เยียวยา "โรคซึมเศร้า" หลังคลอด

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 


อาการเครียดหลังคลอดถือเป็นอาการทางจิตอย่างหนึ่ง ซึ่งยากต่อการวินิจฉัยหรือสังเกตให้รู้แน่ชัดได้แต่แรกเริ่ม บางครั้งเจ้าตัวอาจจะรู้ตัวเอง แต่คนรอบข้างไม่เข้าใจ และนำไปสู่อาการที่รุนแรงมากขึ้น ขณะที่บางครั้งคนรอบข้างอาจสังเกตเห็น แต่เจ้าตัวเองกลับไม่ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ทั้งนี้วิธีการที่ดีที่สุดในการรักษาอาการเครียดหลังคลอดได้ ก็คือความรัก ความเข้าใจจากคนในครอบครัว รวมถึงการยอมรับของเจ้าตัวเองด้วย



นอกจากนี้หากคุณสังเกตพบอาการแต่แรกเริ่มก็สามารถป้องกันไม่ให้อาการลุกลามอย่างรุนแรงไปได้ ลองสังเกตตัวเองดูว่าคุณมีอาการเหล่านี้หรือเปล่า

 มีอารมณ์แปรปรวนบ่อยๆ โดยที่ไม่สามารถอธิบายถึงความรู้สึกรุนแรง หรืออารมณ์ซึมเศร้าที่เกิดขึ้นกับคุณได้

 รู้สึกอ่อนเพลียง่าย อยากนอนอย่างเดียว และไม่อยากทำอะไร แต่ในบางรายก็มีอาการนอนไม่หลับ และมักตื่นขึ้นกลางดึกบ่อยๆ

 รู้สึกหงุดหงิด และไม่พอใจในตัวสามี โดยที่ตัวเองก็ไม่สามารถบอกเหตุผลที่ทำให้รู้สึกเคืองในตัวสามีได้

 ไม่สามารถดูแลลูกน้อยแรกเกิดได้ หรือไม่มีความรู้สึกรัก หรือผูกพันกับลูก บางรายมีอาการรุนแรงถึงขนาดโทษว่าลูกเป็นสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้ตัวเองไม่มีความสุข

 รู้สึกเบื่ออาหาร  แต่บางรายก็มีอาการกินเท่าไรก็ยังรู้สึกหิวอยู่

 ไม่มีสมาธิ

 ไม่มีอารมณ์ทางเพศ

 รู้สึกผิด และคิดว่าตัวเองเป็นแม่ที่ไม่ดี หรือกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของลูกมากจนเกินไป

 


 

8 วิธี ดูแลตัวเองให้ปลอดจากอาการเครียด ถ้าคุณสงสัยว่าตัวเองมีอาการวิตกกังวล หรือกำลังเป็นทุกข์กับอาการเครียดหลังคลอด วิธีปฏิบัติด้านล่างนี้อาจช่วยคุณได้

1. แจ้งให้คุณหมอที่ดูแลครรภ์ของคุณทราบถึงอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับคุณอย่างละเอียด ที่ต้องบอกอย่างละเอียดเพราะบางครั้งคุณหมออาจคิดว่าเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นทั่วไปกับคุณแม่ตั้งครรภ์

2. หากคุณมีปัญหาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก เช่น หัวนมอักเสบจากการให้นมลูก หรือไม่สามารถจัดการกับอาการกรีดร้องของลูกน้อยได้ คุณควรนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับผู้รู้ หรือพูดคุยกับสามีของคุณบ้าง

3. ถ้าเป็นไปได้ คุณควรให้คนในครอบครัว หรือสามีของคุณ ช่วยดูแลลูกบ้าง อย่างน้อยก็สัก 2-3 ชั่วโมงต่อวัน มันจะทำให้คุณมีช่วงเวลาพักจากอาการตึงเครียดที่เกิดจากการเลี้ยงลูกก็ได้

4.  ถ้าคุณรู้สึกว่างานบ้านมีมากเสียจนทำให้คุณรู้สึกเหน็ดเหนื่อย อาการอ่อนเพลียจากงานบ้านอาจกระตุ้นอาการซึมเศร้า และเบื่อชีวิตของคุณได้  ดังนั้นคุณควรหาคนมาช่วยงานบ้านบ้าง อย่างน้อยก็ช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ชีวิตส่วนใหญ่ของคุณยังคงต้องวุ่นวายอยู่กับเจ้าตัวเล็กอยู่

5. พยายามหาโอกาสได้พูดคุยกับคุณแม่ลูกอ่อนรายอื่นๆ บ้าง ถ้าคนรอบข้างคุณไม่มีใครมีลูกอ่อนเลย ก็ลองพูดคุยกับคนที่เคยผ่านประสบการณ์การมีลูกอ่อนมาแล้วบ้างก็ได้ การได้พูดคุยกับคุณแม่เหล่านี้จะทำให้คุณเข้าใจถึงอารมณ์ที่คุณเป็นอยู่ และสามารถจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณได้

6. หาหนังสือ หรือนิตยสารที่ให้ความรู้กับคุณเกี่ยวกับการเป็นคุณแม่มือใหม่ ไม่ว่าจะเป็นคู่มือการเลี้ยงลูก หรือความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์สุขภาพ เพราะคู่มือเหล่านี้จะให้รายละเอียดต่างๆ ที่คุณควรรู้ การได้รู้ และเข้าใจในสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับคุณเป็นปกติธรรมชาติจะทำให้คุณจัดการกับสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้องมากขึ้น

7. เรียนรู้วิธีที่จะทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลายได้บ้าง ซึ่งเทคนิคต่างๆ เหล่านี้บ้างครั้ง คุณเองอาจต้องไต่ถามเอาจากผู้รู้ หรือศึกษาเอาจากคู่มือ หรือนิตยสารต่างๆ บางทีคุณอาจได้รับคำแนะนำให้ผ่อนคลายด้วยการนวด หรือหากิจกรรมเพื่อการพักผ่อนในบ้าน หรือการออกไปพักผ่อนนอกบ้านก็ได้ 

8. บางครั้ง การได้รับการปรนนิบัติจากสถานบริการทั่วไป ก็อาจทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลายได้บ้าง เช่น การเข้าใช้บริการ นวดตัว ขัดตัว นวดหน้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้