“ความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก” ส่งผลต่อความสุข และการเรียนรู้

Last updated: 6 ต.ค. 2565  | 

 

ก่อนอื่นต้องความเข้าใจก่อนว่า “ความอยากรู้อยากเห็น” นั่นต่างจาก “ความสอดรู้สอดเห็น” เพราะอยากแรกหมายถึงความอยากรู้ในเรื่องที่มีผลต่อชีวิต เช่น อยากรู้เพื่อเพิ่มความรู้ใหม่ อยากรู้เพื่อแก้ปัญหา อยากรู้เพื่อเข้าอกเข้าใจคนอื่น หรืออยากรู้เพื่อพัฒนา แต่น่าเสียดายที่ความยากรู้อยากเห็นนั้นลดลงเรื่อยๆ ตามอายุ ทั้งๆที่ความอยากรู้อยากเห็นเปรียบเหมือนบันไดพาเราก้าวไปสู่โอกาสในหน้าที่การงานและประสบความสำเร็จในชีวิต (เคยถามตัวเองมั้ยคะว่า ทำไมพอโตขึ้น เราถึงอยากรู้อยากเห็นน้อยลง)


จึงไม่แปลกที่เด็กๆ จะอยากรู้อยากเห็นสิ่งต่างๆ แล้วแสดงผ่านการตั้งคำถามว่า “ทำไม” เพราะพวกเขายังไม่ได้ผ่านโลกมามากเท่าผู้ใหญ่ ยังไม่รู้ว่าเหตุและผลของสิ่งต่างๆ คืออะไร นั่นจึงทำให้เด็กๆ เกิดการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา


สำหรับคนที่มีความอยากรู้อยากเห็น มักจะได้พบเจอประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้สมองหลั่งสารสื่อประสาทชื่อ โดพามีน (Dopamine) มากขึ้น ซึ่งสารนี้จะทำให้เรารู้สึกดี นอกจากนั้นโดพามีนไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความสุข ความพึงพอใจ แต่ยังไปกระตุ้นความต้องการให้เราอยากทำกิจกรรมนั้นเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย


ข้อดีของการอยากรู้อยากเห็น

·      มีความพึงพอใจในชีวิตมากกว่า

·      คุณภาพชีวิตดีขึ้น

·      ประสบความสำเร็จทางการศึกษามากกว่า

·      มองเรื่องที่ยากและซับซ้อนให้กลายเป็นความสุขได้

·      มีความสัมพันธ์และเข้าอกเข้าใจคนอื่นมากกว่า 

·      ช่วยทำให้สมองกระชุ่มกระชวย

·      ระดับความกระวนกระวายใจต่ำ


พ่อแม่จะสามารถกระตุ้นลูกได้อย่างไร?

ความอยากรู้อยากเห็นเป็นลักษณะนิสัยโดยรวมของคนช่างสังเกต ช่างซักถาม ใคร่รู้และไม่มีทางล้มเลิกที่จะหาคำตอบตราบใดที่เรื่องที่อยากรู้อยากเห็นนั้นยังค้างคาใจอยู่ คนที่มีนิสัยเช่นนี้จึงมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะความอยากรู้อยากเห็นจะพาไปสู่ความรู้และความเข้าใจ โดยเฉพาะถ้าเรื่องนั้นเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของตัวเอง


เตรียมสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม
สิ่งแวดล้อมที่ว่าจะต้องส่งเสริมให้เด็กๆ เกิดการเรียนรู้ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รวมไปสร้างความเข้าใจในเรื่องของความผิดพลาด ว่าเป็นเรื่องที่ปกติ(มาก) ทุกความผิดพลาดนั้นก็สามารถแก้ไขได้ และการเรียนรู้จากเรื่องที่ทำผิดพลาดนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าคำถามว่า “ทำไมถึงผิดพลาด”


ฝึกให้เด็กฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ
โดยปกติคนเรามีแนวโน้มจะตัดสินคนอื่นได้ง่ายๆ ตามอคติ โดยไม่เปิดใจรับฟังและคิดถึงเหตุผลอย่างรอบคอบ ซึ่งการฟังอย่างตั้งใจนี้ช่วยกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นในจุดยืนของคนอื่นได้


ฝึกตั้งคำถามที่เหมาะสม
เด็กที่ถูกฝึกหัดตั้งคำถามและได้มีโอกาสได้ตั้งคำถามบ่อยๆ จนเป็นนิสัย จะส่งเสริมให้เด็กๆมีความอยากรู้อยากเห็น และไม่หยุดที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่


ให้ลองทำอะไรใหม่ๆ
อาจเป็นการพาไปเที่ยวในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ไปเล่นกับเพื่อนกลุ่มใหม่ ไปทำกิจกรรมที่ไม่เคยทำ ดูหนังที่ไม่เคยดู หรือเรียนรู้ภาษาใหม่


พ่อแม่ต้องหมั่นกระตุ้น ส่งเสริมสมองของลูกอยู่ตลอด ไม่ปล่อยให้ความอยากรู้อยากเห็นของลูกลดน้อยลงเมื่อเขาเติบโตขึ้นนะคะ

พักสายตา ฟังบทความนี้แบบ Audiobook คลิกเลยค่ะ

 

 

 

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้