ปั๊มหัวใจช่วยชีวิตเด็กเล็ก เรื่องที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม (ตอนแรก)

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

คุณพ่อคุณแม่ อาจคุ้นเคยกับภาพการช่วยชีวิตผู้ประสบภัยด้วยการกดปั๊มหัวใจ และเป่าลมหายใจทางปากกันมาบ้างแล้วใช่ไหมค่ะ แต่เคยลองถามตัวเองกันบ้างหรือเปล่าว่า ถ้าคุณต้องเป็นคนช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยตัวเอง จะทำการช่วยเหลือได้อย่างถูกวิธีตามภาพลางๆ ที่อยู่ในความทรงจำได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากเหตุการณ์นั้น เกิดขึ้นกับลูกเล็กของคุณเอง 

คงไม่มีใครอยากให้เรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นกับลูกน้อยที่เป็นเหมือนดั่งดวงใจของตัวเองเป็นแน่ แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝัน เป็นสิ่งที่ฝืนบังคับไม่ได้ ดังนั้น นอกเหนือจากการเฝ้าระวังความปลอดภัยให้กับลูกน้อยอย่างรอบคอบแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมพร้อมไว้ก่อน โดยการเรียนรู้วิธีการช่วยชีวิตลูกน้อยในนาทีวิกฤติ เพื่อคอยรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วย 

นับขั้นนาทีวิกฤติ ช่วยชีวิตลูกน้อย
การปั๊มหัวใจเพื่อช่วยชีวิตเด็กเล็กนั้น มีความแตกต่างจากผู้ใหญ่มาก นั่นเพราะปอดของเด็กหนึ่งขวบปีแรกมีปริมาตรบรรจุขนาดเล็ก และมีอัตราการหายใจเร็วกว่าผู้ใหญ่ โครงกระดูกเปราะหักง่าย และมีช่วงลำคอสั้น สรีระเช่นนี้ จึงทำให้การปั๊มหัวใจช่วยชีวิตเด็กเล็กเป็นเรื่องที่ต้องละเอียดอ่อนรอบคอบมาก ต่อไปนี้ คือหลักการที่ถูกต้องค่ะ



ขั้นตอนที่ 1  ตรวจสอบดูว่าเด็กมีปฏิกิริยาตอบรับหรือไม่ โดยให้เขย่าที่บริเวณไหล่ของเด็กเบาๆ พร้อมตะโกนเรียกขอความช่วยเหลือจากคนที่อยู่ใกล้บริเวณที่เกิดเหตุ ให้ช่วยโทรเรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน

ขั้นตอนที่ 2  อุ้มเด็กน้อยให้นอนลงบนพื้นที่มีความหนาแน่น เช่น พื้นถนน พื้นบ้าน พื้นดิน เป็นต้น โดยให้ระมัดระวังอย่าให้บริเวณส่วนคอของเด็กเคลื่อน หรืองอโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้กระดูกสันหลังได้รับความเสียหาย ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เกิดความพิการขึ้นได้

ขั้นตอนที่ 3  ทำการประเมินสถานการณ์ โดยสังเกตดูการขึ้นลงตรงบริเวณส่วนหน้าอกของเด็ก ก้มฟังเสียงลมหายใจ และใช้ผิวแก้มของคุณสัมผัสดูว่าเด็กยังมีลมหายใจเข้าออกอยู่หรือไม่ โดยให้ทำทุก 3-5 วินาที ถ้าพบว่าเด็กมีอาการหายใจลำบาก อย่าเพิ่งใช้วิธีผายปอดเมาท์-ทู-เมาท์ หรือใช้ปากเป่าลมหายใจเข้าในทันที แต่ให้ทำการเปิดทางเดินลมหายใจ เพื่อช่วยให้เขาหายใจได้สะดวกขึ้นก่อน

ขั้นตอนที่ 4  การเปิดทางลมหายใจให้สะดวก ทำได้โดยให้คุณวางมือข้างหนึ่งไว้บริเวณหน้าผากของเด็ก ส่วนมืออีกข้างวางไว้ใต้คาง ค่อยๆ เอียงส่วนหัวของเด็กขึ้นอย่างเบามือ คอยระวังอย่าให้ส่วนคอของเด็กยืดขยายมากจนเกินไป เพราะอาจเป็นผลให้ทางเดินลมหายใจถูกขวางกั้น จากนั้นให้ใช้หลักการตาดู หูฟัง และแก้มสัมผัสลมหายใจของเด็กอีกครั้ง หากอาการยังไม่ดีขึ้น ถึงตอนนี้ให้คุณเป่าลมหายใจเข้าทางปากด้วยวิธีเมาท์-ทู-เมาท์ ได้ทันที

ขั้นตอนที่ 5  ในการผายปอดแบบเมาท์-ทู-เมาท์ ให้คุณประกบปากของคุณครอบคลุมบริเวณจมูก และปากของเขาไว้ทั้งหมด จากนั้นค่อยๆ เป่าลมหายใจของคุณลงไปเบาๆ นานประมาณ 1 ½ - 2 วินาที แล้วเงยหน้าขึ้นเพื่อเปิดทางให้เด็กหายใจออกด้วยตัวเอง ทำแบบเดิมอีกครั้ง จากนั้นให้สังเกตดูว่าบริเวณหน้าอกของเด็กมีการเคลื่อนไหวขึ้นลงหรือยัง และตรวจสอบจังหวะชีพจรของเด็ก

ขั้นตอนที่ 6  การตรวจชีพจร ทำโดยใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางแตะบริเวณแขนด้านใน ช่วงกึ่งกลางระหว่างไหล่กับข้อศอกของเด็ก นานประมาณ 5-10 วินาที



ถ้าชีพจรเต้น
ไม่ต้องกดบริเวณหน้าอก เพื่อปั๊มหัวใจ
เป่าลมหายใจทางปาก (เมาท์-ทู-เมาท์) ต่อ โดยให้ทำทุกๆ 3 วินาที
ตรวจการเต้นของชีพจรทุกๆ รอบของการเป่าลมหายใจทางปากครบ 20 ครั้ง
ให้เป่าลมหายใจทางปาก และตรวจชีพจรต่อไปเรื่อยๆ จนกว่ารถพยาบาลจะมาถึง หรือจนกว่า เด็กจะเริ่มหายใจได้เองอีกครั้ง

ถ้าชีพจรไม่เต้น
ทำการปั๊มหน้าอก โดยวางนิ้วนางและนิ้วกลางบริเวณกระดูกสันอก ซึ่งอยู่ห่างจากบริเวณหัวนมลงมาประมาณหนึ่งนิ้ว กดลงไปประมาณครึ่ง ถึงหนึ่งนิ้ว
การกดปั๊มหน้าอกให้ กดเป็นจังหวะเร็วๆ สองครั้งต่อวินาที ตามอย่างจังหวะการเต้นของหัวใจเด็ก โดยให้นับจังหวะการกดเสียงดัง เพื่อไม่ให้ตกจังหวะไป
ทุกรอบของการกดปั๊มหน้าอกครบ 5 ครั้งให้ทำการเป่าลมหายใจด้วยปากหนึ่งครั้ง
ตรวจชีพจรอีกครั้ง หลังกดปั๊มหน้าอก และเป่าลมหายใจด้วยปากได้ 1 นาที และให้ทำการตรวจชีพจรอย่างต่อเนื่องทุกๆ 2-3 นาที
ให้กดปั๊มหน้าอก เป่าลมหายใจ และตรวจชีพจรต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าชีพจรเด็กจะเต้นอีกครั้ง หรือรถพยาบาลมาถึง

สิ่งสำคัญคือ แม้คุณจะสามารถช่วยให้เด็กฟื้นขึ้นมาได้แล้ว แต่ยังคงมีความจำเป็นที่คุณจะต้องพาเด็กไปรับการตรวจรักษาจากคุณหมอโดยเร่งด่วนค่ะ

อย่าปล่อยให้นาทีวิกฤติของลูกน้อย เป็นเรื่องปาฏิหาริย์ของโชคชะตา จำไว้ว่าตัวคุณเองมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยเหลือชีวิตน้อยๆ ที่เป็นดวงใจของคุณ  เรียนรู้วิธี และหลักการที่ถูกต้อง ยิ่งมีโอกาสได้เข้าครอสฝึกซ้อม ก็ยิ่งทำให้การช่วยเหลือมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  ที่สำคัญตั้งสติให้ดี อย่าปล่อยให้ความตกใจของคุณพรากวินาทีชีวิตของลูกน้อยไปโดยคุณไม่ได้ทำอะไรเลยนะคะ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้