สังเกตเห็นว่าลูกกังวล พ่อแม่สามารถช่วยลูกยังไงได้บ้าง

Last updated: 15 มี.ค. 2566  | 


"โรควิตกกังวลในเด็ก" ถือเป็นอาการทางจิตเวชรูปแบบหนึ่ง สามารถเกิดขึ้นกับเด็กๆได้เหมือนกับผู้ใหญสำหรับลักษณะอาการที่ปรากฏอาจแสดงออกมา ในรูปแบบอารมณ์หงุดหงิด ปวดหัว ปวดท้อง ส่วนสาเหตุก็อย่างเช่น การไปเรียนวันแรก การไปเจอเพื่อนใหม่ การแข่งขัน ความกดดันจากการเรียน ซึ่งอาการเหล่านี้จะค่อยๆดีขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปค่ะ

จริงๆแล้ว การรับมือกับความกังวลของเด็กแต่ละคนนั้น จะรับมือได้ดีมากหรือน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับพื้นฐานจิตใจของเด็กแต่ละคนด้วยค่ะ หากสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดูของพ่อแม่สร้างอบอุ่นและแข็งแรงในจิตใจของเด็กได้ เขาก็จะสามารถจัดการกับความกังวลและแปลเปลี่ยนเป็นพลังบวกได้ ในขณะเดียวกัน หากความกังวลมีมากเกินไปจนกระทบการใช้ชีวิตของเด็ก รวมถึงยังส่งผลกระทบไปยังสภาพร่างกายด้วย นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนโรควิตกกังวลอยู่ก็ ซึ่งพ่อแม่ไม่ควรมองข้ามค่ะ

  เทคนิคสร้างภูมิคุ้มกัน
• เวลา เป็นสิ่งที่เงินไม่สามารถซื้อได้ แต่กลับมีค่ามาก ดังนั้นอยากให้พ่อแม่แบ่งเวลาคุณภาพมาให้กับลูกๆ อาจเพียงแค่ 15-30 นาทีต่อวัน ทำในสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขด้วยกัน

• ทัศนคติ เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตและจัดการสมดุลชีวิตมากๆ ซึ่งการจะฝึกให้ลูกมีทัศนคติที่ดี มองโลกในด้านดี พ่อแม่จำเป็นจะต้องทำเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น แล้วค่อยๆซึมซับพฤติกรรมเหล่านั้น


  พ่อแม่สามารถช่วยลูกให้เรียนรู้การจัดการความกังวลได้ยังไงบ้าง
1. ชวนคุยแบบเป็นกันเอง เมื่อพ่อแม่สังเกตเห็นว่าลูกดูเงียบไป อาจจะเกิดอะไรขึ้น หรือลูกกำลังมีอะไรไม่สบายใจหรือเปล่า วิธีนี้ถึงแม้ลูกจะยังไม่เปิดใจบอกความกังวลให้พ่อแม่ทราบ แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้ลูกรู้สึกว่า พ่อแม่สังเกตและใส่ใจความรู้สึกของเขาอยู่เสมอ

2. ถ้าลูกเปิดใจคุย อยากให้พ่อแม่รับฟังอย่างใส่ใจ ให้เวลาลูกคุยเท่าที่ลูกต้องการเลย เพราะลูกคงต้องใช้เวลาในการคุยเรื่องนี้กันพอสมควรทีเดียว อยากให้พ่อแม่ฟังด้วยหัวใจ ไม่ตัดสิน และไม่รีบสอน เปิดโอกาสให้ลูกได้ระบายความในใจออกมาให้หมดก่อน

3. ให้ลูกได้ฝึกซ้อมทักษะการแก้ปัญหา สมมติว่าความกังวลเกิดจากการที่ลูกจะต้องนำเสนอหน้าชั้นเรียน ให้ลองซ้อมนำเสนอให้พ่อแม่ฟังก่อน เพื่อเพิ่มความคล่องแคล่ว และหากลูกทำผิดพลาดก็ขอให้เชื่อมั่นและให้โอกาสตัวเองเริ่มต้นใหม่ ที่สำคัญพ่อแม่อย่าลืมชื่นชมในความพยายามทำให้ดีขึ้นของลูกด้วยค่ะ

4. ปลอบโยนและเป็นที่พึ่งทางใจ บางครั้งเด็กกังวลมากจนการพูดคุยอาจจะไม่ช่วยบรรเทาอารมณ์ที่ท่วมท้น ให้เปลี่ยนมาใช้ การกอด สัมผัส การจับมือ การนวดเบาๆเพื่อลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ หรือกระทั่งใช้เวลาเงียบๆอยู่ด้วยกัน ในบรรยากาศที่สงบ ให้ลูกรับรู้ว่าพ่อแม่อยู่ตรงนี้กับลูกเสมอ จะช่วยให้เขาสบายใจและผ่อนคลายขึ้น นอกจากนั้นยังจะช่วยลูกให้เรียนรู้ที่จะอยู่กับความกังวลและรู้จักใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ ลูกจะค่อยๆเกิดความมั่นคงทางใจ ไม่กลัว ไม่หลีกเลี่ยง กล้าเผชิญหน้าความกังวลและมีทักษะในการแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ดีขึ้น

5. ช่วยลูกคิดหาวิธีจัดการสิ่งที่่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวภายนอกหรือความกังวลในใจ แต่อย่ารีบเข้าไปทำแทนลูก ปล่อยให้ลูกได้คิดและทำเอง เด็กจะรู้สึกภูมิใจในความสามารถของตัวเองมากกว่า


แต่หากสังเกตเห็นว่าลูกมีความกังวลมากจนไม่มีความสุข หมกมุ่นกับความกังวลจนไม่อยากทำอะไร หลีกเลี่ยงในสิ่งที่ทำให้กังวลจนเกิดผลกระทบชีวิตด้านอื่น เช่น ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากออกนอกบ้าน ไม่อยากเล่นกับคนอื่น เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ควรพาลูกปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินอาการของลูก เพื่อหารักษาอาการต่อไปค่ะ


Cr: https://navavej.com/articles/18823

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้