ประกันชีวิต ทางเลือกสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเงินออม

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

ประกันชีวิต เป็นเครื่องมือการออมเงินในระยะยาว ซึ่งไม่เพียงมีเป้าหมายเพื่อให้คุณมีเงินไว้ใช้สอยในวัยเกษียณเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการบริหารความเสี่ยงในชีวิตคุณอีกด้วย โดยคุณสามารถใช้ในการประกันเงินออม ประกันสุขภาพ และประกันคุณภาพชีวิตของบุคคลผู้เป็นที่รักยามเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันที่ทำให้คุณต้องจากเขาไปก่อนเวลาอันควร

การออมเงินผ่านประกันชีวิต อัตราผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ตลอดช่วงสัญญาจะได้รับความคุ้มครองในวงเงินเท่ากับทุนประกัน มีสิทธิซื้อประกันส่วนควบ เช่น ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ และการชดเชยรายได้ ซึ่งสามารถใช้เป็นเงินที่เตรียมไว้เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น คุณไม่ต้องดึงเงินจากส่วนที่เก็บออม และลงทุนเพื่อให้เสียโอกาสในการได้รับผลตอบแทนสูงสุด อีกทั้งยังนำเงินที่จ่ายเป็นค่าเบี้ยประกันไปใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีได้ถึง 100,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ประกันชีวิตไม่ใช่สูตรสำเร็จของการบริหารเงินออมให้ได้ผลประโยชน์สูงสุด แต่เป็นตัวเลือกในลำดับแรกๆ เมื่อคุณคิดจะออมเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณ ในวันที่ยังมีกำลังออมไม่มากนัก และเป็นตัวเลือกหลักที่คุณควรมีไว้ในพอร์ตการลงทุน ในวันที่คุณมีเงินออมมากพอสำหรับการลงทุนที่มากขึ้น

การเลือกแบบประกันที่ให้ผลประโยชน์สูงสุด
ปัจจุบันแบบประกันมีหลากหลาย แต่ละแบบจะถูกกำหนดสัดส่วนการให้ความคุ้มครอง และผลตอบแทนภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่างกัน การเลือกแบบประกันตรงตามวัตถุประสงค์ และความสามารถในการจ่ายชำระเบี้ยประกัน จะให้ผลประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ออม ทั้งนี้ แนวทางในการพิจารณาเลือกแบบประกันมีดังนี้

-แบบประกันที่ให้ความคุ้มครองตลอดชีพ ถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตเมื่อใดในขณะที่กรมธรรม์มีผลบังคับ บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ วัตถุประสงค์เบื้องต้นของการประกันภัยแบบนี้เพื่อจัดหาเงินทุนสำหรับจุนเจือบุคคลที่อยู่ในความอุปการะเมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต หรือเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับการเจ็บป่วยครั้งสุดท้ายและค่าทำศพ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ตกเป็นภาระของคนอื่น แบบประกันนี้ให้ความคุ้มครองในวงเงินสูง แต่ชำระเบี้ยประกันต่ำ วิธีการชำระเบื้อประกันภัยมีสามแบบคือ ชำระครั้งเดียว ชำระตลอดชีพ และชำระชั่วระยะเวลาหนึ่ง

-แบบประกันสะสมทรัพย์  เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยเมื่อมีชีวิตอยู่ครบกำหนดสัญญา หรือจ่ายเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตลงภายในระยะเวลาประกันภัย เบี้ยประกันสูงกว่าตลอดชีพ ทุนประกันน้อยกว่า แต่มีเงินคืนให้เป็นระยะตลอดช่วงอายุสัญญา นอกจากนี้ผู้ออมยังสามารถเลือกระยะเวลาจ่ายชำระเบี้ย และระยะเวลาความคุ้มครองยืดหยุ่นตามความต้องการของตนได้ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการออมเงิน และความคุ้มครองไปพร้อมๆ กัน



-แบบชั่วระยะเวลา  เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตในระยะเวลาประกันภัย (ถ้ามีชีวิตอยู่จนสัญญาครบกำหนดจะไม่ได้เงินคืน) ให้ประโยชน์ในการคุ้มครองมากที่สุด โดยเสียเบี้ยต่อปีต่ำที่สุด หรือเป็นแบบที่เบี้ยประกันถูกที่สุด เพราะกรมธรร์คุ้มครองผู้เอาประกันในกรณีมรณกรรมเท่านั้น

-แบบประกันเพื่อการศึกษาบุตรหลาน มีเงินคืนให้ในช่วงเปลี่ยนระดับชั้นการศึกษา เพื่อให้สามารถนำเงินนั้นไปช่วยเป็นค่าใช้จ่ายการศึกษาบุตรหลานได้ในบางส่วน และยังได้รับความคุ้มครองตลอดอายุสัญญา สิ้นสุดสัญญาได้รับคืนเป็นเงินก้อน

-แบบประกันเพื่อเตรียมพร้อมสู่วัยเกษียณ เบี้ยประกัน และทุนประกันจะใกล้เคียงกับสะสมทรัพย์ แต่จะเริ่มมีเงินคืนให้เมื่อผู้ออมมีอายุครบเกษียณ 55 หรือ 60 ปี โดยจะจ่ายให้ทุกปีไปจนถึงอายุขัยเฉลี่ยของผู้ออม และจ่ายเงินก้อนคืนให้เมื่อครบสัญญาประกัน

-แบบประกันส่วนควบ เช่น ประกันอุบัติเหตุแบบมีชดเชยรายได้ ประกันอุบัติเหตุแบบจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ประกันสุขภาพ ประกันโรคร้าย ฯลฯ เป็นแบบประกันปีต่อปี ค่าเบี้ยประกันปรับตามอายุผู้ทำประกันทุก 4-5 ปี เป็นเงินส่วนที่ใช้จ่ายเป็นค่าบริหารความเสี่ยง และบริหารค่าใช้จ่ายโดยตรง จึงไม่ถูกนำมารวมไว้ในส่วนของการออม ควรซื้อในกรณีที่ไม่มีสวัสดิการจากนายจ้าง หรือสวัสดิการที่ได้รับมีคุณภาพไม่เพียงพอกับความต้องการของตน

-แบบประกันเพื่อผู้สูงอายุ มีเงื่อนไขคล้ายกับประกันอุบัติเหตุ และประกันโรคร้าย แต่รายละเอียดจะมีลักษณะเฉพาะเหมาะสำหรับผู้สูงอายุ และเปิดรับผู้ทำประกันได้จนถึงอายุ 55 -65 ปี ให้ความคุ้มครองต่อเนื่องไปอีก 15 - 25 ปีโดยประมาณ

-แบบประกันควบการผ่อนชำระสินทรัพย์ ส่วนใหญ่เป็นประกันชีวิตแบบคุ้มครองตลอดชีพที่ธนาคารจะกำหนดให้ผู้กู้เงินซื้อบ้านทำเอาไว้ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นกับผู้กู้ บริษัทประกันจะจ่ายเงินส่วนที่ผู้กู้เป็นหนี้คงค้างกับธนาคาร และหากมีเงินเหลือจะจ่ายคืนให้กับบุคคลที่ผู้กู้ระบุไว้ในสัญญาให้เป็นผู้รับประโยชน์ รวมทั้งตัวบ้านก็จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับประโยชน์ด้วย ระยะสัญญาประกันมีตั้งแต่ 10 ปี ไปจนถึง 30 ปี ความคุ้มค่าขึ้นอยู่กับความสามารถในการผ่อนชำระเงินกู้ หากคุณมั่นใจว่าสามารถผ่อนชำระได้หมดภายใน 10 ปี ก็ทำสัญญาเพียงแค่ 10 ปี ซึ่งจะมีค่าเบี้ยประกันต่ำกว่า แต่มูลค่าประกันก็จะหมดไปภายใน 10 ปีเช่นกัน ดังนั้นหากไม่มั่นใจก็ให้เผื่อๆ ทำสัก 5 – 10 ปี จ่ายเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นเท่าตัว แต่ก็เป็นการจ่ายครั้งเดียวคุ้มครองตลอดอายุสัญญา แถมยังคิดออกมาเป็นจำนวนเงินก็ไม่มากมายอะไรเมื่อเทียบกับผลความคุ้มครองที่จะได้รับ 

ทั้งหมดที่หยิบยกมาเป็นตัวอย่างนี้ เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของประกันชีวิตเท่านั้น จริงๆ แล้วประกันชีวิตมีรายละเอียดที่น่าสนใจอีกมาก ซึ่งหากผู้ออมศึกษาจนเข้าใจจะสามารถใช้เทคนิคความรู้นั้นไปเป็นแนวทางในการเลือกใช้แบบประกันชีวิตให้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง บริหารค่าใช้จ่าย เพื่อประกันเงินออมของตนให้มีโอกาสผลิดอกออกผลได้อย่างเต็มที่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้