6-9  วัยเตาะแตะจอมซน

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

ในช่วงนี้ ลูกน้อยของคุณเต็มไปด้วยความรู้สึกตื่นตัว เขาอยากลุกคลานไปคว้าของเล่นตรงหน้า อยากใช้มือหยิบจับสิ่งของขึ้นมาถือเล่น อยากพูด อยากคุย แต่เขายังทำอะไรได้ไม่ถนัดนัก พลังที่มีอยู่ภายในจึงรุมเร้าใจจนบางครั้ง เขารู้สึกหงุดหงิดได้ง่ายๆ แต่ถ้าเจ้าตัวน้อยได้รับการส่งเสริมจากคุณ เขาก็จะสามารถผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ไม่ยากนัก ไปดูกันค่ะว่า เจ้าหนูต้องการความช่วยเหลืออะไรจากคุณบ้าง

หนูเล่นซน ก็เพื่อเรียนรู้นะแม่  ทุกครั้งที่เจ้าจอมซน หยิบจับสิ่งของใดขึ้นมาเล่นสนุก ภายในสมองของเขาจะมีการเจริญเติบโตของเส้นใยประสาทขยายกิ่งก้านก่อตัวเกาะติดกันเป็นแขนงเพื่อสร้างเส้นทางการส่งถ่ายข้อมูล เป็นการเบิกทางสำหรับการเรียนรู้ในวันข้างหน้านั่นเอง หน้าที่ของคุณในตอนนี้ คือคอยดูแลให้เส้นทางเรียนรู้ของเขาปลอดโล่งจากอุบัติเหตุ เพื่อไม่ให้เขามีฝันร้ายเกิดขึ้นเป็นปมอุปสรรคขวางกั้นการเรียนรู้ได้

กระดึ๊บ กระดึ๊บ  พอเริ่มพลิกคว่ำได้เป็น นานแค่สองสัปดาห์กว่าๆ เจ้าหนูของคุณก็เริ่มจะกระดึ๊บคืบตัวไปข้างหน้าได้แล้ว และอีกไม่นาน เขาจะเริ่มโยงโย่โยงหยกยกตัวขึ้นสี่ขาให้คุณได้เห็น นั่นล่ะ เป็นสัญญาณการออกตัวสตาร์ทของเจ้าจอมซนเขาล่ะ เพียงแค่คุณเผลอปล่อยเวลาให้ผ่านไปไม่นานเขาก็จะเริ่มคลานต้วมเตี้ยมได้ และไม่เกินเดือนที่ 9 ก็จะสามารถใช้มือยึดเกาะสิ่งของดึงตัวเองลุกขึ้นยืนได้แล้ว ก่อนถึงเวลานั้น คุณเตรียมพร้อมความปลอดภัยในบ้านให้เขาหรือยัง



แม่อยู่ไหนเอ่ย  ในวัยนี้ ลูกน้อยของคุณเริ่มจดจำใบหน้าของคนที่เขาเห็นบ่อยจนชินตาได้แล้ว ข้อเสียก็คือ เขายังทำใจไม่ได้ หากต้องเห็นคุณเดินจากไปจนลับสายตา เพราะคุณคือคนเดียวที่เขาไว้ใจ อบอุ่นใจ และไม่หวั่นไหวในภัยอันตรายใดๆ เมื่อได้อยู่ใกล้

หนูกลัวคนแปลกหน้า  เพราะเริ่มจดจำสิ่งที่คุ้นเคยได้ ทำให้เจ้าหนูเริ่มแยกแยะคนคุ้นเคย และคนแปลกหน้าได้ นอกจากคุณ และคนคุ้นเคยแล้ว เจ้าหนูไม่ไว้ใจใครอีกเลย เมื่อใดก็ตามที่คนแปลกหน้าเข้าใกล้ เขาจะรู้สึกกังวล ไม่สบายใจ นั่งเงียบ และเกาะคุณแจ หากคุณอยากแนะนำให้เขารู้จักใครสักคน ค่อยๆ ให้เวลาเขาทำความคุ้นเคย โดยมีคุณอยู่ใกล้ๆ ให้บุคคลคนนั้น ใช้ของเล่นชิ้นโปรดของเขามาหลอกล่อ ไม่นานเขาก็จะเปิดใจยอมรับได้เอง

ดูซิ! หนูมีอะไรจะบอก..  ถ้าคุณสังเกตให้ดี จะเห็นว่าช่วงนี้ เจ้าหนูเริ่มรู้จักใช้เสียงสูงๆต่ำๆ และท่าทางในการสื่อสารเพื่อให้คุณได้รู้ถึงความต้องการของเขาได้แล้ว คุณสามารถส่งเสริมพัฒนาการนี้ของเขา ให้ก้าวหน้าไปถึงขั้นเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ ได้ โดยการถ่ายทอดสิ่งที่เขาต้องการออกมาเป็นคำพูด เช่น หนูหิวแล้วใช่ไหม?  จะกินนมหรือ? ฯลฯ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้