ทางเลือกการลงทุน เพื่อให้เงินออมทำงานแทนคุณ

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

เคยมีคนกล่าวเปรียบเปรยไว้ว่า คนโง่จะเอาเงินอนาคตมาใช้จ่าย แล้วต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยที่พอกพูนเบียดบังค่าเงินของรายได้ที่ได้รับให้ลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ ขณะที่คนฉลาดเลือกอดออมยอมที่จะใช้จ่ายแต่จำเป็น แล้วนำเงินรายได้ส่วนที่เหลือไปลงทุนจนเกิดดอกผลทำให้เงินรายได้งอกงาม จนมีเงินมากพอใช้จ่ายโดยไม่ขัดสน

คนส่วนใหญ่อยากเป็นคนฉลาด หากแต่การลงทุนมีความเสี่ยง ถ้าตัดสินใจผิดพลาดไปเงินออมนั้นก็อาจสูญสลายไปโดยเปล่าประโยชน์เสียยิ่งกว่า การนำเงินออมมาลงทุนเพื่อให้เกิดดอกผลงอกเงย ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด เริ่มตั้งแต่การจัดสรรเงินเพื่อการลงทุนในระดับที่พอเหมาะกับวิถีชีวิตของตัวเอง ซึ่งโดยปกติแล้วเราควรมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินในจำนวนที่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายประมาณ 3-6 เดือน เพื่อป้องกันปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินขึ้น 

นอกจากนี้แล้ว การจัดพอร์ตการลงทุนเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยกระจายความเสี่ยง ไปพร้อมๆ กับการเพิ่มโอกาสให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า ซึ่งปัจจุบันช่องทางการลงทุนมีให้เลือกหลากหลาย แต่ละช่องทางมีความเสี่ยง และผลตอบแทนที่แตกต่างกันไป



รู้จักกับทางเลือกการลงทุน
เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ความเสี่ยงในการลงทุนมักเชื่อมโยงกับระดับผลตอบแทนที่จะได้รับ ซึ่งเราสามารถแบ่งกลุ่มสินทรัพย์ และหลักทรัพย์ตามระดับความเสี่ยงได้เป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ

กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง (ผลตอบแทนสูง)
หุ้น มูลค่าของหุ้นจะผันผวนขึ้นลงตามสภาวะแวดล้อมที่มากระทบได้ตลอดเวลา ผลตอบแทนการลงทุนในหุ้น จะมาจากเงินปันผลและกำไรจากการซื้อขาย โดยกำไรที่ได้รับไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้หุ้นมีหลากหลายประเภท หากผู้ลงทุนชอบผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาวควรเลือกลงทุนในหุ้นที่มีโครงสร้างพื้นฐานดี จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ ราคาขึ้นลงไม่หวือหวา แต่หากยอมรับความเสี่ยงได้มากกว่า ก็อาจเลือกลงทุนในหุ้นที่มีความเคลื่อนไหวของราคาสูงต่ำหวือหวาเพื่อเก็งกำไรในระยะสั้น แต่ไม่ว่าจะเลือกลงทุนแบบใด ผู้ลงทุนต้องหมั่นติดตามข่าวสารข้อมูลอยู่ตลอดเวลาเพื่อป้องกันความเสี่ยง หรือหากไม่มีเวลาก็อาจลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้นก็ได้ ซึ่งก็จะมีผู้เชี่ยวชาญทำหน้าที่บริหารจัดการแทน

ตราสารอนุพันธ์  เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทหนึ่ง โดยมีมูลค่าผันแปรตามสินทรัพย์ที่อ้างอิง ซึ่งอาจเป็นตราสารทางการเงิน เช่น อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ พันธบัตรตั๋วเงิน หุ้นสามัญ ฯลฯ หรืออาจเป็นสินค้าหรือสินทรัพย์อื่นๆ เช่น ทองคำ น้ำมัน ข้าว ฯลฯ โดยแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ ฟิวเจอร์ส และออปชั่น

การลงทุนในฟิวเจอร์ เป็นการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินค้าที่อ้างอิงถึง ซึ่งทั้งผู้ซื้อ และผู้ขายมีภาระผูกพันที่ต้องทำตามสัญญากันไว้ แต่ก็สามารถล้างภาระผูกพันได้โดยการทำธุรกรรมหักล้างก่อนสัญญาจะครบกำหนดอายุ การลงทุนในรูปแบบนี้จะใช้เงินลงทุนน้อยกว่ามูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์อ้างอิง จึงมีโอกาสเสี่ยงสูงกว่าการลงทุนในสินทรัพย์โดยตรงหากคาดการณ์ผิดพลาด 

การลงทุนในออปชั่น เป็นการทำสัญญาระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายเพื่อซื้อขายสิทธิที่จะ ซื้อหรือขายสินค้าอ้างอิงตามจำนวน ราคา และระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา โดยผู้ซื้อสามารถเลือกใช้สิทธิในการซื้อหรือขาย หรือไม่ใช่สิทธิก็ได้ แต่หากผู้ซื้อเลือกใช้สิทธิ ผู้ขายก็มีภาระต้องทำตามสัญญาที่ให้กับผู้ซื้อ โดยอนุพันธ์ทั้งสองประเภทสามารถซื้อไว้เพื่อเก็งกำไรระยะสั้น หรือเพื่อบริหารความเสี่ยงให้กับสินทรัพย์หลักที่ซื้อไว้ก็ได้

กลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลาง (ผลตอบแทนปานกลาง)
ตราสารหนี้ เป็นตราสารที่หน่วยงานรัฐ หรือบริษัทเอกชนออกเสนอขายเพื่อระดมเงินทุนกับประชาชนผู้สนใจ ซึ่งมีมากมายหลายประเภท อาทิ พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ หุ้นกู้ ฯลฯ ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยเป็นงวดๆ ตามอัตรา และระยะเวลาที่ผู้ออกตราสารกำหนดเอาไว้แน่นอน และได้รับเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนดอายุ เช่น 5 ปี 10 ปี ตราสารหนี้จึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนแบบสม่ำเสมอ และเหมาะกับเงินลงทุนระยะปานกลางถึงยาว เนื่องจากตราสารหนี้มักมีสภาพคล่องต่ำ หากอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ จะเป็นผลให้ราคาตราสารหนี้นั้นลดลง ซึ่งหากผู้ลงทุนมีความจำเป็นต้องขายตราสารหนี้ก่อนครบกำหนดอาจประสบผลขาดทุนได้

สินค้าโภคภัณฑ์ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกการลงทุนที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากราคามีแนวโน้มสูงขึ้น โดยสินทรัพย์ในกลุ่มนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ สินค้าโภคภัณฑ์ที่มีอยู่อย่างจำกัด เช่น ทองคำ ทองแดง น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ฯลฯ ทรัพยากรเหล่านี้เมื่อหมดไปแล้วต้องขุดเพิ่ม ซึ่งมีต้นทุนสูง ใช้เวลานานและไม่เพียงพอกับความต้องการ ราคาจึงปรับตัวสูงมากกว่าจะลดลง อีกประเภทคือ สินค้าโภคภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นใหม่ทดแทนได้ เช่น ผลิตผลทางการเกษตร เป็นสินทรัพย์ที่มีความต้องการใช้จริง และมีปริมาณความต้องการสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากจำนวนประชากรโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี แต่มีความเสี่ยงจากปัจจัยธรรมชาติ การเมือง แรงงาน ราคาจึงมีความผันผวนมาก โดยปกติแล้วการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้จะลงทุนผ่านกองทุนรวมเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้น กรณีทองที่ผู้ลงทุนสามารถซื้อทองคำแท่งมาเก็บไว้เพื่อเก็งกำไรได้

กองทุนรวม เป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ หรือทรัพย์สินประเภทต่างๆ ผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ซึ่งจะทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการลงทุน และบริหารกองทุนให้ได้ผลตอบแทน จากนั้นจึงนำมาเฉลี่ยคืนให้กับผู้ลงทุนแต่ละรายตามสัดส่วนการลงทุนที่ ระบุไว้ใน “หน่วยลงทุน” ซึ่งบริษัทฯ ได้ให้กับผู้ลงทุนเพื่อเป็นหลักฐาน กองทุนรวมจะมีความเสี่ยงและผลตอบแทนตามแต่นโยบายการลงทุนของกองทุนนั้นๆ ซึ่งโดยปกติแล้ว แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก คือ 

กองทุนรวมหุ้น จะเน้นลงทุนในหุ้นสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 65 -100 ความเสี่ยงเทียบเท่าได้กับการลงทุนในหุ้นตามสัดส่วนที่ลงทุน แต่อาจมีข้อได้เปรียบกว่าในแง่ที่ว่าการลงทุนผ่านกองทุนรวม จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนบริหารจัดการให้ ผู้ลงทุนใช้เงินลงทุนจำนวนไม่มาก แต่เงินปันผลที่ได้รับจะต้องเสียภาษีด้วย

กองทุนรวมตราสารหนี้ ความเสี่ยงขึ้นอยู่กับประเภทตราสารหนี้ที่กองทุนไปลงทุน หากเน้นพันธบัตรรัฐบาลเงินต้นจะไม่สูญ แต่ก็จะได้ผลตอบแทนน้อยกว่ากองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นกู้บริษัทเอกชน 

กองทุนรวมผสม มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 35 - 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ส่วนที่เหลือจะลงทุนในหลักทรัพย์อื่นร่วมด้วย จึงทำให้ได้รับผลตอบแทน และมีความเสี่ยงอยู่ในระดับกึ่งกลางระหว่างการลงทุนในกองทุนรวมหุ้น และกองทุนรวมตราสารหนี้

กองทุนรวมเพื่อประโยชน์ในการลดภาษี มีลักษณะเช่นเดียวกับกองทุนรวมทั่วไป แต่จะแตกต่างพิเศษตรงที่ผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิในการนำไปใช้ลดหย่อนภาษีหากปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด กระนั้นหน่วยลงทุนที่ได้รับก็จะไม่สามารถโอน จำนำ หรือนำไปใช้เป็นหลักประกันใดๆ ได้ กองทุนรวมนี้แบ่งออกเป็นสองประเภทคือ  

กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund : LTF) มีนโยบายลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 โดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิในการลดหย่อนภาษีหากถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี (นับตามปีปฏิทิน โดยจะนับแยกในแต่ละช่วงปี เช่น การลงทุนตลอดช่วงปี 2547 จะครบ 5 ปีในเดือนมกราคม 2551 ลงทุนตลอดช่วงปี 2548 จะครบ 5 ปีในเดือนมกราคม 2552 เป็นต้น) และจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ไม่เกินปีละ 2 ครั้ง

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) นโยบายการลงทุน หลากหลายมีตั้งแต่กองทุนที่มีระดับความเสี่ยงต่ำเน้นลงทุนในตราสารหนี้ไปจนถึงกองทุนที่มีระดับความเสี่ยงสูงเน้นลงทุนในตราสารทุน ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิในการนำไปลดหย่อนภาษีได้ ก็ต่อเมื่อมีการสะสมเงินอย่างต่อเนื่อง โดยซื้อหน่วยลงทุน RMF ไม่น้อยกว่าปีละครั้ง ลงทุนขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ในแต่ละปี หรือไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท แต่จะลงทุนได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ในแต่ละปี หรือไม่เกิน 500,000 บาท และจะต้องไม่ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่า 1 ปีติดต่อกันเว้นแต่ในปีนั้นจะไม่มีเงินได้ การขายคืนหน่วยลงทุนทำได้เมื่อผู้ลงทุนอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

อย่างไรก็ตามหากผู้ลงทุนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ก็จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีและยังต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นไปด้วย โดยหากเป็น LTF ต้องคืนเงินภาษีย้อนหลัง 5 ปี แต่หากเป็น RMF ต้องคืนเงินภาษีพร้อมเงินเพิ่มในอัตรา 1.5 ต่อเดือน โดยนับตั้งแต่เดือนเมษายนของปีที่ผู้ลงทุนยื่นขอยกเว้นภาษี จนถึงเดือนที่มีการยื่นคืนเงินภาษี นอกจากนี้ เงินที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุนก็ต้องจ่ายภาษีของกำไรส่วนเกินทุน (Capital Gain) โดยนำกำไรที่ได้รับจากการขายคืนไปรวมเป็นเงินได้ของปีที่ขายคืนเพื่อเสียภาษีเงินได้ ด้วยเหตุนี้ก่อนตัดสินใจลงทุนกองทุนรวมประเภทนี้ ผู้ลงทุนควรพิจารณาให้ดีก่อนว่าสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้หรือไม่

กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ (ผลตอบแทนต่ำ)
เงินฝากธนาคาร ปัจจุบันยังถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำสุด เพราะรัฐบาลให้การประกันเงินฝากไว้ ดังนั้นผู้ฝากเงินจึงไม่ต้องกังวลว่าเงินต้นที่ฝากไว้จะสูญหายไป เพียงแต่ว่าผลตอบแทนที่ได้รับก็จะต่ำมากด้วยเช่นกัน และในบางภาวะจะต่ำติดดินจนอาจเสี่ยงต่อการที่ค่าเงินสูญไปกับตัวเลขเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามนับจากเดือนสิงหาคม 2555 เป็นต้นไป รัฐบาลจะลดความคุ้มครองลงเหลือเพียงให้การประกันเงินฝากที่ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อรายผู้ฝากต่อสถาบันการเงินแต่ละแห่ง นั่นหมายความว่าเงินฝากที่เกิน 1 ล้านบาทเป็นต้นไปอาจเสี่ยงต่อการสูญเงินต้นได้ หากสถาบันการเงินนั้นมีการบริหารจัดการไม่ดี 

ด้วยเหตุนี้การฝากเงินกับธนาคารจึงไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนในอนาคต หากแต่เป็นแหล่งพักเงินที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ที่ยังมีประสบการณ์ไม่มากพอสำหรับการโยกย้ายเงินไปไว้ในแหล่งลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนคุ้มค่าที่สุดในแต่ละช่วงโอกาสที่เหมาะสม 

ประกันชีวิต ถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการลงทุนที่แม้จะไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่งดงาม แต่ให้ประโยชน์ในเรื่องของการประกันความเสี่ยง ซึ่งมีหลากหลายประเภทขึ้นอยู่กับการประเมินของผู้ลงทุนว่าตนอาจมีความเสี่ยงอะไรบ้างก็ให้ซื้อรูปแบบประกันที่ตรงกับความต้องการของตน เช่น ประกันโรคร้าย ประกันสุขภาพ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีประกันชีวิตในรูปแบบการออมที่ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนกลับตลอดระยะเวลาการคุ้มครอง หรือประกันชีวิตที่พ่วงการลงทุน ซึ่งจะให้ผลตอบแทนเทียบเท่าการลงทุนในตลาดทุน แต่ก็จะทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามการจัดประเภทความเสี่ยงข้างต้นเป็นเพียงการจัดกลุ่มคร่าวๆ เท่านั้น ซึ่งความเสี่ยง และผลตอบแทนของสินทรัพย์ และหลักทรัพย์แต่ละตัวยังขึ้นอยู่กับช่วงจังหวะเวลา และคุณลักษณะเฉพาะของแต่ละช่องทางด้วย

หลักจัดพอร์ตการลงทุน เพื่อบริหารความเสี่ยง 
การจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์มากกว่าหนึ่งประเภทเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการกระจายความเสี่ยง ซึ่งความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงต่อการสูญเสียเงินต้น อันด้วยสาเหตุจากหลากหลายปัจจัย อาทิ ความผันผวนของตลาด, ความสามารถในการบริหารจัดการของบริษัทที่ไปลงทุน, ค่าเงินลดลงจากภาวะเงินเฟ้อ, การขาดสภาพคล่องทำให้เสี่ยงต่อการเบิกถอนก่อนกำหนดอันจะทำให้ไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวัง, ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน, ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย ฯลฯ

การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนโดยกระจายการลงทุนไปในหลายช่องทางเป็นแนวทางที่ได้รับนิยมมากที่สุดในการบริหารความเสี่ยง ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติดังนี้

- ผู้ลงทุนต้องไม่ลงทุนในทางเลือกใดทางเลือกหนึ่งด้วยเงินทั้งหมดที่มี แต่ต้องกระจายการลงทุนอย่างสมดุล ทั้งประเภทสินทรัพย์ จำนวนหลักทรัพย์ รวมทั้งกระจายการลงทุนไปตามระยะเวลาสั้น กลาง และยาวอย่างเหมาะสม 

- ไม่ควรลงทุนหลากหลายช่องทาง หรือกระจัดกระจายมากเกินไป เพราะจะทำให้ยากในการติดตามราคาและข่าวสารเกี่ยวกับทางเลือกการลงทุนนั้น

- สร้างความสมดุลระหว่างการลงทุนในทางเลือกที่มีความเสี่ยงน้อย ให้ผลตอบแทนแน่นอน กับการลงทุนในทางเลือกที่มีความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนสูง โดยกำหนดสัดส่วนที่เหมาะกับเป้าหมายของตัวเอง

- จัดพอร์ตการลงทุนให้มีความยืดหยุ่นในระดับที่สามารถปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนได้เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป และควรติดตามข่าวสารสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเงินที่เกี่ยวข้องและหมั่นปรับพอร์ตการลงทุนให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย



จัดพอร์ตตามระดับความสามารถการลงทุน
เนื่องจากการลงทุนมีความเสี่ยง อีกทั้งยังเป็นเรื่องซับซ้อนที่ทำความเข้าใจได้ยาก ดังนั้นในช่วงแรกๆ ของการเริ่มต้น ผู้ลงทุนควรเน้นจัดพอร์ตการลงทุนตามระดับความสามารถในการรับความเสี่ยง ซึ่งจะเชื่อมโยงกับเรื่องของกำลังเงินที่ใช้ลงทุน และความรู้ความเข้าใจในการลงทุน โดยแบ่งได้เป็น 3 ช่วง คือ ช่วงเริ่มต้น ผู้ลงทุนยังมีความรู้ความเข้าใจไม่มากนัก อีกทั้งยังขาดประสบการณ์การลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ลงทุนในกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่ยังมีเงินออมจำกัด การจัดพอร์ตควรเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก โดยเน้นสัดส่วนลงทุนในหุ้น 30% ตราสารหนี้ 40% และเงินฝาก 30% หากผู้ลงทุนไม่มีเวลาในการติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ที่ลงทุน ควรเริ่มต้นด้วยการซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวม โดยแบ่งสัดส่วนตามข้างต้น คือ เลือกลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้น 30% ผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ 40% การลงทุนผ่านกองทุนรวมจะทำให้ผู้ลงทุนมีโอกาสได้ลงทุนในหุ้น และตราสารหนี้หลากหลาย และถือโอกาสนี้เรียนรู้เทคนิคการปรับพอร์ตลงทุนของผู้จัดการกองทุนรวม ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญได้อีกด้วย 

เมื่อเริ่มมีประสบการณ์ในการลงทุน คุ้นเคยกับความผันผวนของผลตอบแทนและความเสี่ยงมากขึ้นแล้ว ให้ปรับสัดส่วนการลงทุนเป็น หุ้น 50% ตราสารหนี้ 30% และเงินฝาก 20% ในช่วงนี้ หากมั่นใจว่ามีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนมากพอแล้ว มีเงินออมมากพอจะซื้อหลักทรัพย์ได้หลากหลาย อาจเลือกลงทุนหลักทรัพย์ด้วยตนเองโดยไม่ต้องซื้อผ่านกองทุนรวม โดย ให้กระจายลงทุนในหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงกรณีที่อุตสาหกรรมหนึ่งไม่ดี หุ้นตก ก็ยังมีหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นที่ให้ผลกำไรดีมาเฉลี่ยผลตอบแทนการลงทุนได้ ทั้งนี้ผู้ลงทุนต้องไม่ลืมติดตามข่าวสารเศรษฐกิจการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อหลักทรัพย์ที่เลือกลงทุนด้วย

เมื่อมีความคล่องตัวในการลงทุนสูง มีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี มีความสามารถในการรับความเสี่ยงได้มากขึ้น ให้ปรับสัดส่วนการลงทุนเป็น หุ้น 70% ตราสารหนี้ 20% และเงินฝาก 10% เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การจัดพอร์ตลงทุนยังต้องคำนึงถึงช่วงอายุของผู้ลงทุนด้วย เนื่องจากแต่ละช่วงวัยจะมีสัดส่วนรายได้ และภาระค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน อันจะส่งผลมาถึงความสามารถในการรับความเสี่ยง และจำนวนเงินลงทุน นอกจากนี้เป้าหมายการลงทุนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ หากผู้ลงทุนต้องการลงทุนเพื่อให้มีเงินเก็บไว้ใช้ในบั้นปลายชีวิตอย่างไม่ขัดสน ก็อาจต้องเน้นจัดพอร์ตลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำสุด และให้ผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าต้องการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี ก็ต้องเน้นกองทุนรวม LTF และ RMF หรือถ้าต้องการลงทุนเพื่อสร้างผลกำไร ก็ต้องจัดพอร์ตลงทุนเน้นหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด ซึ่งนั่นหมายความว่าต้องสามารถรับความเสี่ยงที่สูงตามด้วย 

สิ่งสำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ การจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะกับลักษณะนิสัยของตัวผู้ลงทุนเอง หากเป็นคนที่ทนต่อสิ่งเร้าไม่ได้ ไม่อาจยอมรับความเสี่ยงได้ อีกทั้งยังไม่ชอบติดตามข่าวสารบ้านเมืองสักเท่าไหร่ ก็ควรลงทุนผ่านกองทุนรวมเป็นหลัก เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญบริหารจัดการให้ แต่ถ้าหากเป็นคนใฝ่รู้ ชอบความท้าทาย ติดตามข่าวสารเป็นประจำ ลักษณะนิสัยแบบนี้ก็เหมาะที่จะลงทุนในช่องทางที่ให้ผลตอบแทนสูง เพราะสามารถแบกรับความเสี่ยงได้ดีกว่า

ทั้งนี้ รูปแบบการลงทุนมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดรูปแบบการลงทุนใหม่ๆ ที่ผันแปรจากรูปธรรมไปเป็นนามธรรมมากขึ้น และมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนอกเหนือจากการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ตลาดตราสารทุน และตลาดเงินแล้ว ปัจจุบันยังมี “การลงทุนทางเลือก (Alternative Investments)” อื่นๆ ที่น่าสนใจในการนำมาช่วยกระจายความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพอร์ตการลงทุนได้ ผู้ลงทุนจึงต้องหมั่นเรียนรู้เพื่อเพิ่มโอกาสการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าอยู่เสมอ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้