4 เคล็ดลับ (สำคัญ) ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้เจ้าตัวเล็ก

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

 

เมื่อแรกเกิดลูกน้อยของคุณอาจดูบอบบางเสียจนแทบไม่น่าเชื่อว่าเขาจะสามารถทนทานต่อเชื้อโรคร้ายที่ลอยตัวอยู่เต็มในอากาศโดยรอบได้ แต่เชื่อเถอะว่าเขามีภูมิคุ้มกันมากพอจะต่อกรกับเชื้อโรคร้ายเหล่านี้ หากคุณดูแลเอาใจใส่เขามากพอ 

เรามาเริ่มก้าวแรก ด้วยการทำความรู้จักกับระบบภูมิคุ้มกันของลูกน้อยวัยแรกเกิด แล้วค่อยๆ ผ่านไปทีละขั้น จนไปถึงขั้นตอนการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงให้กับลูกน้อยกันค่ะ

  คุณรู้ไหม.. ระบบภูมิคุ้มกันทำงานอย่างไร ?
ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของเรามีการทำงานแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ เซลล์ภูมิคุ้มกัน ทำหน้าที่โดยตรงในการเข้าไปทำลายจับกินเชื้อโรคที่แปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ขณะเดียวกันเซลล์ที่มีหน้าที่สอดแนม ก็จะเข้าไปทำความรู้จักกับเชื้อโรคต่างๆ และส่งต่อข้อมูลนั้นไปให้เซลล์ที่มีหน้าที่ถอดรหัส ศึกษารายละเอียดของเจ้าเชื้อโรคเหล่านั้น แล้วสร้างสารต่อต้าน หรือที่เรียกว่า แอนตี้บอดี้ ขึ้นมาไว้สำหรับตรวจจับ และบล็อกการทำงานของเชื้อโรคชนิดนั้นๆ 

  แล้วระบบภูมิคุ้มกันของเจ้าตัวเล็กล่ะ ?
เมื่อแรกเกิด ลูกน้อยของคุณจะมีเซลล์ภูมิคุ้มกันอยู่เป็นล้านๆ เซลล์ค่ะ หากแต่เซลล์เหล่านี้ ยังไม่คุ้นเคยกับเชื้อโรคต่างๆ มาก่อน นั่นเพราะตลอด 9 เดือนเต็มที่ลูกน้อยเติบโตอยู่ในท้องของคุณนั้น เขาได้รับการปกป้องอย่างดีอยู่ภายในรก ซึ่งเปรียบเสมือนห้องปลอดเชื้อสำหรับเจ้าตัวเล็ก ด้วยเหตุนี้เอง เซลล์ภูมิคุ้มกันของทารกแรกเกิดจึงยังไม่มีโอกาสสร้างสารแอนตี้บอดี้สำหรับตรวจจับเชื้อโรคได้ เจ้าหนูจึงมีโอกาสไม่สบายเป็นไข้ได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่อย่างเราๆ

อย่าเพิ่งตกใจไปค่ะ ! ธรรมชาติไม่ปล่อยให้เชื้อโรคตัวร้าย มาทำอันตรายเจ้าตัวน้อย ของคุณได้โดยง่ายแน่ๆ ในเมื่อลูกสร้างเองไม่ได้ ร่างกายของแม่จึงผลิตสารแอนตี้บอดี้ส่งต่อไปให้ลูกโดยผ่านทางสายรกในช่วงท้ายๆ ของการตั้งครรภ์ และหลังจากนั้น เลือดจากอกที่กลั่นเป็นน้ำนมยังคงทำหน้าที่ต่อในการส่งผ่านภูมิคุ้มกันนี้ไปให้กับเจ้าตัวเล็กในอ้อมกอดของคุณ ดังนั้น หากเจ้าหนูได้รับการเลี้ยงดูด้วยน้ำนมจากอกของคุณ เขาจะได้รับสารภูมิคุ้มกันนี้อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเขาสามารถสร้างภูมิคุ้มได้ด้วยตัวเองในช่วงวัย 6 เดือน

  ถึงคราว วัคซีนมีบทบาทสำคัญ... 
ขณะที่คุณลุ้นรอคอยการพบหน้ากันครั้งแรกกับลูกน้อยที่กำลังจะเกิดมา เจ้าเชื้อโรคร้ายก็เตรียมพร้อมรอต้อนรับลูกน้อยของคุณสู่โลกแห่งเชื้อโรคร้ายของมันเช่นกัน ดังนั้น นอกเหนือจากสารแอนตี้บอดี้ที่คุณได้ให้กับเจ้าตัวน้อยโดยตรงแล้ว ยังมีความจำเป็นต้องสอนให้เซลล์ภูมิคุ้มกันของเจ้าตัวน้อยได้ทำความรู้จัก เพื่อให้เท่าทันเล่ห์ร้ายของเชื้อโรคเหล่านี้ด้วย วิธีการก็คือ การนำเอาเชื้อโรคมาทำให้ตาย หรืออ่อนแรงลง แล้วนำเข้าไปในร่างกายของเจ้าหนูแรกเกิด เพื่อให้เซลล์ภูมิคุ้มกันของเขาเข้ามาทำความรู้จัก 

ไม่ต้องห่วงนะคะ เชื้อเหล่านี้ มันสิ้นฤทธิ์หมดแล้วค่ะ จึงไม่มีเรี่ยวแรงมาแผลงฤทธิ์อะไรได้ นอกจากทำตัวเจี๋ยมเจี้ยมยอมให้เซลล์สอดแนมล้วงไส้ล้วงพุงเอาข้อมูล ไปสร้างสารแอนตี้บอดี้มาไว้ใช้ตรวจจับ และต่อต้านในครั้งต่อไปเมื่อได้เจอเชื้อโรคชนิดนี้แปลกปลอมเข้ามาในร่างกายอีก ซึ่งเราคุ้นเคยกับวิธีการนี้ในรูปแบบที่เรียกติดปากว่า “ฉีดวัคซีน” นั่นเอง

เมื่อแรกเกิด เจ้าหนูจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรคบีซีจี และไวรัสตับอักเสบบี จากนั้นคุณแม่จะได้รับสมุดตารางนัดหมายสำหรับพาลูกน้อยไปรับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคสำคัญๆ อื่นอีกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตามกำหนดแผนสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว เด็กจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคร้ายถึง 6 ชนิดด้วยกัน คือ วัณโรคบีซีจี, ไวรัสตับอักเสบบี, คอตีบ/ไอกรน/บาดทะยัก, โปลิโอ, หัด/หัดเยอรมัน/คางทูม และไข้สมองอักเสบเจอี อกจากนี้ ปัจจุบันยังมีวัคซีนป้องกันโรคใหม่ๆ อีกหลายชนิดด้วยกัน ทั้งนี้ความจำเป็นในการฉีด ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม และการเลี้ยงดูลูกน้อยของคุณแม่เองค่ะ


  คุณแม่.. บทบาทสำคัญยิ่งกว่า
นอกจากการฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเจ้าตัวเล็กแล้ว คุณแม่ยังสามารถสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มของลูกน้อยให้แข็งแรงได้ด้วยวิธีง่ายๆ ค่ะ

1. เลี้ยงดูลูกน้อยด้วยน้ำนมจากอก  เพราะในน้ำนมของแม่ไม่เพียงมีสารแอนตี้บอดี้เท่านั้น แต่ยังมีสารอาหารที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของลูกน้อยอีกด้วย ขณะที่นมผงทั่วไป แม้จะพยายามเสริมเติมใส่สารอาหารให้เหมือนกับที่มีในนมแม่ แต่ก็มีความสามารถในการดูดซึมน้อยกว่า ทำให้ประสิทธิภาพในการนำสารอาหารไปใช้งานต่ำกว่า

2. ดูแลสิ่งแวดล้อมรอบตัวลูกให้สะอาด  แน่นอนล่ะว่า คุณคงไม่สามารถสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดเชื้อให้กับเขาได้ตลอดเวลา แต่อย่างน้อยการใส่ใจดูแลความสะอาดในห้องที่พัก อาหารที่เขากิน สิ่งของที่เขาสัมผัส เพียงแค่นี้ ก็เท่ากับคุณได้สร้างปราการป้องกันภัยให้กับลูกน้อยไว้หนึ่งชั้นแล้ว

3. ใส่ใจกับสารอาหารในอาหารเสริม  ข้อจำกัดของอาหารเสริมที่ต้องบดละเอียด ทำให้คุณแม่หลายท่านจำเจอยู่กับอาหารไม่กี่ประเภท ทั้งที่ความจริงแล้ว ลูกน้อยของคุณต้องการสารอาหารที่หลากหลายเพื่อการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเขา เคล็ดลับก็คือ การใช้น้ำซุปต้มจากเนื้อสัตว์ และผัก เป็นเครื่องประกอบหลักในการปรุงอาหารเสริม จะช่วยให้เขาได้รับสารอาหารที่มีอยู่ในน้ำซุปนั้นอย่างครบถ้วน

4. หัดให้รู้จักเอ็กเซอร์ไซส์ตั้งแต่แบเบาะ  เพราะเชื้อโรคไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ภายใต้สภาวะที่มีออกซิเจน ทุกครั้งที่เจ้าหนูมีโอกาสได้ขยับแข้งขา ปอดน้อยๆ ของเขาจะสูบฉีดเอาออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อเข้าไปถากถางทำลายแบคทีเรียร้าย จนมีพื้นที่โล่งเปิดโอกาสให้แบคทีเรียดีเจริญเติบโตขึ้นเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับร่างกายของเขาต่อไป

รู้อย่างนี้แล้ว เริ่มต้นใส่ใจดูแลลูกน้อยของคุณ ตามข้อแนะนำนี้กันนะคะ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้