Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
ภาวะมีบุตรยาก อาจแก้ไขได้ไม่ยาก หากรู้สาเหตุที่แท้จริง ซึ่งจริงๆ แล้วสาเหตุของการมีลูกยากนั้น มีหลากหลายปัจจัย ส่วนใหญ่แล้วล้วนเกิดมาจากความผิดปกติภายในระบบสืบพันธุ์ แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ข้อมูลที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร European Respiratory Journal ได้เผยถึงสาเหตุใหม่ของการมีบุตรยาก นั่นคือ โรคหอบหืด
โดยข้อมูลใหม่นี้ เป็นผลงานวิจัยของ The Respiratory Research Unit แห่งโรงพยาบาล Bispebjerg ในเดนมาร์ค ซึ่งได้ตรวจสอบกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้หญิงอายุระหว่าง 23 – 45 ปี ที่เข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยาก พบว่าเฉลี่ยแล้วผู้หญิงที่มีบุตรยาก ที่ตรวจพบว่าเป็นโรคหอบหืดด้วยนั้น จะใช้ระยะเวลาที่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ประมาณ 4 ปีกว่า ขณะที่ผู้หญิงที่มีภาวะมีบุตรยากแต่ไม่มีอาการของโรคหอบหืดใช้เวลาเพียง 2 ปีกว่า ซึ่งหากเปรียบเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ ผู้หญิงที่เป็นโรคหอบหืดมีโอกาสตั้งครรภ์ได้เพียงร้อยละ 39.6 เท่านั้น
ทั้งนี้ จากการศึกษาลงลึกในรายละเอียดพบว่าสาเหตุที่ทำให้โรคหอบหืดมีผลต่อโอกาสในการตั้งครรภ์ นั่นก็เพราะอาการของโรคจะส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรังในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งการอักเสบอาจแพร่ไปยังอวัยวะส่วนอื่นของร่างกายรวมไปถึงระบบสืบพันธุ์ในผู้หญิงได้ รวมทั้งส่งผลต่อฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้การอักเสบจากโรคยิ่งแย่ลง
อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วความรุนแรงของโรคหอบหืดจะลดลงเมื่อผู้หญิงมีอายุมากขึ้น นั่นแสดงให้เห็นว่า โรคหอบหืดมีผลต่อช่วงวัยเจริญพันธุ์ หรือช่วงวัยที่ผู้หญิงสามารถมีบุตรได้ และจะเริ่มลดความรุนแรงของโรคลงเมื่อผู้หญิงย่างเข้าวัย 35 ปีขึ้นไป แต่เท่ากับแนวโน้มการตั้งครรภ์ก็จะลดลงไปด้วยเช่นกัน ขณะที่การพิจารณาในเรื่องของผลกระทบจากการใช้ยารักษาโรคหอบหืด พบว่าไม่มีผลเขื่อมโยงต่อภาวะมีบุตรยาก ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยรูปแบบใดก็ตาม
ด้วยเหตุนี้เอง อลิซาเบธ จูล เกด หัวหน้าโครงการวิจัยนี้จึงได้กล่าวแนะนำสำหรับผู้หญิงทุกคนที่พบว่าตัวเองมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคหอบหืด หรือตรวจพบว่าตัวเองเป็นโรคหอบหืดแล้ว หากอยากมีลูก ให้รีบมีลูกก่อนช่วงอายุ 35 ปี โดยอย่ากังวลว่าอาการจะกำเริบในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ แล้วต้องใช้ยารักษาจนอาจมีผลต่อลูกน้อยในครรภ์ เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้วคุณหมอย่อมให้การดูแล และระมัดระวังในการให้ยาเพื่อรักษาโรคให้กับคุณอยู่แล้ว
ที่สำคัญคือ ให้พึงระลึกไว้เสมอว่าการใช้ยารักษาโรคหอบหืดเป็นสิ่งจำเป็นขณะตั้งครรภ์ เพราะหากไม่ได้รับการรักษา มีโอกาสเสี่ยงที่ทารกในครรภ์จะคลอดก่อนกำหนด การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ไม่ดี และน้ำหนักแรกเกิดต่ำ อันเป็นผลมาจากปัญหาของระบบทางเดินหายใจของแม่ที่ไม่ดีทำให้ลูกน้อยได้รับปริมาณออกซิเจนไม่เพียงพอ
29 ก.ย. 2566
10 มิ.ย. 2562