เมื่อลูกน้อยอายุได้ 7 เดือน ถึงวัยที่คุณแม่ควรเปิดโอกาสให้เขาได้หัดกินอาหารเองบ้าง นอกจากการจัดเตรียมชุดอาหารให้เขาได้ตักกินเอง ในช่วงขณะที่คุณแม่ป้อนอาหารให้กับเขาแล้ว การจัดอาหารกินเล่น ไว้ให้เขาถือกินระหว่าง หรือหลังมื้ออาหารก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการเสริมพัฒนาการที่เยี่ยมยอดค่ะ เสียเพียงอย่างเดียวว่า คุณอาจต้องเหนื่อยหน่อยในการเช็ดล้างทำความสะอาดที่เจ้าตัวน้อยทำเลอะเอาไว้เท่านั้นเอง
อาหารถือกินเล่น... เสริมพัฒนาการ
อาหารทุกชนิดที่มีลักษณะนิ่ม และสามารถละลายในปากได้ นำเอามาหั่นให้ได้ขนาดชิ้นพอคำใส่ถาดหลุม หรือชามเล็กๆ ให้เจ้าหนูหยิบขึ้นมาถือกินได้ ไม่เพียงสร้างความหรรษาให้กับมื้ออาหารของเขาเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อพัฒนาการหลายด้านของเขาอีกด้วย ลองนึกดูว่าช่วงจังหวะที่เจ้าหนูต้องใช้มือหยิบชิ้นอาหารนั้นขึ้นมา เขาต้องใช้สายตาจับจ้องชิ้นอาหารนั้น บังคับนิ้วชี้ และนิ้วโป้งให้คีบหนีบชิ้นอาหารนั้นขึ้นมาใส่ปาก หรือคีบขึ้นมาใส่มือถือให้ถนัดก่อนเอาใส่ปากค่อยๆ กัดกิน ทำให้เขาต้องใช้สายตาประสานกับการใช้นิ้ว มือ และแขน ขณะเดียวกัน อาหารชิ้นพอคำก็ยังบังคับให้เขาต้องมใช้ฟันหน้าที่เพิ่งโผล่ขึ้นมาได้ไม่ถึงเดือนกัดตัดชิ้นอาหารให้ได้คำที่พอเหมาะกับตัวเอง ต้องใช้เหงือกงับๆ เคี้ยวๆ อาหารให้แหลกก่อนจะกลืนลงท้อง ทำให้เขาได้บริหารเหงือกกระตุ้นฟันน้ำนมซี่อื่นๆ ที่เหลือให้โผล่ขึ้นมาไวๆ อีกด้วยเห็นไหมค่ะว่ามีประโยชน์จริงๆ ที่นี้ ไปดูกันว่ามีอาหารอะไร ที่สามารถนำมาจัดเป็นของกินเล่นให้เจ้าตัวเล็กได้บ้างอาหารที่เหมาะสำหรับนำมาเป็นของกินเล่นสำหรับเจ้าตัวเล็ก ควรมีลักษณะนิ่ม เคี้ยวแหลกได้ง่าย และสามารถละลายในปากได้ นอกจากนี้ ให้คำนึงถึงเรื่องความหลากหลายของเนื้ออาหาร รูปร่าง สี และกลิ่นด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ไปในตัวด้วย รายการด้านล่างนี้ คือตัวอย่างที่นำมาแนะนำกันค่ะ- ธัญพืชอบกรอบ หรือซีเรียล (จะใส่นมด้วยหรือไม่ก็ได้)- ขนมปังปิ้ง หรือขนมอบกรอบ ราดด้วยซุปผักข้น - ผลไม้สุกนิ่ม เช่น กล้วย, มะม่วง, แคนตาลูป, มะละกอ, ลูกพลับ หั่นชิ้นขนาดมือเล็กๆ จับถนัด- ซุปเต้าหู้ (หั่นขนาดเท่าลูกเต๋า) หรือจะตักเฉพาะเต้าหู้ใส่ชามให้ก็ได้- เส้นพาสต้า, มะกะโรนี, ก๋วยเตี๋ยว ต้มสุกพร้อมปรุงเสร็จในน้ำซุบ ตักใส่ชาม ใช้ช้อนหั่นให้มีขนาดชิ้นพอคำ- ชีสหั่นชิ้นเล็กๆ- ไข่ต้มสุกหั่นชิ้นเล็กๆ (สำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป)- ผลไม้อบแห้ง เช่น ลูกเกด ลูกพลับ ลูกพรุน หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ- ผักต้มสุกจนนิ่ม นำมาหั่นเป็นชิ้นพอคำ เช่น แครอท, ถั่วเลาเตา, มันเทศ, มันฝรั่ง ฯลฯ- บรอคโคลี่ หรือกะกล่ำดอก ต้มสุกจนนิ่ม และหั่นชิ้นเล็กๆ - เนื้อไก่ ปลา หรือเนื้อสัตว์ที่มีลักษณะนิ่ม นำมาต้มสุกหั่นชิ้นเล็ก- ขนมปังแครกเกอร์ หักเป็นชิ้นขนาดพอคำในช่วงแรกคุณอาจต้องคอยหยิบอาหารใส่มือให้เขา จับใส่เข้าปาก ทีละชิ้น รอจนกระทั่งเห็นว่าเขาสามารถใช้นิ้วโป้ง กับนิ้วชี้หยิบอาหารได้เองแล้ว ค่อยตักอาหารสัก 3-4 ชิ้น ใส่จานให้เขาหยิบกินเอง หากเขากินหมดเร็ว ก็อาจเติมให้ได้สักครั้ง สองครั้ง แต่อย่ามากจนเกินไปนะคะ
ถ้าคุณแม่เห็นเจ้าตัวน้อยเล่นอาหารจนเลอะเทอะไปหมด อย่าอารมณ์เสียแล้วด่วนรีบเก็บเช็ดล้างนะคะ ปล่อยให้เขาเล่นสนุกสักพัก ให้เพลินจนเพลียนั่นแหละค่ะ แล้วค่อยพาไปอาบน้ำ รับรองว่าเจ้าตัวเล็กหลับสบายไม่กวนคุณไปอีกนานเชียว แถมระหว่างที่เขาได้เล่นสนุกกับของกินเล่นหรรษาของเขานั้น สมองน้อยๆ ได้เรียนรู้ไปในตัวด้วย เขาจะรู้ว่า เขาสามารถทำให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง และนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ในวันข้างหน้าด้วยค่ะ