Planning to Breastfeed? Prepare to succeed

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

หนึ่งในคำถามที่ผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่ถูกถามมากที่สุดคำถามหนึ่งก็คือ “หากตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง” หากเป็นความเชื่อแบบโบราณ ก็ว่าต้องคอยบีบหัวนม ยิ่งหากหัวนมสั้นก็อาจต้องดึง เพื่อให้พร้อมที่ลูกจะดูด แต่หลักฐานทางการแพทย์หลายชิ้นได้พิสูจน์แล้วว่าการเตรียมพร้อมด้วยวิธีนี้ไม่จำเป็นเท่าใดนัก ในทางกลับกัน หากต้องการจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ประสบความสำเร็จ มีอีกหลายสิ่งคุณต้องทำ โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์นี้

เตรียมให้พร้อม สำคัญอย่างไร?
ข้อมูลจากหนังสือ The Surgeon General's Call to Action to Support Breastfeedingซึ่งออกโดย U.S. Departments of Health & Human Services นำเสนอผลการวิจัยที่ระบุว่า แม่ตั้งครรภ์ที่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ก่อนคลอด มีโอกาสที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จ มากกว่าว่าที่คุณแม่ที่ไม่มีความรู้หรือเตรียมพร้อมมาก่อนเลย เพราะว่าที่คุณแม่ที่ขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาจรู้สึกกลัวว่าการให้นมลูกอาจทำให้เจ็บเต้านม หรือกลัวว่าจะมีน้ำนมไม่พอ ทำให้คุณแม่กลุ่มนี้ตัดสินใจที่จะใช้นมผงเลี้ยงลูกแทนนมแม่

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ระบุว่า การเตรียมความพร้อมด้วยการลงมือปฏิบัติจริง เช่น การเข้าอบรมเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะช่วยสร้างพื้นฐานความเข้าใจที่ดี ที่จะทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จได้ ทั้งนี้ คอร์สเตรียมความพร้อมคุณแม่ก่อนคลอดส่วนใหญ่ มักให้ความรู้เรื่องพฤติกรรมของทารกแรกเกิด การดูแลตนเองและลูกน้อยหลังคลอด และให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทำให้คุณแม่มือใหม่พอคาดเดาได้ว่าต้องเจอกับสถานการณ์ประมาณใดหลังคลอด ซึ่งช่วยให้เตรียมพร้อมรับมือได้ง่ายขึ้น

งานวิจัยจากประเทศสเปนเรื่อง Antenatal Education and Breastfeeding in Cohort of Primiparas โดย Isabel Artieta-Pinedo พบว่า 90% ของหญิงตั้งครรภ์ที่เข้าคอร์สเตรียมพร้อมก่อนคลอด หรือคอร์สให้ความรู้เรื่องนมแม่ มีแรงจูงใจที่ดีในการให้นมลูกในช่วงเดือนแรกหลังคลอด ในขณะที่ว่าที่คุณแม่ที่ไม่เคยเข้าคอร์สอบรมเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีความเสี่ยงที่จะล้มเลิกความตั้งใจในการให้นมลูกสูงกว่าถึง 3 เท่า

เตรียมตัวอย่างไร พร้อมให้นมลูก
สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ตอนนี้ และมีความตั้งใจว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่ารอช้าค่ะ ได้เวลามาเตรียมความพร้อมกันแล้ว

  • วางแผนการคลอด และแจ้งให้แพทย์ที่รับฝากครรภ์ทราบว่าคุณตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ขอความร่วมมือโรงพยาบาลหลังคลอดว่าไม่นำจุกนมยาง หรือป้อนนมจากขวดให้กับลูกเด็ดขาด นอกจากมีความจำเป็นทางการแพทย์ ที่แพทย์เป็นผู้ระบุและควรแจ้งให้คุณทราบก่อน
  • เลือกการคลอดธรรมชาติ แม้ว่าในปัจจุบันโดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชน มักจะนิยมนัดผ่าท้องคลอด ไม่ว่าจะเพราะฤกษ์งามยามดีหรือฤกษ์สะดวก แต่หากคุณตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว การคลอดตามธรรมชาติจะช่วยให้คุณให้นมลูกได้ง่ายขึ้น เพราะไม่เพียงคุณแม่จะฟื้นตัวเร็ว แต่การคลอดธรรมชาติน้ำนมยังมาเร็วกว่าการผ่าคลอดอีกด้วย แต่หากจำเป็นต้องผ่าคลอดจริงๆ ขอให้นำลูกเข้าเต้าทันที ก็จะช่วยเร่งให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้ดีขึ้น
  • หาความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าคอร์สอบรม หรือค้นคว้าข้อมูลด้วยตัวเอง หากมีข้อสงสัย อย่ารีรอที่จะปรึกษาผู้ชำนาญการ ปัจจุบันตามโรงพยาบาลมีศูนย์นมแม่ ที่มีผู้เชี่ยวชาญคอยตอบคำถามและให้ความรู้แก่คุณแม่มือใหม่ ซึ่งถือเป็นแหล่งข้อมูลที่ดี และอาจทำให้ว่าที่คุณแม่ได้พบเจอกับบรรดาแม่ๆ ที่ร่วมแบ่งปันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ได้
  • เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม เมื่อกายพร้อม ใจพร้อมแล้ว เรื่องอุปกรณ์ซึ่งจะเป็นตัวช่วยให้คุณเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จ ก็จำเป็นไม่น้อยไปกว่ากันค่ะ สิ่งที่คุณต้องเตรียมก่อนคลอด เช่น เสื้อชั้นในสำหรับให้นมอย่างน้อย 2 ตัว แผ่นกันน้ำนม เสื้อสำหรับให้นมลูก ครีมลาโนลินบริสุทธ์ 100% เพื่อป้องกันหัวนมแตก และเครื่องปั๊นน้ำนม หากเป็นไปได้ควรเลือกแบบปั๊มคู่อัตโนมัติ ซึ่งช่วยประหยัดเวลาได้เป็นอย่างดี

Did you know?
งานวิจัยเมื่อปี 2004 เรื่อง Breast-feeding problems after epidural analgesia for labour: a retrospective cohort study of pain, obstetrical procedures and breast-feeding practices พบว่า 67% ของคุณแม่ที่คลอดด้วยการบล๊อคหลัง เลี้ยงลูกด้วยนมผงเสริมนมแม่ และบางส่วนเลี้ยงลูกด้วยนมผงอย่างเดียว ในช่วง 3 เดือนแรก ขณะที่คุณแม่ที่ไม่ได้บล็อกหลัง ใช้นมผงเลี้ยงลูกเพียง 29% นอกจากนี้การวิจัยยังพบว่า คุณแม่ที่คลอดด้วยการบล๊อคหลังมีรายงานว่ามี “น้ำนมไม่เพียงพอ” มากกว่าอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้