้นำเสนอข้อมูลจากการศึกษาร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ได้ทำการวิเคราะห์ช่วงอายุขัยของประชากรโลกที่พัฒนาแล้ว (OECD) จำนวน 35 ประเทศ และคาดการณ์ว่าประชากรโลกที่เกิดในปี ค.ศ. 2030 จะมีอายุขัยที่ยืนยาวขึ้น อีกทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะมีอายุขัยที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น จากเดิมที่ผู้หญิงจะมีอายุยืนกว่าผู้ชายในอัตราที่สูงกว่าหลายปี

          รายงานการศึกษาดังกล่าวระบุว่า ผู้หญิงชาวเกาหลีใต้ที่เกิดในปี  ค.ศ. 2030 จะเป็นประชากรกลุ่มแรก ที่มีอายุเฉลี่ยเกิน 90 ปี ในอีก 13 ปี ข้างหน้า โดยอัตราความเป็นไปได้มีมากถึง 50 % ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายอย่างยิ่ง ไม่เพียงเท่านั้น ในอนาคตอายุเฉลี่ยของมนุษย์ยังอาจมีโอกาสเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 110 ปี ในผู้ชาย และ 120 ปี ในผู้หญิง  รายงานดังกล่าวยังได้วิเคราะห์ถึงเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ผู้หญิงประเทศเกาหลีใต้จะมีอายุยืนมากที่สุด เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญกับการให้บริการสาธารณสุขที่ครอบคลุม ซึ่งตรงกันข้ามกับในโลกตะวันตก  รัฐบาลกำลังมีการควบคุมงบประมาณด้านสาธารณสุข อีกทั้งยังมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจในการเข้าถึงบริการ ซึ่งนอกจากปัจจัยด้านความก้าวหน้าทางสาธารณสุขแล้ว เงื่อนไขทางสังคม สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ปัจจัยด้านพันธุกรรมก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้