Last updated: 6 ต.ค. 2565 |
ทักษะ EF หรือ Executive Functions ทักษะการบริหารจัดการตนเองขั้นสูง เป็นกระบวนการทางความคิดระดับสูงของสมองส่วนหน้าที่มีความเกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึก นอกจากนั้น นักกิจกรรมบำบัดเด็กให้ข้อมูลว่า EF มีความสัมพันธ์กับความพร้อมทางการเรียนและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระยะยาว
ทักษะ EF มีทั้งหมด 9 ด้าน โดยแบ่งออกเป็นทักษะพื้นฐาน (Basic) 3 ด้าน และทักษะสูง (Advance) 6 ด้าน
ทักษะพื้นฐาน (Basic)
1. Working Memory ความจำเพื่อใช้งาน: ความสามารถในการเก็บข้อมูลเพื่อประมวลผลและดึงข้อมูลที่เก็บในคลังสมองออกมาใช้ในสถานการณ์ที่ต้องการ
2. Inhibitory Control ยั้งคิด ไตร่ตรอง: ความสามารถในการยั้งคิดไตร่ตรอง สามารถควบคุมความต้องการ หยุดคิดก่อนที่จะทำหรือพูดได้
3. Cognitive Flexibility ยืดหยุ่นความคิด: ความสามารถในการยืดหยุ่นทางความคิด ร่วมแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน รู้จักพลิกแพลงและปรับตัว เป็นจุดเริ่มต้นของการมีความคิดสร้างสรรค์และคิดนอกกรอบ
ทักษะสูง (Advance)
4. Focus หรือ Attention จดจ่อ ใส่ใจ: ความสามารถในการใส่ใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ โดยไม่วอกแวก รู้จักการทำงานให้เสร็จเป็นอย่าง ๆ ไป
5. Emotional Control ควบคุมอารมณ์: ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จัดการกับอารมณ์ตนเองไม่ให้รบกวนผู้อื่น ไม่โกรธเกรี้ยว ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่ายเกินไป รู้จักแสดงอารมณ์อย่างถูกวิธี
6. Self – Monitoring ติดตาม ประเมินตนเอง: การประเมินตนเองเพื่อหาจุดบกพร่องแล้วนำมาแก้ไขและพัฒนาให้ดีขึ้น รู้จักไตร่ตรองว่าตัวเองทำอะไร รู้ว่าตัวเองทำอะไร และรู้ว่าใกล้จะเสร็จหรือเรียบร้อยแล้ว
7. Initiating ริเริ่มและลงมือทำ: ความสามารถในการริเริ่มและลงมือทำ กล้าคิดกล้าทำ ลงมือทำทันที ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง
8. Planning and Organizing วางแผน จัดระบบ ดำเนินการ: การวางแผนจัดการตนเองอย่างเป็นขั้นตอน ดำเนินการตั้งแต่วางเป้าหมาย มองเห็นภาพรวม รู้จักจัดลำดับความสำคัญ จัดระบบ ดำเนินการ และประเมินผล
9. Goal – Directed Persistence มุ่งเป้าหมาย: การวางเป้าหมายที่ชัดเจน มีความพากเพียรและความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมาย รู้จักฝ่าฟันอุปสรรค หากล้มต้องรู้จักลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย
ทำไมทักษะ EF จึงจำเป็น
มีหลักฐานทางการวิจัยที่ยืนยันว่า EF เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จตลอดช่วงชีวิตของคนเรา ไม่ว่าจะเป็นผลการเรียนที่ดี พฤติกรรมที่เหมาะสม สุขภาพจิต สุขภาพกาย รวมไปถึงการประสบความสำเร็จทางหน้าที่การงานในอนาคต โดยหากดูตามช่วงอายุแต่ละวัย EF จะช่วยในเรื่องต่างๆ ต่อไปนี้
ทักษะ EF คือรากฐานของความสำเร็จ
· เป็นเด็กความจำดี มีสมาธิจดจ่อได้นาน
· สามารถทำงานให้เสร็จตามกำหนดเวลาได้ รวมถึงมีผลสำเร็จที่ดี
· มีความยืดหยุ่นทางความคิด และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์
· ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี และมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลรอบข้าง
· เข้าใจและเห็นใจผู้อื่น
· รู้จักยับยั้งและควบคุมตนเองได้เป็นอย่างดี
· รู้จักอดทน รอคอย และแสดงพฤติกรรมได้อย่างเหมาะสม
· มีเป้าหมายชัดเจน
ทำอย่างไรเด็กถึงจะมีทักษะ EF ที่ดี
EF ไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิดแต่เป็นสิ่งที่สมองพัฒนาขึ้นได้ ซึ่งในวัยเด็กจะเป็นช่วงที่สมองพัฒนา EF มากสุด โดยเฉพาะช่วงอายุ 3-5 ปี และจะพัฒนาไปเรื่อยๆ จนเข้าสู่ช่วงผู้ใหญ่ตอนต้นจึงหยุดการเติบโต โดยสิ่งที่กระตุ้นให้สมองพัฒนา EF คือ ประสบการณ์ชีวิตที่ได้รับในช่วงวัยเด็ก การมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การได้มีโอกาสเรียนรู้ เล่น หรือทดลองสิ่งต่างๆ
ตัวอย่างของปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมทักษะ EF
• ความรักและสายสัมพันธ์ของพ่อแม่ คือฐานสำคัญที่สุดในการพัฒนาทักษะสมอง EF เริ่มที่เด็กรู้สึกปลอดภัย ไม่ว่าเขาจะหิว ล้ม เจ็บ จะมีคนรีบมาช่วยเขาเสมอ เมื่อนั้นเด็กถึงกล้าก้าวออกไปเรียนรู้โลก ทักษะต่างๆจึงพัฒนา
• สุขภาพร่างกายที่ดี ทั้งจากการกินอาหารที่มีประโยชน์ การนอนหลับที่เพียงพอ และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะทั้งหมดนี้จะช่วยพัฒนาและส่งเสริมการทำงานของสมอง
• ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสังคม การไปท่องเที่ยว หอศิลป์ ไปทำงานศิลปะ และการไปโรงเรียน
• ให้โอกาสลูกได้ลองผิดลองถูก ได้คิด แก้ไขปัญหา ลงมือทำ รับมือกับความผิดหวัง อดทนและพยายามทำตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้
• ให้เด็กได้ร่วมทำกิจกรรมกลุ่ม เด็กจะได้เรียนรู้การเข้าสังคม ทำงานร่วมกัน การประนีประนอม และการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
มาช่วงกันสร้างทักษะ EF ให้กับเด็กๆ กันค่ะ
พักสายตา ฟังบทความนี้แบบ Audiobook คลิกเลยค่ะ
ขอบคุณข้อมูล
:: https://www.bangkokhospital.com/content/executive-functions-develop-childrens-concentration
:: https://www.manarom.com/blog/EF_Executive_Function.html
19 พ.ค. 2566
23 ส.ค. 2567