Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
จากการเรียนรู้ที่จะเปล่งเสียง นับแต่วินาทีแรกที่คลอดออกมา .. จนถึงการเรียนรู้ที่จะใช้ทักษะ เพื่อพัฒนาการด้านต่างๆ ตั้งแต่การมอง การฟัง การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ เพื่อการหยิบจับ คลาน คว่ำ นั่ง ยืน จนถึง เดิน การเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ เปรียบได้กับภารกิจที่เจ้าหนูต้องฟันฝ่าเพื่อให้ได้ชัยชนะ แต่ละเส้นชัยที่เจ้าหนูต้องฟันฝ่าถือเป็นประสบการณ์ใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นเกือบจะแทบทุกวันในช่วงชีวิตวัยเด็กของเขา
การทำหน้าที่ของคุณแม่ที่มีลูกวัยเบบี๋ จึงต้องรับหน้าที่เป็นโค้ชไปในตัวด้วยค่ะ นั่นเพราะการเลี้ยงดูเด็กเล็กๆ สักคนให้เติบโตขึ้นมามีพัฒนาการที่ดี มีลักษณะกล้าเก่ง และเก่งกล้าอยู่ในตัว คุณแม่ต้องใช้ทั้งศาสตร์ และศิลป์ร่วมกัน โดยคอยให้ความช่วยเหลือเขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง เปิดโอกาสให้เขาใช้ความสามารถของตัวเองเรียนรู้สิ่งต่างๆ ขณะเดียวกัน ก็คอยให้ความช่วยเหลือในเวลาที่เหมาะสม และในระดับที่พอกระตุ้นให้เขาไม่ท้อถอยกับภารกิจตรงหน้าอย่างง่ายดาย
3 ขั้นตอน ต่อไปนี้ จะช่วยให้คุณแม่ทำหน้าที่โค้ช ได้อย่างมั่นใจค่ะ
1. หมั่นสังเกตทักษะเด่นของลูก
ขณะที่ลูกน้อยมีภารกิจในการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ของตัวเอง คุณแม่เองก็ต้องพัฒนาทักษะในการสังเกตพฤติกรรม และความรู้สึกของลูกน้อยด้วย ทักษะเหล่านี้จะช่วยให้คุณรู้ว่า ควรจะเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือภารกิจของเจ้าหนูเมื่อไหร่ และอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น หากสังเกตพบว่าเด็กวัย 3 เดือน สามารถเคลื่อนลูกตามองตามวัตถุได้แล้ว ก็ให้หาของเล่นที่มีสีสันสะดุดตา มาเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างซ้ายขวา หน้าหลัง ในระดับสายตาของเจ้าหนู เพื่อกระตุ้นให้เขาฝึกทักษะในการมองตาม
หมั่นสังเกตดูว่าพัฒนาการนี้ของลูกน้อยก้าวหน้าขึ้นอย่างไรบ้าง เช่น เขาสามารถหันศีรษะ เพื่อช่วยในการมองเห็นเมื่อวัตถุนั้นถูกเคลื่อนไปในทิศทางที่หลุดไปจากกรอบสายตาของเขา คุณก็ควรเปลี่ยนวิธีกระตุ้นจากเดิม มาใช้วิธีกระตุ้นให้เขามองเห็น และสนใจสิ่งของจากทางด้านหนึ่ง จากนั้น ย้ายสิ่งของนั้นอ้อมไปอีกทางด้านหนึ่ง ซึ่งเขาก็จะได้เรียนรู้เรื่องการหายไปของสิ่งของอีกด้วย
2. กระตุ้นให้เขาใช้ประสาทสัมผัสทุกด้านพร้อมกัน
บางครั้ง พัฒนาการแต่ละด้านของเด็กอาจช้าเร็วแตกต่างกัน ดังนั้น หากคุณสังเกตว่าลูกมีพัฒนาการด้านสายตาช้า คือ 3 เดือนแล้ว เขายังไม่สามารถเคลื่อนสายตามองตามวัตถุได้ คุณก็ควรมองหาพัฒนาการด้านอื่นของเขาที่โดดเด่นเป็นพิเศษ (ซึ่งโดยปกติแล้ว ถ้าเด็กมีพัฒนาการช้าในด้านหนึ่ง ก็จะมีพัฒนาการเร็วในอีกด้านหนึ่ง)
จากนั้น ก็ให้ใช้ทักษะที่โดดเด่นนั้นของเขา มาเป็นตัวช่วยในการพัฒนาทักษะด้านที่ด้อย เช่น ถ้าลูกน้อยวัย 3 เดือน มีสัมผัสที่ไวต่อเสียงรอบข้าง ก็ให้ใช้ของเล่นที่มีเสียงประกอบเป็นตัวกระตุ้นให้เขามองอย่างสนใจก่อน แล้วจึงค่อยเคลื่อนของเล่นเพื่อล่อให้เขาลากสายตาตาม หรือจะใช้ของเล่นเดิม ทำให้เกิดเสียงเพื่อเรียกความสนใจจากเขาก่อนก็ได้
หรือถ้าเจ้าหนูชอบหยิบของใส่ปาก นั่นแสดงว่ามีพัฒนาการที่เด่นด้านประสาทผิวสัมผัส (เนื่องจากเด็กวัยหนึ่งขวบ จะมีประสาทสัมผัสทางผิวที่ลิ้นชัดเจนกว่าอวัยวะส่วนอื่น) คุณควรหาของเล่นที่สามารถนำเข้าปากได้อย่างปลอดภัย และมีผิวสัมผัสที่จะทำให้เจ้าหนูรับรู้ และเรียนรู้ได้ผ่านทางลิ้น เมื่อเจ้าหนูหยิบใส่ปากเคี้ยวจนติดใจในของเล่นนั้นแล้ว ลองเล็งหาโอกาสเมื่อเขาปล่อยมือ แล้วหยิบเคลื่อนย้ายไปมาซ้ายขวา หน้าหลัง เท่านี้ คุณก็สามารถกระตุ้นทักษะการใช้สายตาของเขาได้แล้ว
3. เน้นกระตุ้นที่จุดเด่นของลูก
เด็กแต่ละคนมีลักษณะ และความต้องการที่แตกต่างกัน บางครั้งประสบการณ์ใหม่อาจสร้างความกลัวให้กับเด็กคนหนึ่ง ขณะที่เด็กอีกคนกลับรู้สึกสนุกกับสิ่งนั้นก็ได้ คุณจึงไม่ควรเปรียบเทียบ และดึงดั้นที่จะทำให้ลูกทำได้เหมือนเด็กคนอื่น เช่น ถ้าลูกน้อยของคุณตกใจ และรู้สึกกลัว เมื่อเห็นตุ๊กตาเด้งดึ้งขึ้นมาจากกล่อง ขณะที่เด็กอีกคนกลับรู้สึกสนุกสนาน และหัวเราะชอบใจ คุณไม่ควรไปเหมาเอาว่าลูกมีพัฒนาการที่แย่กว่าเด็กคนนั้น
ขณะเดียวกัน การตอบสนองที่แตกต่างกันนี้ จะเป็นตัวชี้ให้คุณรู้ว่าควรใช้วิธีไหนในการแนะนำประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกน้อย
4 เทคนิค ช่วยลูกให้ถึงเส้นชัย
1. ดึงความสนใจ แล้วเสริมการเรียนรู้ เด็กช่วงวัยขวบปีแรก และเด็กวัยเตาะแตะมีสัญชาติญาณของการอยากรู้อยากเห็นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และไม่ชอบอยู่นิ่ง แต่จะซุกซนไปตามประสา ถ้าคุณต้องการให้ลูกเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เช่น หยิบลูกบอลที่คุณกลิ้งไปให้ได้ คุณก็ควรส่งเสียงเรียกให้เขาได้รู้ตัว และเล็งความสนใจมาที่ลูกบอลเสียก่อนที่จะกลิ้งออกไป
2. ชื่นชม เพื่อสร้างกำลังใจ เชื่อหรือไม่ว่า ลูกน้อยของคุณสัมผัสได้ถึงความรู้สึกต่างๆ จากสีหน้าของคุณ ขณะที่เขากำลังพยายามฝึกฝนทักษะใหม่ๆ อยู่ หากคุณแสดงอาการผิดหวังออกมา เมื่อเขาเกิดทำพลาดขึ้น เจ้าหนูจะรู้สึกได้ และไม่อยากฝึกใช้ทักษะนั้นอีกต่อไป ดังนั้น ถ้าหากอยากให้เจ้าหนูเก่งกล้า ก็ต้องหมั่นให้กำลังใจเขาบ้างนะคะ
3. สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อการเรียนรู้ นั่นเพราะคำอุทานประเภท “อย่านะ.. ลูก!” เป็นคำพูดที่หยุดความอยากรู้อยากเห็นของเด็กได้อย่างชะงัดเลยทีเดียว ขณะที่เจ้าหนูวัยนี้ จำเป็นต้องซุกซนจับโน่น หยิบนี่ขึ้นมาสัมผัสเพื่อการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะต้องพูดคำนี้ออกมา คุณควรดูแลสภาพแวดล้อมรอบตัวเขาให้ปลอดภัยจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งปวงจะดีกว่าค่ะ
4. ช่วยแง้มประตูชัยให้ลูกบ้าง วิธีช่วยเหลือลูกน้อยที่สร้างสรรค์ คือการช่วยให้เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ค่ะ คุณแม่ควรหาจังหวะดีๆ เปิดโอกาสให้เจ้าหนูได้โชว์ความสามารถของตัวเองบ้าง แม้จะเป็นเพียงสิ่งเล็กน้อย แต่ทราบหรือไม่ว่า สร้างความฮึกเหิมให้กับเขาได้ไม่น้อยเลย ยกตัวอย่างนะคะ ขณะที่เขากำลังนั่งฟังนิทานจากคุณบนตัก ลองใช้นิ้วสอดคั้นหน้าต่อไปให้เปิดช่องแง้มเอาไว้ เมื่ออ่านจบหน้า ก็เรียกให้เจ้าหนูเป็นผู้เปิดหน้าต่อไปเอง เจ้าหนูจะเปิดได้อย่างง่ายดาย นั่นก็เพราะคุณแม่คนเก่งแอบเอานิ้วสอดเพื่อแง้มให้เขาเอาไว้แล้ว แค่นี้ เขาก็รู้สึกภูมิใจในตัวเองเล็กๆ แล้วล่ะค่ะ
23 ส.ค. 2567
19 พ.ค. 2566