รักวัวให้ผูก รักลูกไม่จำเป็นต้องตี… Ep. 1

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 


โบราณว่าไว้ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี”

สำหรับพ่อแม่ยุคใหม่คงสงสัยว่าสุภาษิตนี้ยังใช้ได้อยู่ไหม แล้วถ้าลูกแสดงพฤติกรรมงอแงเกินเหตุเมื่อถูกขัดใจ เราควรจะทำอย่างไรไม่ให้เขาแสดงพฤติกรรมอย่างนี้ซ้ำอีก ในวัย 5 ขวบเป็นต้นไป ถือเป็นช่วงวัยที่ดีที่เด็กควรได้รับการฝึกเรื่องอารมณ์ เพราะหากเด็กเริ่มเข้าใจ มันจะส่งผลในระยะยาวไปถึงบุคลิกภาพ พฤติกรรม การรับมือกับปัญหาต่างๆ ในวัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ของเขา

3 สิ่งนี้สำคัญอย่างมาก

1. พัฒนาการด้านภาษาและอายุ  ควรเริ่มจากใช้วิธี “ปรับพฤติกรรมเด็ก” ตามระดับพัฒนาการทางภาษาของเด็ก ในเด็กที่ไม่มีปัญหาพูดช้า พ่อแม่สามารถปรับตามอายุเด็กได้เลย แต่ถ้าเด็กมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้า แนะนำให้ปรับตามระดับพัฒนาการภาษาของเด็กว่าเทียบเท่ากับอายุเท่าไหร่

2. ตั้งเป้าหมายให้ถูก  พ่อแม่หลายคนคิดแค่เพียงว่า ต้องการหยุดพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูกเท่านั้น ซึ่งทำให้การแสดงออกเมื่อลูกมีพฤติกรรมไม่ดีมีได้หลากหลายมาก เพียงเพราะอยากให้เขาหยุด เช่น ดุ ด่า ตี ตามใจ ยอม แต่หา ลองตั้งเป้าหมายว่า ขณะที่เขาเริ่มมีพฤติกรรมไม่ดี เราอยากที่จะฝึกการจัดการอารมณ์ของเขา เพื่อเขาจะได้เรียนรู้การรับมือกับอารมณ์ หรือความรู้สึกแบบนี้ได้ดี ในอนาคต จะช่วยให้เราหยุดคิดและเลือกใช้การตอบสนองต่อเด็กที่ตรงกับเป้าหมายเราได้ โดยไม่มีข้อสงสัยว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ถูกหรือไม่

3. พ่อแม่ต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจพฤติกรรมตามวัยของลูกด้วย . ธรรมชาติของเด็กเมื่อเริ่มทำ พูด เดิน วิ่ง ได้แล้วก็มักอยากแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเอง ต้องการทำสิ่งเล่านี้เองและทำตามที่ใจคิด ทำให้เด็กไม่ชอบที่จะถูกบังคับให้เป็นไปตามที่คนอื่นต้องการ และเมื่อเขาถูกขัดใจ อาจแสดงพฤติกรรมต่อต้าน อาละวาด กรี๊ด ทำร้ายคนอื่น รวมถึงขว้างข้าวของ หนักสุดอาจจะถึงขั้นทำร้ายคนอื่น ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมที่พบได้ปกติในเด็กเล็กอายุไม่เกิน 3 ขวบ เพราะเป็นวัยที่กำลังมีความเป็นตัวของตัวเองสูง หากพ่อแม่จัดการได้ดี พฤติกรรมเหล่านี้จะดีขึ้นตามลำดับและหายไปในที่สุด แต่ในทางตรงกันข้าม หากเราตอบสนองเด็กหรือใช้วิธีที่ไม่เหมาะสม อย่างการใช้ความรุนแรง หรือตามใจเด็กกลับไป จะมีผลให้เด็กมีปัญหาการควบคุมอารมณ์ตัวเองจนติดเป็นนิสัยไปถึงวัยผู้ใหญ่ได้เช่นกัน




แล้วถ้ารักวัวให้ผูก รักลูกไม่ตี…จะมีวิธีไหนที่ได้ผลอีกบ้าง

  อายุ 1 - 2 ปีขึ้นไป เล็กน้อย
1. Ignoring bad behavior หรือการละความสนใจ เราจะใช้วิธีนี้ในเด็กที่เริ่มเข้าใจภาษาแล้ว อาจดูจากการที่เด็กสามารถทำตามคำสั่งง่ายๆ ได้ดี พูดคำเดี่ยวเพื่อสื่อสารได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเริ่มที่อายุ 14 - 16 เดือนเป็นต้นไป

วิธีจัดการ
เมื่อเด็กมีพฤติกรรมงอแง แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่บอกเค้าว่า “ถ้าหนูสงบแล้ว เดี๋ยวแม่มาคุยกับหนูนะคะ” หลังจากนั้นปล่อยเด็กไปก่อน ไม่ว่าเค้าจะร้องไห้ กรี๊ด หรือลงนอนกับพื้น เพราะบางครั้งการให้ความสนใจเด็กจะยิ่งมีพฤติกรรมมากขึ้นได้ และการสอนตอนที่เด็กยังอารมณ์ไม่ดี เด็กจะไม่มีสมาธิในการฟังและจดจำ ทำให้อาจทำผิดซ้ำได้ แต่ก่อนจะละความสนใจ พ่อแม่ต้องมั่นใจว่าบริเวณนั้นปลอดภัยสำหรับเด็กด้วยนะคะ หรือหากเป็นนอกบ้านรวมถึงที่ที่มีคนพลุกพล่าน หมอจิตวิทยาไม่แนะนำให้ทิ้งเด็กไว้ ทั้งนี้การละความสนใจพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องไปให้พ้นจากสายตาของเด็กก็ได้ อาจอยู่บริเวณนั้นแต่หาอะไรทำไปพลางๆ หรืออยู่ข้างๆ เด็กด้วยอาการสงบก็ได้ เมื่อเขาเริ่มสงบ พ่อแม่ต้องแสดงความสนใจทันที เพื่อเขาจะได้เรียนรู้ว่ายิ่งสงบเร็วยิ่งจะมีคนสนใจเร็วขึ้น ครั้งต่อไปเขาจะลดระยะเวลาที่งอแงลงได้เรื่อยๆ และท้ายสุดต้องบอกถึงเหตุผล แบบที่ตรงประเด็นเพื่อสอนให้เขาเข้าใจได้ง่ายๆ “เมื่อกี้หนูจะเล่นแก้วมันเล่นไม่ได้เพราะแก้วจะแตกได้ เราไปเล่นบอลแทนกันดีกว่านะคะ” ลูกจะได้เรียนรู้ว่าอะไรที่ทำไม่ได้ และอะไรทำแทนได้ เมื่อถูกสอนซ้ำๆ เด็กจะจำได้ เขาจะเรียนรู้ที่จะทำผิดน้อยลงเอง

2. การเข้าถึงตัว วิธีการจะถูกใช้เมื่อเราไม่สามารถใช้วิธีละความสนใจเด็กได้ หรือเด็กมีพฤติกรรมที่เป็นอันตราย เช่น ทำร้ายตัวเอง ทำร้ายคนอื่น ขว้างปาของ

วิธีการ
พ่อแม่ควรจับหรือกอดให้เด็กหยุดพฤติกรรมที่ไม่ดี ระหว่างที่จับให้ทำหน้าและเสียงให้รู้ว่าเราเริ่มจริงจัง แต่ไม่ควรใส่อารมณ์โมโห และไม่ใช้ท่าทีหรืออารมณ์ที่แสดงออกว่ากำลังโอ๋ อาจพูดแค่ว่า  “หยุด!! ตีแม่ไม่ได้นะคะ” หรือ “หนูกำลังโมโห แม่กำลังช่วยหนูอยู่” เพราะหากใส่อารมณ์รุนแรง เขาอาจทำตามในครั้งต่อไปได้ หรือหากเราใช้เสียงที่อ่อนเกินไปจะกลายเป็นการโอ๋ได้ ซึ่งเด็กอาจรู้สึกว่าได้ความสนใจเป็นพิเศษทำให้เด็กยิ่งชอบและมีพฤติกรรมไม่ดีต่อไปได้เรื่อยๆ และเมื่อเขาเริ่มสงบพ่อแม่ควรสอนเรื่องอารมณ์ ให้เขาขอโทษคนที่เขาทำร้าย หรือแก้ไขในสิ่งที่ทำไม่ดี พร้อมบอกเหตุผลกลับไปด้วย


  อายุ 2 - 5 ปี วัยนี้สามารถใช้เทคนิคการละความสนใจ และการถึงตัวได้เช่นกัน แต่มีวิธีที่พ่อแม่สามารถเลือกใช้เพิ่มเติมได้ดังนี้

1. Time out การขอเวลานอก การเข้ามุม และเก้าอี้ใจเย็น
ในเด็กที่มีพฤติกรรมไม่ดีซ้ำๆ หรือมีพฤติกรรมที่รุนแรง นอกจากการจับให้หยุดแล้ว อาจใช้วิธี time out เพิ่มเติมได้ หลักการของวิธีนี้คือทำให้เด็กไม่ได้รับความสนใจชั่วคราว

วิธีการ
ให้เลือกมุมใดมุมหนึ่งในห้องที่สงบ ไม่มีของเล่น ไม่มีทีวี ไม่มีคนผ่านไปมา หรืออาจเป็นโซฟาตัวใหญ่กลางห้อง หรือตีนบันได แต่ไม่แนะนำให้ขังห้อง เพราะเขาอาจเป็นอันตราย อาจกลัวที่มืดหรือที่แคบ หรือไปเล่นอย่างอื่นในห้องแทน และสถานที่ไม่ควรทำ Time out คือห้องนอนเพราะอาจทำให้เด็กบางคนฝันร้ายหรือนอนไม่หลับได้ ควรตกลงกับเด็กล่วงหน้าก่อนว่าพฤติกรรมใดที่จะเข้ามุม โดยครั้งแรกที่เด็กมีพฤติกรรมไม่ดี เราอาจจะทำเพียงแค่บอกก่อน แล้วค่อยทำข้อตกลงว่า...

หากทำเหมือนเดิมในคราวหน้าจะโดน Time out (แนะนำให้ใช้คำพูดกลางๆ เมื่อพูดถึงวิธีการนี้ เพราะการใช้คำในแง่ลบจะทำให้เด็กรู้สึกต่อต้านมากขึ้น หรือเมื่อโดนว่าบ่อยๆ จะมีความรู้สึกไม่ดีกับตัวเองได้) เมื่อเด็กมีพฤติกรรมไม่ดี ให้ทำตามที่ตกลงกันไว้ โดยพาเขาไปบริเวณที่เราเลือก จะยืนหรือนั่งก็ได้ เพียงแต่ขอให้อยู่ในบริเวณที่เรากำหนด หลังจากนั้นจะเริ่มจับเวลาเมื่อเด็กเริ่มมีอาการสงบลงแล้ว โดยระยะเวลาเท่ากับอายุ เช่นเด็กอายุ  2 ปี ก็จับเวลา 2 นาที ซึ่งวิธีการ Time out ใช้ได้ตั้งแต่อายุ 2 ปี เป็นต้นไป (แต่ในเด็กโตเมื่ออายุ เกิน 5 - 6 ปีไปแล้ว ถ้าไม่ได้เริ่มทำตั้งแต่เล็กมักจะทำได้ยากแล้วนะ) เมื่อครบเวลาให้เข้าไปหาแล้วให้พูดเหตุผลง่ายๆ ที่เห็นเป็นรูปธรรม และให้เด็กเป็นคนแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ดีด้วยตัวเอง “หนูต้องมานั่งตรงนี้เพราะหนูเล่นแล้วไม่เก็บ... ถูกไหม ไปเก็บของเล่นกันนะคะ” เลี่ยงการพูดที่เป็นนามธรรมอย่าง “หนูต้องมานั่งตรงนี้เพราะหนูดื้อ เป็นเด็กไม่ดี” เพราะเด็กอาจไม่เข้าใจได้ ช่วงแรกที่เริ่มทำ เขาอาจจะยังไม่เข้าใจว่าต้องอยู่ตรงนั้นตลอด เขาอาจจะดิ้นหรือเดินออกมา กรณีนี้อนุโลมให้ช่วงแรกผู้ปกครองสามารถจับหรือกอดเด็กให้อยู่กับที่โดยที่ยังไม่ต้องพูดกับเขามาก แต่ให้ใช้สีหน้าและพูดเป็นระยะด้วยเสียงที่จริงจังว่า เขาต้องมานั่งตรงนี้เพราะอะไร จนกว่าเค้าจะอยู่ในบริเวณที่เรากำหนดและสงบลงเราถึงเริ่มจับเวลา

เมื่อทำเป็นประจำเขาจะรู้เองว่าเราเอาจริงและต่อไปเขาจะอยู่ที่มุมได้เองโดยไม่มีผู้ใหญ่อยู่ด้วย ที่สำคัญช่วงที่ปล่อยให้เด็กอยู่ที่มุมต้องไม่มีใครไปให้ความสนใจ ไม่ว่าจะมอง ดุ แซวหรืออะไรก็แล้วแต่ เพราะจะกลายเป็นว่าเด็กได้รับความสนใจ วิธี Time out ก็อาจจะไม่ได้ผลอีกต่อไป

...เทคนิคเพิ่มเติมที่จะทำให้การทำ Time out ได้ผลดี

คือผู้ที่มีส่วนร่วมในการดูแลเด็ก ทุกคนควรทำเหมือนกัน และทำทุกครั้งด้วย ถ้ามีคนยอมพฤติกรรมไม่ดีจะไม่หายไป หรือเด็กอาจจะเลือกทำกับคนหนึ่งแต่ไม่ทำกับอีกคนหนึ่ง ทำให้พฤติกรรมไม่คงที่
การมี Time in หรือช่วงเวลาที่พ่อแม่มีเวลาที่มีความสุขร่วมกันกับลูก เพราะถ้าไม่เคยมี Time in วิธีการที่ถูกลดความสนใจจะไม่ได้ผล เนื่องจากเคยชินกับการเล่นคนเดียวตลอด จึงไม่รู้สึกร้อนใจเมื่อถูกละความสนใจ ผู้ทำ Time out กับเด็ก ควรเป็นคนที่คุมอารมณ์ได้ดี ใจเย็น จัดการปัญหาด้วยความสงบและมีเหตุผล เพื่อให้เด็กเห็นตัวอย่างในการควบคุมอารมณ์ที่ดี 

2. การตี
แนะนำให้เลี่ยงข้อนี้อย่างมาก เพราะการที่เด็กโดนตีบ่อยๆ จะทำให้เด็กเคยชินกับความรุนแรง และอาจใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาในอนาคต แต่หากพ่อแม่ ยังอยากใช้การตีเพื่อปรับพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูก หมอจิตวิทยาแนะนำให้ใช้เป็นวิธีตี เป็นวิธีสุดท้าย และใช้ในเด็กที่มีความเข้าใจภาษามากพอสมควรแล้ว โดยเด็กควรพูดจาโต้ตอบ เข้าใจเหตุผลต่างๆ ได้ดีในระดับหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะอายุมากกว่า 3 ปีขึ้นไป

วิธีการ
เรื่องที่จะตีควรเป็นเรื่องที่ร้ายแรงจริงๆ ควรมีไม่กี่เรื่องในบ้านด้วย
และก่อนจะตีควรได้มีการตกลงกับเด็กก่อนว่าพฤติกรรมนี้ เป็นพฤติกรรมที่ทำผิดจะต้องโดนตี ไม่ใช่อยู่ๆ ก็ตีตามอารมณ์ของเรา
และควรใช้มือตีเท่านั้น เราจะได้รู้แรงว่ามันแรงแค่ไหน เพื่อเลี่ยงการลงโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ อันเกิดจากอารมณ์โมโหของเรา ทั้งนี้ต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ของการตีก่อนว่า ตีเพื่อให้เด็กรับรู้และยอมรับว่าผิด ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องความแรงในการตี หากเด็กเข้าใจว่าผิดจริง การตีแค่เบาๆ เขาก็จะสำนึกผิดได้ แต่ถ้าเด็กคิดว่าตัวเองไม่ผิด ถึงตีแรงแค่ไหนก็จะดื้อมือดื้อไม้ และอาจจะกลับมาทำซ้ำใหม่อยู่ดี

...ก่อนที่จะปรับพฤติกรรม คนที่เลี้ยงเด็กทุกคนควรเลี้ยงไปในแนวทางเดียวกันก่อน อะไรที่จะให้ได้และเหมาะสมควรให้ตั้งแต่แรก ไม่ควรปล่อยให้เด็กงอแงแล้วจึงใจอ่อนยอมให้ เพราะเด็กจะเรียนรู้ว่าทำแบบนี้่แล้วสุดท้ายจะได้สิ่งทีี่ต้องการ พฤติกรรมนี้ก็จะมีต่อไปเรื่อยๆ และทุกคนที่เลี้ยงจะต้องเข้าใจร่วมกัน ว่าการไม่ คือไม่จริงๆ ไม่ใช่ว่าอีกคนไม่ แต่อีกคนได้ เมื่อเขาต้องการ เขาก็จะไปขอจากคนที่บอกว่าได้แทน คำว่า “ไม่” ก็จะขลังอีกต่อไป
ทุกวิธีที่ใช้กับเด็ก ในครั้งแรกที่เริ่มทำ เด็กอาจอาละวาดรุนแรงขึ้น ซึ่งไม่ได้แปลว่าวิธีการนี้ไม่ได้ผลนะ แต่เป็นการทดสอบของเด็ก ว่าถ้าเขาทำพฤติหรรมที่แรงขึ้น นานขึ้นแล้วจะมีคนสนใจหรือได้ตามที่ต้องการหรือไม่ ถ้าเรายอม… ครั้งต่อๆ ไปเขาจะใช้วิธีนี้อีกและอาจรุนแรงขึ้น แต่ถ้าเราหนักแน่นทำตามที่ตกลง สุดท้ายเด็กจะลดพฤติกรรมที่รุนแรงลงไปเอง จนหายไปในที่สุด
แต่ถ้าเด็กง่วง เหนื่อย หิว เพลีย ไม่สบาย แล้วมีพฤติกรรมไม่ดี ไม่ต้องมัวปรับพฤติกรรมนะ ให้แก้ไขความไม่สบายของเด็กก่อน

วิธีการแนะนำข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะช่วยปรับเด็กเวลาที่มีพฤติกรรมไม่ดีเมื่อถูกขัดใจเท่านั้น ยังมีวิธีการให้เลือกใช้ได้อีกใน Ep.2  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้