สูตรสำเร็จการเงินในบ้าน

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

สถิติการหย่าร้างส่วนมาก มักมีสาเหตุมาจากเรื่องปากท้องเป็นจุดเริ่มต้น นั่นเพราะคนสองคนต่างเคยมีอิสระในการใช้จ่ายอย่างเต็มที่ แต่เมื่อมาใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกัน ย่อมหนีไม่พ้นต้องรับภาระรายจ่ายร่วมกัน หากคู่ของคุณมีรายได้เหลือกินเหลือเก็บ การแบ่งสัดส่วนความรับผิดชอบก็คงไม่จำเป็นนัก แต่ถ้าหากต่างฝ่าย ต่างยังต้องช่วยกันหารายได้เข้าบ้านล่ะ คุณจะแบ่งกันดูแลอย่างไร?

การวางแผนการเงินที่ดี จะช่วยให้เรื่องเงินๆ ทองๆ ไม่ใช่ปัญหาบ่อนทำลายความมั่นคงในครอบครัว คุณสามารถวางระบบการเงินในบ้านได้ด้วยแนวทางต่อไปนี้

กระเป๋าส่วนตัวสำหรับชีวิตคู่
สังคมไทยส่วนใหญ่ฝ่ายหญิงจะเป็นคนรับหน้าที่ในการดูแลเรื่องเงินๆ ทองๆ ในบ้าน เพราะเป็นเพศที่มีความละเอียดรอบคอบ แถมยังมีกิจกรรมที่ต้องใช้เงินน้อยกว่า ทำให้มีความมั่นใจได้ว่า เงินทองในบ้านไม่รั่วไหลอย่างแน่นอน ยิ่งเป็นเมื่อก่อน หลังแต่งงานกันแล้ว สามีมีรายได้เท่าไร สิ้นเดือนก็จะให้ภรรยาเก็บไว้ทั้งหมด แล้วเหลือเงินไว้สำหรับใช้จ่ายของตัวเองเพียงเล็กน้อย แต่มาในสมัยนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะทำงานนอกบ้านด้วยกันทั้งหญิงและชาย แม้คู่ของคุณจะต่างคนต่างใช้ แต่บางครั้งการควักกระเป๋าเงินส่วนตัวของคุณเองออกมาใช้จ่ายในเรื่องส่วนตัว ก็อาจส่งผลกระทบกับอีกฝ่ายได้เช่นกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น หากสามีของคุณแบ่งเงินเดือนครึ่งหนึ่งของเขาให้พ่อแม่เป็นประจำทุกเดือน ในขณะที่ตัวคุณให้เพียงแค่ 10% ของเงินเดือน ในกรณีอย่างนี้คุณจะคิดอย่างไร?

คุณอาจไม่คิดอะไร หากเงินเดือนครึ่งที่เหลือของสามียังคงครอบคลุมภาระค่าใช้จ่ายในบ้านที่เป็นส่วนของเขาอยู่ 



แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นล่ะ! 
ถ้าคุณเกิดมีความรู้สึกขึ้นมาว่า หากเขาให้เงินพ่อแม่ของเขาน้อยลงกว่าที่เคย หรืออย่างน้อยๆ ก็ให้เท่าๆ กับที่คุณให้ ครอบครัวของคุณสองคนก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ล่ะ! 

เพราะการแต่งงาน หรือการใช้ชีวิตคู่ เปรียบเสมือนคุณสองคนได้เข้าเป็นหุ้นส่วนเพื่อการลงทุนอะไรสักอย่างหนึ่ง อาจเป็นการลงทุนเพื่อการมีเส้นทางชีวิตราบเรียบร่วมกัน หรือเพื่อลูกน้อยที่เป็นทายาทของคุณสองคน ดังนั้น การใช้จ่ายเงินในบริษัทครอบครัวจำกัดนี้ คุณจำเป็นต้องแบ่งบัญชีออกเป็น 2 ส่วน คือ บัญชีส่วนตัว และส่วนกลาง โดยอาจจัดสรรบัญชีส่วนกลาง ตามสัดส่วนรายได้ของแต่ละคน ใครได้มาก ก็เสียสละจ่ายมากหน่อย ใครได้น้อยก็จ่ายน้อยหน่อย หรืออาจนำเอาความจำเป็นของแต่ละคนมาเป็นปัจจัยในการพิจารณาร่วมด้วยก็ได้ เมื่อกำหนดอัตราเงินที่ต้องหักเข้าบัญชีส่วนกลางได้แล้ว บัญชีส่วนตัวก็ต่างคนต่างใช้ ไม่ต้องก้าวก่ายกันและกันทุกอย่างก็ลงตัวอย่างอิสระได้ไม่ยาก

เมื่อคุณแบ่งสัดส่วนการเงินออกมาอย่างชัดเจนเช่นนี้แล้ว ก็ให้เปิดบัญชีร่วมขึ้นมา 2 บัญชี เป็นบัญชีสำหรับค่าใช้จ่ายร่วม และบัญชีเงินเก็บร่วมกันเพื่อเป้าหมายที่ตั้งไว้ เมื่อถึงวันสิ้นเดือน ก็ให้นำเงินเข้าบัญชีทั้งสองตามสัดส่วนที่ได้คำนวณไว้ พอถึงวันครบกำหนดจ่าย ใครสะดวกจ่ายอะไรก็ให้นำเอาสมุดบัญชีไปถอนออกมาจ่าย  เท่านี้ก็ไม่ต้องมานั่งเกี่ยงกันว่าใครจะเป็นคนรับผิดชอบอะไร นอกจากคุณจะได้ตรวจสอบบัญชีการใช้จ่ายในส่วนที่เกี่ยวข้องกันแล้ว ยังคงความเป็นอิสระเหมือนเมื่อครั้งเคยใช้ชีวิตโสดได้อีกด้วย

เงินไม่ใช่เรื่องใหญ่หากคุยกันรู้เรื่อง
เรื่องเงินๆ ทองๆ เป็นประเด็นที่คุยยากที่สุด ไม่ว่าคู่สนทนาของคุณจะเป็นใครก็ตาม ถึงขนาดเคยมีคนพูดต่อๆ กันว่า อย่าลงทุนกับเพื่อนรัก เพราะจะทำให้คุณเสียเพื่อนเพราะเรื่องเงินๆ ทองๆ นี่แหละ  แต่ในกรณีของชีวิตคู่ หากคุณสองคนไม่คุยกันเลยซิ มีหวังได้แยกทางกันสักวันแน่

การสื่อสารระหว่างกันเป็นสิ่งสำคัญมาก ที่จะทำให้คุณสองคนมีความเข้าใจในรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละคนที่แตกต่างกันมากขึ้น แต่การสื่อสารในเรื่องที่ต้องคำสาปอย่างนี้ คงต้องระวังกันหน่อยล่ะ ลองนำเอาเทคนิคต่อไปนี้ไปใช้ดูนะคะ

*สร้างกฎเกณฑ์ในการคุย ก่อนที่คุณจะมาคุยกันในประเด็นที่ล่อแหลมอย่างนี้ ก็ลองนั่งคุยกันในเรื่องจุดอ่อนจุดแข็งกันก่อน อารมณ์คุณจะฮีทขึ้นในจุดไหน แล้วเขาล่ะจุดไหนบ้างที่จี้ลงไปไม่ได้เลย จากนั้นก็สร้างกฎกติกาที่จะนำมาใช้ในการเจรจาเรื่องเงินทองร่วมกัน

*พูดกันทีละคน ระหว่างที่อีกคนหนึ่งพูด ให้ตั้งใจฟังให้ดี คิดตามไปด้วย เมื่อเขาพูดจบแล้ว คุณค่อยพูดตอบ แต่ไม่ควรพูดสอดแทรกเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดเรื่องราวได้ง่าย

*มองให้เห็นถึงความแตกต่างของคุณสองคน คุณอาจมาจากครอบครัวที่มีกินมีใช้พอสมควร อีกฝ่ายอาจมาจากครอบครัวที่มีน้อยกว่า แน่นอนว่ารูปแบบการใช้ชีวิตของคุณทั้งคู่ย่อมมีช่องว่างที่แตกต่างกัน เขาอาจใช้ชีวิตที่ฟุ่มเฟือยหรูหราในสายตาของคุณ ขณะที่ไม่พอใจที่คุณประหยัดเงินทองไปช่วยเหลือญาติพี่น้องของคุณ ในกรณีนี้หากคุณสองคนมองในมุมที่กลับกันอย่างเข้าใจ ทางเลือกสายกลางก็ย่อมเปิดรับให้คุณสองคนก้าวผ่านไปได้ไม่ยากนัก

บางครั้งขอบเขตแห่งความพอดีมันก็อยู่ที่อารมณ์ของผู้ที่คิดอยู่ ณ ขณะนั้นด้วย ในวันแรกของการใช้ชีวิตคู่คุณค่าความรักของคุณสองคน มีค่ายิ่งเสียกว่าเงินทองจะหาซื้อได้ง่ายๆ แต่เมื่อต้องเป็นฝ่ายเสียสละให้กับคู่ที่ด้อยกว่าเสียทุกอย่างนานวันเข้า เงินทองที่จ่ายมากเกินไปนิดก็ทำให้คุณคิดแล้วคิดอีก จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังได้ ถ้าถึงวันนั้น เห็นทีคุณคงต้องพูดคุยกับตัวเองให้รู้เรื่องเสียก่อนว่า ณ วันนี้ คุณตีค่าความรักของคุณไว้อย่างไร หากความรักของคุณยังมีค่าเกินกว่าที่เงินทองจะซื้อหาได้ (ไม่ว่าจะได้อย่างมีเงื่อนไขหรือไม่ก็ตาม) ยังไงซะการเจรจาของคุณก็คงไม่ไปจบลงที่การแตกแยกอย่างแน่นอน

คุณสองคนอาจต้องปรับตัวเข้าหากันในหลายๆ เรื่อง อาจต้องตั้งเป้าหมายร่วมกัน สร้างเงื่อนไขและร่วมกันปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งไม่สามารถทำตามได้ ก็ยืดหยุ่นให้แก่กันบ้าง เพียงเท่านี้ เรื่องเงินๆ ทองๆ ก็ไม่ใช่ประเด็นปัญหาหลักสำหรับครอบครัวของคุณแล้วล่ะค่ะ

แนวทางสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว
ใครจะรู้ว่า วันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น และผลที่เกิดขึ้นจะกระทบอะไรกับสมาชิกในบ้านของคุณบ้าง การสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับครอบครัว ก็เหมือนกับการสร้างหลักประกันที่ว่าเมื่อวันข้างหน้า หากเกิดวิกฤติขึ้น ครอบครัวของคุณก็สามารถยืนหยัดฝ่าฟันร่วมกันไปได้

แต่ก่อนที่คุณจะวางรากฐานที่มั่นคงให้กับครอบครัว ก็ต้องปฏิวัติรูปแบบชีวิตเดิมๆ เสียก่อน เริ่มจากสำรวจดูซิว่าไลฟ์สไตล์ในการใช้จ่ายของครอบครัวคุณเป็นอย่างไร จากนั้นก็ประเมินสถานการณ์ดูว่า ไลฟ์สไตล์ที่เป็นอยู่นั้น ทำให้ครอบครัวของคุณกำลังอยู่ในสถานการณ์เช่นไร จากนั้นก็กำหนดเป้าหมายอนาคตทั้งระยะสั้น และยาว และท้ายสุดคือการวางแผนปฏิบัติเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ถ้าพร้อมแล้วก็เริ่มกันเลย

สำรวจรายจ่ายในบ้าน
1.ทำรายการรับ-จ่าย ที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละเดือนของคุณ โดยในส่วนของรายรับที่ไม่แน่นอนให้นำตัวเลขทั้งหมดมาหาค่าเฉลี่ย

2.ให้มาพิจารณาดูว่า รายจ่ายในส่วนใดที่คุณสามารถตัดออกไปได้บ้าง แล้วให้ทำรายการจ่ายขึ้นมาใหม่ 

รายจ่ายหลังหักค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกแล้ว จะเป็นเหมือนแผนปฏิบัติการที่คุณจะต้องนำมาใช้ปรับวิถีการใช้จ่ายในครอบครัวของคุณ

ประเมินสถานการณ์และเคลียร์หนี้

ประเมินสถานการณ์: 
เริ่มด้วยการคำนวณยอดรวมของหนี้กับรายได้ของคุณ เช่น ถ้ารายได้ต่อครอบครัวของคุณเป็น 45,000 บาท ขณะที่มีหนี้ที่จะต้องจ่ายในแต่ละเดือนทั้งหมด (รวมผ่อนบ้าน ผ่อนรถ บัตรเครดิต ผ่อนเครื่องใช้ในบ้าน) เท่ากับ 30,000 อัตราส่วนระหว่างหนี้สินกับรายได้ของครอบครัวคุณ คือ (30,000/45,000)*100 ซึ่งมีค่าเท่ากับ 66.67% ในกรณีนี้ถือว่าสถานการณ์ทางการเงินของครอบครัวคุณอยู่ในระดับที่เสี่ยงค่อนข้างสูงมาก คุณควรปรับผังตารางรายจ่ายในบ้านให้เหลือยอดรวมลดลงมา ซึ่งโดยปกติทั่วไปควรอยู่ราวๆ ที่ 30-40% จึงจะเป็นตัวเลขที่บ่งบอกถึงสถานะที่มั่นคง

กลยุทธ์ในการเคลียร์หนี้: 
1. เริ่มจากการสำรวจดูว่าหนี้ของคุณมีจุดเริ่มมาจากตรงไหน และแต่ละรายการมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด มีกำหนดระยะส่งเมื่อใด และจะสิ้นสุดลงเมื่อใด 

2. ในกรณีที่คุณมีเงินไม่พอจ่ายชำระหนี้ได้ทั้งหมด ให้ดูว่าหนี้แต่ละรายการมีวิธีคิดดอกเบี้ยอย่างไร คงที่ หรือลดต้นลดดอก และมีอัตราดอกเบี้ยเป็นเท่าไร แล้วให้คุณเลือกจ่ายหนี้ที่ทำให้คุณจะต้องเสียดอกมากที่สุดก่อน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องดูด้วยว่าหนี้ไหนสำคัญที่สุด ที่คุณไม่สามารถค้างจ่ายได้เลย เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ

3. โดยให้คำนวณดูว่า คุณสามารถหมุนเงินจากตรงส่วนไหนที่ไม่ต้องเสียดอก หรือถ้าเสีย ก็เสียน้อยมากมาส่งชำระคืนก่อน และจากวิธีการนี้ หากทำให้คุณมีเงินสดหมุนเวียนเหลืออยู่ในมือ อย่านำไปใช้เด็ดขาด ให้นำไปเก็บไว้ในบัญชีเงินออมก่อน เมื่อถึงเวลาจ่ายหนี้งวดต่อไปค่อยนำออกมาจ่ายให้กับเจ้าหนี้ไป 

4. หนี้ที่เกิดขึ้นโดยมีความจำเป็นน้อยที่สุด ให้ปากกาไฮท์ไลท์ขีดเน้นเอาไว้ แล้วจำไว้ว่า เมื่อหมดหนี้สินทั้งหมดแล้ว คุณจะต้องไม่ก่อหนี้ประเภทนี้ขึ้นมาอีก ยกเว้นหนี้ที่จำเป็นจริงๆ อย่างเช่น เงินกู้ซื้อบ้าน (ในกรณีที่ยังไม่มี และคำนวณแล้วว่าค่าเช่า กับค่าผ่อนต่างกันไม่เท่าไร)

วางเป้าหมายอนาคตของครอบครัว
การวางเป้าหมาย เหมือนกับการสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวคุณรู้จักควบคุมตัวเองในเรื่องการใช้จ่าย ให้รู้จักจ่ายแต่พอดี มีชีวิตที่เรียบง่ายแต่ไม่อัตคัดจนเกินไป โดยคุณควรเริ่มต้นดังนี้ค่ะ

1. มองให้ลึกถึงความต้องการของคุณเอง เพื่อที่คุณจะได้จัดอันดับเป้าหมายของคุณได้ และสามารถวางแผนการใช้จ่ายของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น คุณจะรู้ว่า คุณสมควรจ่ายไปกับค่าอะไรบ้าง และสิ่งที่จ่ายให้ไปนั้นจะสร้างคุณประโยชน์อย่างไรบ้างให้กับคุณ หากคุณยังสับสน ไม่แน่ใจว่าความต้องการของคุณคืออะไรกันแน่ หรือมีความต้องการมากกว่าหนึ่ง ลองตอบคำถามต่อไปนี้ดูซิค่ะ 

- คุณต้องการชีวิตครอบครัวแบบไหน มีกินมีใช้ หรือว่าร่ำรวยมีกิจการเป็นของ

  ครอบครัว

- ต้องการมีลูกกี่คน และคาดหวังกับอนาคตของลูกไว้อย่างไรบ้าง

- ต้องการพักอาศัยอยู่แบบไหน ทาวน์เฮ้าส์หลังเล็กๆ หรือบ้านเดี่ยวพอมีบริเวณให้

   ปลูกต้นไม้ก็พอ

- ต้องการพักอยู่ในย่านไหน ชานเมือง ย่านธุรกิจ

- สถานะในปัจจุบันของคุณเป็นอย่างไร คุณพอใจกับงานที่ทำอยู่แล้วหรือยัง มี

  โอกาสที่คุณจะเปลี่ยนงานใหม่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้หรือเปล่า และถ้าหากคุณ

   ตกงาน จะเกิดอะไรขึ้นกับคุณบ้าง

2. นำรายการความต้องการของคุณทั้งหมดมาประเมินแล้วตีค่าออกมาเป็นตัวเลข โดยคุณต้องคำนวณดูด้วยว่าแต่ละเป้าหมายต้องใช้เวลานานแค่ไหน เก็บเงินเดือนละเท่าไหร่

3. เมื่อได้เป้าหมายและตัวเลขแล้ว ก็มาคิดว่าจะเก็บเงินไว้ที่ไหน จึงจะให้ผลตอบแทนสูงสุด และสะดวกในการนำมาใช้เมื่อถึงเวลา โดยที่จะต้องไม่ลืมคำนึงถึงความเสี่ยงที่เงินจะสูญหายด้วย แนะกันนิดว่า หากเป็นเป้าหมายระยะยาว ก็ให้ซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพราะมีความมั่นคง และให้ผลตอบแทนสูง แต่ถ้าเป็นเป้าหมายระยะสั้น อย่างค่าใช้จ่ายสำหรับการมีลูกคนแรก ก็ให้ฝากใส่ในบัญชีฝากประจำ คำนวณดีๆ ให้วันที่ถอนได้ตรงกับวันที่ลูกของคุณจะคลอดพอดี

4. เมื่อคุณมีเป้าหมายที่แน่ชัดแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ การปฏิบัติตัวเองสู่เป้าหมายให้ได้ โดยการจดบันทึกรายจ่ายของครอบครัวคุณ และสรุปบัญชีทุกสิ้นเดือน พร้อมกับทำงบประมาณของเดือนใหม่ การทำบัญชีจะเป็นจุดเริ่มต้นของการควบคุมค่าใช้จ่าย ตัวเลขที่โชว์ในวันสิ้นเดือนจะทำให้คุณรู้ว่า คุณมีเงินเก็บพอหรือไม่ และถ้าหากไม่พอ คุณจะต้องไปลดค่าใช้จ่ายตรงส่วนไหนมาเก็บบ้าง

เก็บเงินไว้เพื่อสร้างความมั่นคง
นอกจากเป้าหมายในอนาคตแล้ว เพื่อความมั่นคงในครอบครัว คุณยังต้องเก็บเงินไว้เผื่อฉุกเฉินด้วย เพราะอนาคตไม่มีใครรู้ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น แม้คุณจะเตรียมการณ์ทุกอย่างเอาไว้อย่างดีแล้ว แต่ถ้าหากจู่ๆ วันหนึ่ง บริษัทของคุณเกิดปัญหา และคุณต้องตกงานขึ้นมาล่ะ ทั้งบ้าน รถ และทุกสิ่งทุกอย่างจะพังทลายไปกับวิกฤติที่เกิดขึ้นหรือเปล่า

โดยทั่วไปแล้ว คุณควรเก็บเงินไว้เผื่อกรณีฉุกเฉินประมาณ 3 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน เนื่องจากเงินจำนวนนี้จะต้องมากพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายประจำเดือนของคุณตลอดระยะเวลา 3 เดือน คุณควรเก็บเงินไว้ในที่ที่สามารถนำออกมาใช้ได้สะดวกเป็นอันดับแรก และหากเป็นไปได้ก็ควรคำนึงถึงแหล่งเก็บเงินที่สามารถทำให้เงินของคุณงอกเงยขึ้นมาได้ด้วย ในกรณีที่คุณเกิดมีความจำเป็นที่จะต้องถอนเงินก้อนนี้ออกมาใช้ คุณควรรีบเก็บใส่กลับให้เท่าจำนวนเดิมโดยเร็วที่สุด และควรตรวจสอบตัวเลขค่าใช้จ่ายรายเดือนของครอบครัวเป็นระยะๆ หากเพิ่มขึ้นก็ต้องปรับตัวเลขเงินกองทุนฉุกเฉินที่ต้องเก็บเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนตามตัวเลขค่าใช้จ่ายใหม่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้