จัดบ้านให้ปลอดความเครียด

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

โลกภายนอกเต็มไปด้วยการแข่งขัน ทำให้เราต้องแบกรับเอาความเครียดกลับมาปลดปล่อยที่บ้านเสมอ ลองคิดดูซิ ถ้าสมาชิกทุกคนในบ้านต่างก็เป็นเช่นนี้ อะไรจะเกิดขึ้น ในบ้านของคุณคงจะเป็นแหล่งศูนย์รวมความเครียดน่ะซิ! 

ทุกคนต่างก็คงอยากให้บ้านเป็นแหล่งพักพิงยามเมื่อปีกหักมาจากข้างนอก เมื่อเป็นอย่างนี้ เรามาจัดระเบียบบ้านให้เป็นแหล่งปลอดความเครียดกันดีกว่า

จะจัดบ้านอย่างไรให้ปลอดความเครียด? ไม่ยากเลย คุณลองหลับตานึกภาพดูว่าสภาพแวดล้อมของบ้านลักษณะใดที่จะทำให้จิตใจของคุณสงบเย็นขึ้นมาได้บ้าง?  ขอเดานะ.. บ้านหลังนั้นต้องมีการจัดวางของไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ดูสะอาดตา มีร่มเงาของต้นไม้และเสียงเพลงกล่อมเบาๆ ที่สำคัญคือทุกครั้งที่คุณเหนื่อยล้ามาจากข้างนอก จะต้องมีสมาชิกในบ้านอย่างน้อยหนึ่งคนที่พร้อมจะทำให้หัวใจของคุณชุ่มเย็นขึ้นมาได้บ้าง เรามีวิธีทำให้บ้านของคุณมีลักษณะแบบนี้ ไปดูกัน...

1.หากล่องใส่สัมภาระของทุกคน  ก่อนอื่นคุณคงต้องเริ่มจากการจัดบ้านให้ดูเป็นระเบียบก่อน อันนี้ล่ะที่เป็นปัญหาหนัก เคยไหม ที่คุณจะลุกขึ้นมาเก็บข้าวของเรียงให้เป็นระเบียบแล้วตั้งปฏิภาณเอาไว้ว่าจะเก็บของทุกอย่างเข้าที่ในทุกครั้งที่หยิบออกมาใช้งาน แต่เมื่อเวลาผ่านไปได้ไม่นานทุกอย่างก็ออกมากองเรี่ยราดอยู่ตามที่ต่างๆ อีกตามเคย ยิ่งถ้าหากคุณมีลูกตัวน้อยๆ ด้วยแล้วล่ะก้อ อย่าได้ไปนึกถึงเชียว ถ้าหากคุณเองก็กำลังประสบปัญหานี้อยู่ ลองหากล่องเปล่ามาไว้ให้พอดีกับจำนวนสมาชิกในบ้านของคุณดูซิ เมื่อเวลาจะเก็บกวาดทำความสะอาดบ้านที คุณก็ไม่ต้องไปนั่งเรียงข้าวของเหล่านั้นหรอก จับหยิบใส่ในกล่องนั่นแหละ ของใครของมัน ของพ่อ ก็ของพ่อ ของลูกก็ของลูก จากนั้นก็ให้แต่ละคนนำของในกล่องไปจัดวางในที่ของตัวเอง เท่านี้บ้านของคุณจะดูเป็นระเบียบโดยคุณไม่ต้องเหนื่อยแรงมากด้วย

2.จัดการกับของที่ตัดใจทิ้งไม่ลง  หากหมุนตัวรอบบ้านหนึ่งครั้ง คุณจะเห็นว่ามีของหลายชิ้นที่ครั้งหนึ่งคุณเคยจ่ายตังค์ซื้อมาเพียงเพราะความอยากได้ แต่เมื่อได้มาแล้วก็กลายเป็นของสะสมที่เพิ่มความรุงรังบ้าน กลายเป็นภาระให้ต้องมานั่งทำความสะอาด หาที่เก็บให้ยุ่งยาก ฉะนั้นวิธีการหนึ่งที่จะหยุดไม่ให้บ้านรกรุงรังมากไปกว่านี้ก็คือเลิกขนข้าวของที่ไม่จำเป็นเข้าบ้านซะที จากนั้นค่อยลงมือเก็บกวาดของที่มีอยู่ นำทั้งหมดมากองรวมกันที่กลางบ้าน 

หากล่องเปล่ามาสัก 4 ใบ เขียนไว้ข้างกล่องว่า “ทิ้ง” สำหรับของแตกหักที่ใช้การไม่ได้แล้ว หรือไม่มีประโยชน์อะไร “บริจาค” สำหรับข้าวของที่ยังดีอยู่แต่ไม่ต้องการแล้ว “ซ่อม” สำหรับสิ่งที่มีประโยชน์ แต่ต้องซ่อม และ  “ทำใจไม่ได้” สำหรับของที่คุณเองก็ทราบดีว่าควรทิ้งแต่ยังตัดใจไม่ได้ จากนั้นก็ค่อยๆ หยิบของขึ้นมาทีละชิ้นแล้วลองถามตัวเองว่าควรวางของชิ้นนั้นลงในกล่องใบไหนดี จากนั้นก็นำของแต่ละกล่องไปจัดการตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ส่วนกล่อง “ทำใจไม่ได้” อนุญาตให้เก็บเอาไว้ก่อน แล้ววันหลังที่คุณตัดใจได้แล้วค่อยมาคัดกรองใหม่อีกครั้งก็ได้



3. แบ่งงานกันทำ  หากคุณไม่อยากหัวเสีย คิดรำคาญใจว่าทำไมตัวเองต้องเหนื่อยอยู่คนเดียว กลับจากที่ทำงานก็ต้องมาทำงานบ้านอีก อย่ากระนั้นเลย เรียกประชุมพลแล้วร่วมกันเขียนรายการออกมาเลยว่างานบ้านที่ต้องทำมีอะไรบ้าง แบ่งไปให้ชัดว่างานไหนต้องทำทุกวัน งานไหนเป็นรายอาทิตย์ หรือรายเดือน แล้วถามความสมัครใจว่าใครอยากอาสาทำอะไรบ้าง วิธีการนี้ยังเป็นการปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการทำงานบ้านให้กับลูกของคุณอีกด้วย เขาจะเรียนรู้การจัดลำดับความสำคัญของงาน ความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ที่สำคัญ พ่อของเขาเองก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กได้รู้ว่า งานบ้านเป็นภาระที่ทุกคนต้องช่วยกันทำ

4.กระดานเชื่อมสัมพันธ์  ทำกระดานข่าวภายในบ้านขึ้นมาสักแผ่น ขีดเป็นตารางวันจันทร์-อาทิตย์ จากนั้นให้ทุกคนในบ้านลงบันทึกไว้ว่าใครมีธุระที่ไหน วันอะไร กำหนดเอาไว้เลยว่าของใครสีประจำตัวอะไร เพื่อง่ายต่อการดู ในช่วงแรกๆ กระดานนี้อาจเป็นเหมือนตารางนัดหมายรวมของทุกคนในบ้าน แต่ต่อๆ ไป กระดานนี้จะกลายเป็นข่าวคราวสำหรับติดตามความเคลื่อนไหวของทุกคน เผลอๆ อาจกลายเป็นที่ที่คุณ และสมาชิกในครอบครัวเขียนบอกเล่าสิ่งต่างๆ ที่อยากจะบอกกล่าวกันก็ได้

5.ทิ้งเอาไว้ที่ทำงานนั่นแหละ  นี่ล่ะคือประเด็นสำคัญสุด เพราะไม่ว่าคุณจะจัดบ้านเอาไว้ให้ร่มรื่นเพียงใดก็ตาม หากทุกครั้งคุณพกพาเอาความหงุดหงิดใจจากที่ทำงานกลับมาด้วยทุกครั้ง ก็คงไม่มีสมาชิกคนใดในบ้านที่จะทนเป็นฝ่ายปลอบประโลมคุณได้ทุกครั้งไป เพราะฉะนั้น ก่อนกลับมาบ้านคุณควรปรับสภาพจิตใจของคุณให้สงบลงเสียก่อน 

เลิกงานอย่าเพิ่งรีบลุกออกจากโต๊ะทำงานทันที ลองหยิบจับเตรียมงานสำหรับวันรุ่งขึ้นโดยเลือกจากงานที่มีความสำคัญสุดที่ต้องทำให้เสร็จโดยเร็ว จากนั้นลำดับต่อไปก็ให้พิจารณางานที่มีความยากมาทำต่อ ทั้งนี้ก็เพื่อความสำเร็จในวันรุ่งขึ้น ระหว่างเดินทางกลับบ้านก็ให้คิดถึงความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ในช่วงวันที่ผ่านมา ความสำเร็จแม้เพียงเล็กน้อยก็ทำให้หัวใจของคุณกระชุ่มกระช่วยพอสำหรับวันใหม่แล้วล่ะ 

บางครั้ง หากเราปล่อยให้ความเครียดครอบงำสมาชิกทุกคนในบ้าน ก็จะทำให้บ้านร้อนเป็นไฟจนเผาผลาญความรักให้มอดไหม้ไปได้เช่นกัน แต่ถ้าบ้านมีสภาพแวดล้อมร่มเย็นพอชะลอความร้อนแรงทางอารมณ์ของคุณได้ คุณก็จะมีเวลาหยุดคิดได้ว่าเรื่องราวต่างๆ สามารถรอจนถึงพรุ่งนี้ได้ และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทุกอย่างมีทางออกเสมอ 


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้