อาหารแก้อาการกวนใจขณะตั้งครรภ์

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

ตลอดช่วงเวลา 9 เดือนของการตั้งครรภ์ คุณต้องฝ่าฟันบททดสอบแห่งความยากลำบากมากมาย จากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการก่อกำเนิดของชีวิตน้อยๆ ในครรภ์  อาการเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงก้าวแรกเริ่มของการทำหน้าที่ “แม่” ซึ่งจะต้องมีทั้งความอดทน และการเสียสละ กระนั้น การได้รู้ถึงสาเหตุ และวิธีการดูแลตัวเอง คุณก็สามารถทำหน้าที่นี้ได้ด้วยความรู้สึกปลาบปลื้ม และเป็นสุขใจ

แพ้ท้อง (คลื่นไส้อาเจียน)
อาการแพ้ท้องมักเกิดขึ้นเฉพาะช่วงแรกๆ ของการตั้งครรภ์ คุณควรรับประทานอาหารครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง พยายามเลือกอาหารที่ชอบหรือรับประทานแล้วไม่อาเจียน ความเครียดเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของภาวะแพ้ท้อง ยาบำรุงเลือดและวิตามินมักจะทำให้อาเจียนมากขึ้น ดังนั้นช่วงนี้ควรงดยาบำรุงเลือดและวิตามินก่อน โดยเฉพาะถ้ามีอาการแพ้ท้องมาก

อาการอ่อนเพลีย 
อาการอ่อนเพลียที่เกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์นั้นถือเป็นสิ่งปกติ เพราะร่างกายต้องการการนอนหลับพักผ่อนเพิ่มขึ้น การงีบหลับจะช่วยคุณอย่างมาก  อย่างไรก็ตามคุณต้องจำไว้เสมอว่า เมื่อท้องมีขนาดใหญ่ขึ้นไม่ควรนอนหงาย เพราะการนอนหงายมดลูกที่โตจะไปกดหลอดเลือดดำที่ไปยังหัวใจ ซึ่งจะทำให้การสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ลดลง คุณอาจหน้ามืดเป็นลมได้ รวมถึงการลดลงของเลือดที่ไปเลี้ยงทารก

เวียนศีรษะ เป็นลม  
ขณะตั้งครรภ์ ปริมาณเลือดจำนวนมากจะถูกกักเก็บไว้ในช่องท้องเพื่อใช้เลี้ยงทารกในครรภ์ ทำให้เลือดแดงไหลขึ้นไปเลี้ยงสมองของคุณแม่ไม่ทันในบางครั้ง จึงทำให้สมองขาดออกซิเจนจึงเกิดอาการวิงเวียนได้ การแก้ไข นั่งชันเข่าแล้วก้มศีรษะหาเข่า หรือนอนลง เมื่ออาการทุเลาลงแล้ว ให้จิบน้ำหวานเย็นๆ 

ปัสสาวะบ่อย
เป็นอาการปกติสำหรับคนท้องเดือนแรกๆ เพราะระดับฮอร์โมนที่สูงขึ้นทำให้ปัสสาวะออกบ่อย เมื่อตั้งครรภ์ผ่านพ้น 3 เดือนแรกไปแล้วอาการนี้ก็จะหายไปได้เอง และจะเป็นอีกครั้งในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ เนื่องจากมดลูกที่ใหญ่ขึ้นไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ การแก้ไข ให้ดื่มน้ำน้อยลงในตอนเย็นจะช่วยได้ แต่หากมีอาการแสบขัดร่วมด้วย ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

การเปลี่ยนแปลงของเต้านม 
ขณะตั้งครรภ์คุณแม่จะสังเกตว่า เต้านมมีการเปลี่ยนแปลง โดยมีขนาดใหญ่ขึ้น แน่นขึ้น และอาจกดเจ็บ บริเวณหัวนมและลานหัวนมจะมีสีเข้มขึ้น ขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจากต่อมน้ำนมเล็กๆ บริเวณดังกล่าวจะขยายตัวและสร้างน้ำนมข้นๆ สีเหลือง ซึ่งเรียกน้ำนมชนิดนี้ว่า หัวน้ำนม ระหว่างการตั้งครรภ์บางคนอาจมีหัวน้ำนมไหลออกมาได้ กรณีที่ไหลออกมาเปรอะเปื้อน ควรล้างออกด้วยน้ำอุ่นและเช็ดหัวนมให้แห้ง

ผิวหนังเปลี่ยนสี
ช่วงระยะครรภ์ 6 เดือน คุณอาจสังเกตเห็นรอยด่างดำบนผิวหนังใบหน้า บริเวณหน้าอก หรือหน้าท้องได้ชัด ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ และไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ รอยด่างดำเหล่านี้จะหายไปภายหลังการคลอด อย่างไรก็ตามการทาครีมบำรุงผิวในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ ร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีวิตามินอีมากจะช่วยบำรุงผิวพรรณของคุณ และลดภาวะผิวหนังลายได้บ้าง 

เลือดกำเดาออก
ช่วงตั้งครรภ์เลือดจะไปสะสมตัวเพื่อเลี้ยงเยื่อบุบริเวณที่เป็นเยื่อเมือกทุกแห่งมากขึ้น ซึ่งมีผลให้เส้นเลือดเกิดฉีกขาดได้ง่ายทำให้เลือดออก อาการนี้มักเกิดขึ้นในช่วงอากาศหนาวและแห้ง ถ้าเลือดกำเดาออกให้นั่งพิงศีรษะกับฝาบ้านไว้ บีบจมูกทั้งสองข้างให้แน่น แล้วหายใจทางปาก เอาน้ำแข็งหรือผ้าเย็นประคบเหนือดั้งจมูก ด้านหลังของคอ เมื่อเลือดหยุดแล้วให้ใช้วาสลินทาเยื่อจมูกเพื่อป้องกันการแห้ง อย่าขยี้จมูก หรือสั่งน้ำมูกอย่างแรงเพื่อป้องกันไม่ให้เลือดออกซ้ำ



ท้องอืดแน่นท้อง
อาการท้องอืด แน่นท้อง ซึ่งจะตามมาด้วยการเรอ เป็นอาการที่สร้างความรำคาญรองลงมาจากการแพ้ท้อง ป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร เช่น หัวผักกาด ถั่ว เป็นต้น

ท้องผูก
เป็นอาการปกติชนิดหนึ่งของผู้หญิงมีครรภ์ เนื่องจากการเคลื่อนไหวของลำไส้ในคนท้องจะช้าลง ทำให้การขับถ่ายเป็นไปได้ยากขึ้น การป้องกันทำได้โดยการรับประทานผักและผลไม้ที่มีกากใยให้มากขึ้น ถ้าวิธีนี้ยังไม่ได้ผลอีก ก็อาจรับประทานยาระบายได้บ้างเป็นครั้งคราว จำไว้ว่า แพทย์เท่านั้นจะเป็นผู้สั่งยาให้คุณ ไม่ควรรับประทานยาระบายเอง (หรือการใช้ยาอื่นใดในระหว่างมีครรภ์ ก็ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ)

ริดสีดวงทวาร
เกิดจากการติดขัดของระบบไหลเวียนของเลือดในร่างกายส่วนล่างในระยะตั้งครรภ์ ทำให้เกิดเส้นเลือดขอดที่ทวาร มักเกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ อาการที่เกิดขึ้นจะมีตุ่มพองสีคล้ำเป็นกลุ่มอยู่รอบรูทวารหนัก หรือในส่วนล่างของลำไส้ใหญ่ส่วนสุดท้ายทำให้มีอาการเจ็บ หรือมีเลือดออกเวลาถ่ายอุจจาระ

การแก้ไข  ถ้ายังไม่เป็นคุณควรควบคุมการขับถ่ายให้เป็นไปตามปกติทุกวัน รับประทานผักผลไม้ และดื่มน้ำให้มากจะช่วยป้องกันการเกิดอาการได้ แต่ถ้าหากเป็นแล้ว เกิดเจ็บเวลาขับถ่าย ให้นำเอาอ่างใส่น้ำอุ่นจัดๆ มานั่งแช่ ใช้มือช่วยดันเอาหัวริดสีดวงทวารเข้าไปทุกครั้งหลังถ่ายจะทำให้ไม่เป็นมากขึ้น 

ปวดหลัง
อาการปวดหลังเกิดขึ้นได้จากสาเหตุ 3 ประการ คือมีการบีบรัดตัวของมดลูก ทำให้มีอาการปวดร้าวบริเวณก้นกบ, การแอ่นของโครงกระดูกสันหลัง เพื่อรับน้ำหนักท้องที่เพิ่มมากขึ้นทำให้กล้ามเนื้อหลังต้องแอ่นตาม จึงเกิดการปวดกล้ามเนื้อ และกระดูก ประการสุดท้ายเกิดจากการที่คุณแม่ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ ขณะที่ทารกอายุ 5 เดือนขึ้นไปมีความต้องการแคลเซียมมากขึ้น จึงดึงแคลเซียมที่อยู่ในกระดูกสันหลังมาใช้ จึงเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดหลังขึ้น อาจป้องกัน และบรรเทาอาการได้ โดยการพักผ่อน ไม่ใส่รองเท้าสันสูง และ ในบางกรณีอาจต้องใช้เครื่องรัด หรือสเตรย์สำหรับคนท้องช่วย

นอนไม่หลับ
หญิงมีครรภ์มักมีอาการนอนไม่หลับ อาจจะมีสาเหตุ 2 ประการ คือ หนึ่ง คิดมากเพราะความวิตกกังวลกับสภาวะใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไป หรือ สอง เพราะครรภ์ที่ใหญ่ขึ้น และเด็กมักดิ้นแรง ทำให้นอนไม่หลับ ไม่สบายและไม่สงบกาย อาการนี้ไม่จำเป็นต้องหาหมอนอกจากในกรณีที่หนักมาก อาจจะต้องปรึกษาหมอเพื่อให้ยานอนหลับอย่างอ่อนๆ 

อึดอัด หายใจไม่ออก
มีสาเหตุใหญ่ๆ 2 ประการ คือ เมื่อท้องใหญ่ขึ้นจะทำให้การขยายตัวของปอด ขณะหายใจเข้าทำได้ไม่เต็มที่ อีกสาเหตุหนึ่ง มักเกิดขึ้นในขณะนอนหงาย เพราะ มดลูกที่โตขึ้น จะกดทับลงบนเส้นเลือดใหญ่ในช่องท้อง โดยเฉพาะเส้นเลือดดำใหญ่ ซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงเลือดจากส่วนล่างของร่างกายกลับคืนสู่หัวใจ เพื่อไปฟอกที่ปอด เป็นเหตุให้เลือดไหลกลับหัวใจน้อยลงอย่างเฉียบพลัน จึงทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัด คล้ายๆ กับหายใจไม่เต็มปอด ดังนั้น เมื่อครรภ์มีขนาดใหญ่ขึ้น จึงควรนอนตะแคงซ้าย เพราะจะช่วยให้การไหลเวียนโลหิตในร่างกายปรับสภาพไปในทางที่ดีที่สุด แต่ถ้าเกิดเมื่อยขึ้นมา ก็สามารถพลิกตะแคงขวาบ้างก็ได้

แน่นหน้าอก 
ในระยะท้องแก่ มดลูกจะอยู่สูงและเบียดกะบังลม ทำให้การเคลื่อนขึ้นลงของกะบังลมไม่สะดวก จึงทำให้คุณแม่มีอาการแน่นหน้าอกขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่รู้สึกเหนื่อยมาก การแก้ไข หลีกเลี่ยงการยกของหนักๆ และไม่ขึ้นบันไดสูงๆ หรือหลายๆ ขั้น หากเกิดอาการในตอนกลางคืน ให้ใช้หมอนสัก 2-3 ใบ หนุนไหล่ให้สูงขึ้น

อาการแสบร้อนในทรวงอก
อาการร้อนภายในกระเพาะอาหารและใต้ทรวงอก มีสาเหตุมาจากมดลูกโตขึ้น ไปดันซี่โครงกระดูกด้านล่างขึ้น และกระเพาะทำหน้าที่ย่อยอาหารได้ช้าลง น้ำกรดในกระเพาะอาหารจึงไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหารที่อยู่ในทรวงอก แก้ไขหรือบรรเทาอาการได้โดยให้หั่นชิ้นมะละกอดิบเคี้ยวเล่นเป็นอาหารว่าง หรือปรุงอาหารที่มีผลิตผลของต้นสะระแหน่เป็นส่วนผสม ถ้ายังไม่ได้ผล หลังอาหารแต่ละมื้อให้ตบท้ายด้วยกล้วย หรือโยเกริต และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเผ็ด, อาหารผัดแห้ง, ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว, กาแฟ, มะเขือเทศ และซอสมะเขือเทศ เป็นจำนวนมากๆ

จุกเสียด
เกิดขึ้นจากการที่กระเพาะอาหารพองตัว และเกิดการสำรอกของกรดและน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร การแก้ไข ให้ดื่มน้ำมากๆ หรือปรึกษาคุณหมอให้ช่วยสั่งยาลดกรดที่ปลอดภัยให้กับคุณ ไม่ควรซื้อยากินเอง เพราะยาลดกรดบางประเภทจะมีส่วนผสมของโซเดียมคาร์บอเนต ซึ่งจะเป็นอันตรายกับทารกในครรภ์ได้

ตะคริวกินขา
ผู้หญิงมีครรภ์เกือบทุกคนมักเป็นตะคริวที่ขาเสมอ ทั้งนี้เนื่องมาจากปริมาณแคลเซียมในเส้นเลือดลดลง การไหลเวียนของโลหิตบริเวณขาช้าลง ควรบีบนวดและการใช้ความร้อนช่วย โดยใช้ผ้าแช่น้ำอุ่นประคบ จะทำให้อาการเป็นตะคริวหายไป การป้องกันอีกวิธีหนึ่งอาจทำได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมมากขึ้น และหากเป็นไปได้เวลานั่งหรือนอนพยายามนั่งยกขาให้สูงกว่าระดับตัวเล็กน้อย

อาการขาบวม
โดยปกติในช่วงสามเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์คุณแม่อาจมีอาการเท้าบวมขึ้นมาได้ เนื่องจากปริมาณน้ำที่สะสมตลอดช่วงของการตั้งครรภ์ ประกอบกับการไหลเวียนของเลือดที่ขาไหลไม่ค่อยสะดวก การแก้ไข ลดอาหารเค็มลง อาการก็จะดีขึ้นได้เอง แต่ถ้าเป็นมาก คุณหมออาจสั่งยาขับปัสสาวะให้กับคุณ ที่สำคัญควรหมั่นสังเกตตัวเอง ถ้าอาการบวมเป็นมาก ลามมาที่ขา หน้า และมือด้วย อาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคครรภ์เป็นพิษได้ คุณควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้