นอนเกิน...โรคที่ทำให้มีความสุข แต่เต็มไปด้วยความเสี่ยง

Last updated: 28 ก.พ. 2566  | 

มีงานวิจัยระบุว่า ระยะเวลาในการนอนที่มากเกินไป สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายได้ค่ะ หากสังเกตตัวเองแล้วพบว่าเป็นคนขี้เซา ใช้เวลานอนเยอะมากผิดปกติ รวมถึงหลังจากตื่นนอนแล้วก็ยังง่วงอยู่ อยากจะนอนต่อ นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของ ‘โรคนอนเกิน’ (Hypersomnia) ได้ค่ะ



โรคนอนเกิน (Hypersomnia) เป็นโรคที่หลับเกินพอดี ขี้เซา นอนเท่าไรก็ไม่พอ ง่วงนอนตลอดเวลา งีบหลับระหว่างวันหลายครั้ง แม้แต่ในเวลากินข้าว หรือพูดคุยกับคนอื่นก็ยังหลับได้ มีการนอนที่นานเกิน 8 ชั่วโมง โรคนี้ไม่ได้เกิดจากพฤติกรรม นิสัยเกียจคร้าน หรือบุคลิกภาพส่วนตัว แต่เกิดจากโรคทางกายหรือทางใจค่ะ


  สัญญาณของโรคนอนเกิน

• ตื่นนอนยากมาก
• นอนเท่าไรก็ไม่พอ รู้สึกง่วงนอนอยู่ตลอดเวลา
• หากมีอาการหนักมาก อาจงีบหลับได้ในสถานการณ์ที่ไม่ควรหลับ อย่างตอนทานข้าว หรือระหว่างทำงาน
• หงุดหงิดฉุนเฉียวง่ายกับเรื่องเล็กน้อย
• ความจำไม่ค่อยดี สมองไม่แล่น คิดอะไรไม่ออก
• วิตกกังวล หรือมีอาการซึมเศร้า

  ผลเสียจากการนอนมากเกินไป

• สมองทำงานช้า พอสมองทำงานช้า ความคิดความอ่านก็จะช้า รู้สึกเฉื่อยชา กลายเป็นคนไร้เรี่ยวแรง ไม่มีชีวิตชีวา

• อ้วนง่าย การนอนจะทำให้ระบบอาหารไม่ย่อย แม้จะกินน้อยแต่ระบบเผาผลาญไม่ทำงาน ร่างกายเริ่มสะสมไขมัน ซึ่งก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้

• มีบุตรยาก ผลจากการศึกษาผู้หญิงเกาหลีใต้ ในปี 2013 พบว่าผู้ที่นอนนานเกินวันละ 9 ชั่วโมงต่อวัน จะเกิด ‘ภาวะมีบุตรยาก’ กว่าคนที่นอน 7-8 ชั่วโมง ถึง 650 คน เพราะฮอร์โมนและรอบเดือนของผู้หญิงจะเป็นปกติก็ต่อเมื่อได้รับการพักผ่อนอย่างพอดี

• ตายเร็ว คนที่หลับง่ายและนอนนาน ๆ จะไม่ค่อยได้ขยับร่างกาย ส่งผลให้ออกซิเจนไม่ไปเลี้ยงร่างกาย ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตเร็วกว่าคนที่นอนอย่างพอดีถึง 1.3%

• โรคซึมเศร้า ในปี 2012 ได้มีการศึกษาผู้หญิงสูงวัยที่นอนมากกว่า 9 ชั่วโมง นั้นจะมีอารมณ์แปรปรวน สมองทำงานแย่ลงเพราะสารแห่งความสุขจะผลิตน้อยลง ซึ่งเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนที่นอนปกติถึง 49%


  5 วิธีจัดการอาการง่วงนอนตลอดเวลา

1. ตั้งเวลาเข้านอนไม่เกิน 4 ทุ่ม เพื่อให้ร่างกายมีเวลาพักผ่อนมากขึ้น เพราะปกติร่างกายของคนเราจะนอนหลับเป็นรอบ ถ้าเริ่มตั้งแต่เคลิ้ม ๆ สะลึมสะลือจนถึงขั้นหลับลึก จะกินเวลารอบละ 90 นาที คืนละ 5-6 รอบ ยิ่งนอนหัวค่ำก็จะทำให้เรามีโอกาสที่จะนอนได้หลับลึกมากยิ่งขึ้น

2. กำหนดตารางเข้านอน และตื่นนอนเวลาเดียวกันทุก ๆ วัน ติดต่อกัน 28 วัน ร่างกายจะสร้างระบบนาฬิกาชีวิตของตัวเราเองขึ้นมาใหม่ จะตื่นได้เองอย่างสดชื่นโดยไม่ต้องใช้นาฬิกาปลุก

3. จัดห้องนอนให้โปร่ง อากาศระบายได้ดี ร่างกายที่ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอจะทำให้สมองเซื่องซึม และง่วงนอนตลอดเวลา

4. ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ สร้างออกซิเจนในเลือดให้มากขึ้น และยังทำให้ร่างกายแอ็คทีฟด้วย

5. งดอาหารแปรรูปและ น้ำอัดลม แป้งขัดขาว เบเกอรี่ ซึ่งทำให้น้ำตาลในเลือดไม่ปกติ ร่างกายคุมไม่ได้ ทำให้ง่วง เนือย ตอนที่ระดับน้ำตาลตก

การพักผ่อนเป็นสิ่งสำคัญ แต่ถ้ามากเกินไปนั้นก็ย่อมมีผลเสียร้ายแรงที่ตามมามากกว่าผลดีแน่นอนค่ะ

Cr: www.princsuvarnabhumi.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้