บุลลี่ (Bullying) ภัยเงียบที่พ่อแม่ควรระวัง!

Last updated: 18 ก.พ. 2563  | 

มองในอีกมุมหนึ่งการที่มีการเผยแพร่ในโลกโซเชี่ยล อาจจะกลายเป็นดาบสองคม ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบเกิดขึ้นในกลุ่มของเด็กที่อยู่ในวัยอยากทดลอง เพื่อดูผลที่เกิดด้วยความสนุก สมใจที่ได้ลงมือทำจนฝ่ายที่โดนกระทำเป็นไปตามที่ตั้งใจไว้...เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็กที่เป็นฝ่ายกระทำและโดนกระทำ สังคมต่างรุมประณาม เพราะการประโคมข่าวที่ซ้ำเติมซ้ำ ๆ จนทำให้เด็กนั้นไม่มีที่ยืนในสังคม นี่แม่นะ!! มีคำถามกลับไปว่า...ใครจะเป็นคนรับผิดชอบชีวิต และอนาคตของเด็กเหล่านี้

“บุลลี่เป็นภัยเงียบที่พ่อแม่ควรระวัง!”...วันนี้คงเริ่มที่พ่อแม่ต้องคอยช่วยกันเฝ้าระวังไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นในกลุ่มเด็ก ๆ  นี่แม่นะ! เชื่อว่าพ่อแม่คงไม่อยากตื่นเช้ามาดูข่าวมีแต่การโปรยหัวข่าวที่ทำให้หดหู่ใจ 

#หวั่นเด็กที่ถูกเพื่อนกลั่นแกล้งในโรงเรียนจะมีภาวะซึมเศร้า แนะผู้ปกครองและครูต้องสอนเด็กให้สามารถดูแลป้องกันตัวเองจากการถูกกลั่นแกล้งได้และมีความเสี่ยงสูงที่จะกลายเป็นผู้รังแกคนอื่นในอนาคต

          กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการกลั่นแกล้ง รังแกในโรงเรียน (Bullying) ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น โดยมีการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นภาพประกอบว่ามีการกลั่นแกล้งกันในหลายรูปแบบ ทั้งการทำร้ายร่างกาย (ชกต่อย, ตบตี) ทางสังคมหรืออารมณ์ (แบ่งแยก, กดดัน) ทางวาจา (ดูถูก, เสียดสี) Cyberbullying (กลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์, โพสต์โจมตี, คุกคามทางเพศ) #วันที่ 19 ธันวาคม 2562


          ผลกระทบผู้ที่กลั่นแกล้งผู้อื่น อาจจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ติดแอลกอฮอล์หรือสารเสพติด มีพฤติกรรมลักขโมย เรียนไม่จบ มีพฤติกรรมทางเพศก่อนวัยอันควร อาจจะเป็นอาชญากรในอนาคต มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงกับคนใกล้ตัว
          ขณะที่ผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งจะมีภาวะซึมเศร้าที่อาจส่งผลไปถึงวัยผู้ใหญ่ รู้สึกโดดเดี่ยว และความวิตกกังวล มีปัญหาสุขภาพ ประสิทธิภาพทางการเรียนลดลง นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จะออกจากโรงเรียนกลางคัน ทั้งนี้ สำหรับวิธีรับมือเมื่อถูกกลั่นแกล้ง รังแก ให้ตั้งสติก่อน เดินจากไปอย่างสงบไม่ใส่ใจ อย่าให้ผู้แกล้งรู้สึกสนุกจากการตอบสนอง พยายามอยู่ในที่ปลอดภัยมีเพื่อนที่เข้าใจ มั่นใจในตัวเอง ไม่ใช้กำลัง และให้พูดคุยปรึกษาผู้ใหญ่

          ปัญหาเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งน่าจะมีมาก่อนโดยที่ครูไม่ทราบ เด็กที่รังแก อาจมีปัญหาสุขภาพจิต เช่น เกเร ดื้อ ต่อต้าน มีพฤติกรรมจุดไฟ การเลี้ยงดูปล่อยปละละเลย เสพสื่อรุนแรง อยากรู้อยากลอง ครู และพ่อแม่ผู้ปกครอง ควรมีการอบรมสั่งสอนเด็กให้รู้ว่า อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ สิ่งไหนที่ห้ามทำ สังคมไม่ยอมรับ มีการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้พวกเขาตั้งแต่วัยเด็ก โดยเฉพาะก่อนอายุ 10 ปี ซึ่งจะช่วยให้พวกเขามีความยับยั้งชั่งใจ แยกผิดชอบชั่วดีได้ ลดพฤติกรรมการเลียนแบบ ที่อาจทำให้เกิดความชินชากับความรุนแรงได้ (ที่มา:ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต)

          นี่แม่นะ! ยังนึกย้อนไปสมัยที่ไอ้ลูกชายยังเด็ก เป็นเด็กที่มีร่างกายตุ้ยนุ้ยมาตั้งแต่เกิด...สิ่งที่เรียกลูกไม่ใช่ชื่อเล่นของลูกเสียแล้ว... “ไอ้อ้วน” กลายเป็นสรรพนามที่ นี่แม่นะ! และพ่อเรียกแทนชื่อเล่น...แล้วมันจะส่งผลอะไรกับลูกในวัยหนุ่มบ้างนะ (ดีนะที่ตอนนี้หุ่นดีหนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยว) กลัวอย่างเดียวกลัวจะได้เลี้ยงหลานก่อนวัยอันควร ฮ่าๆๆๆ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้