จัดการกับความต้องการของลูกในห้าง

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

พ่อแม่แทบทุกท่านต่างต้องประสบกับเหตุการณ์ที่สร้างความลำบากใจในกรณีที่เจ้าตัวน้อยรบเร้าเรียกให้ซื้อโน่น ซื้อนี่ ไม่หยุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่พาออกไปเดินเลือกซื้อของใช้จำเป็นในบ้านตามร้านค้า หรือห้างสรรพสินค้าต่างๆ แย่หน่อยก็ตรงที่ เมื่อเจ้าตัวน้อยไม่ได้อย่างใจก็จะแสดงอิทธิฤทธิ์แปลงร่างจากเด็กน้อยนัยน์ตาใสซื่อ มาเป็นวายร้ายตัวน้อย ลงไปนอนดิ้นเร้าๆ พร้อมกับแผดเสียงกรี๊ดๆ ให้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาถึงกับอึ้งทึ้งในวีรกรรมที่เห็นตรงหน้า 

แม้จะรู้ดีว่าพฤติกรรมเช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวัยอนุบาล แต่เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ลำบากทำนองนี้ขึ้นทีไร คุณพ่อคุณแม่แทบทุกรายก็อดไม่ได้ที่จะต้องยอมตามความปรารถนาของลูกน้อย ด้วยเหตุผลหลักๆ สองประการ นั่นคือ 

- สงสารลูกใจแทบขาด จนทนไม่ได้ที่จะเมินเฉยต่อความสุขเล็กๆ น้อยๆ ของลูก และ

- ซื้อๆ ให้ไปเถอะ ปล่อยให้ดิ้นเร่าๆ แบบนี้อายคนอื่นเขา

ขณะที่พ่อแม่อีกหลายราย นอกจากจะไม่ยอมแล้ว ยังมีมาตรการเด็ดขาดอีกหลายประการที่นำมาใช้จัดการกับพฤติกรรมที่ไม่สร้างภาพเอาซะเลยของเจ้าหนู บ้างก็ลากถูลู่ถูกังพากลับบ้าน หรือพาไปให้พ้นๆ จากที่ตรงนั้น บ้างก็เดินทิ้งไปดื้อๆ ปล่อยให้นอนดิ้นเรียกร้องความสนใจอยู่ตรงนั้นนั่นแหละ และก็มีคุณพ่อคุณแม่อีกกลุ่มหนึ่งอดไม่ได้ที่จะลงมือตบสักป๊าบสองป๊าบด้วยความโมโหสุดฤทธิ์

จะตัดสินใจเลือกวิธีไหนจัดการกับลูก ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณพ่อคุณแม่ผ่านประสบการณ์แบบไหนมา แต่ถ้าจะว่ากันตามทฤษฎีแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก ล้วนแนะนำเป็นมาตรฐานเดียวกันว่า “ให้ยืนดู และรออย่างใจเย็นจนเจ้าหนูหมดฤทธิ์ ก่อนจะเข้าไปปลอบโยนพร้อมกับอธิบายถึงเหตุผล” ซึ่งก็ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง และหลายต่อหลายครั้งต้องจบลงด้วยการรออมชอมโดยยื่นข้อเสนออื่นมาเป็นข้อแลกเปลี่ยน (ตามทฤษฎีเบี่ยงเบนความสนใจ) ซึ่งที่สุดแล้วก็เลยไม่รู้ว่าได้ผลจริงหรือเปล่า

จิตวิทยาปรับพฤติกรรมนักช้อปตัวน้อย
ถ้าคุณพยายามทำตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านบนแล้วไม่ได้ผล อย่าเพิ่งท้อใจด่วนสรุปไปว่าไม่ศักดิ์สิทธิ์พอ เพราะเรื่องอย่างนี้ต้องอาศัยความตั้งใจจริง อดทน หนักแน่น และเวลาที่ยาวนานสักหน่อย และถ้าจะให้ดี ลองใช้ประกอบกับวิธีการต่อไปนี้ดูซิ 

เตรียมแผน...
จะทำการณ์อะไรสักอย่างก็ต้องมีแผน ก่อนออกไปช้อปปิ้งคราวหน้า ลองชวนเจ้าหนูมาร่วมทำรายการสิ่งของที่ต้องหาซื้อด้วยกัน ใช้จิตวิทยานิดหน่อยด้วยการเน้นย้ำให้เขาได้ยินบ่อยๆ ว่า “มาช่วยแม่ดูหน่อยซิว่า.. ของใช้ในบ้านอะไรหมดแล้ว หรือมีของใช้จำเป็นอะไรที่เราต้องหาซื้อมาเพิ่มเติมบ้าง” และถ้าจะให้ดีไปกว่านี้ อย่าลืมถามเขาด้วยว่า เขาอยากได้อะไรเป็นพิเศษไหม อย่าถามเฉยๆ แต่ควรให้เขาบอกเหตุผลด้วยว่าทำไมเขาถึงอยากได้ของชิ้นนั้น, มีความจำเป็นแค่ไหน, มีประโยชน์ไหม ฯลฯ อ้อ! ลืมบอกไปว่า การทำรายการซื้อแต่ละครั้ง คุณจำเป็นต้องตั้งงบประมาณเอาไว้ด้วย ตัวเลขงบประมาณนี้ จะเป็นเงื่อนไขบังคับให้เขาคิดพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลเพิ่มเติมด้วยว่า ถ้าหากเขาซื้อของที่ไม่มีประโยชน์ หรือมีความจำเป็นน้อยกว่าของใช้ส่วนรวม ก็จะทำให้ทุกคนในบ้านอดใช้ของชิ้นนั้นไป เป็นการสอนเรื่องของความเสียสละไปในตัวด้วยนะ



วันจ่าย...
จำไว้ว่า คุณต้องซื้อของตามรายการที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด แม้จะมานึกได้ภายหลังว่ามีของบางชิ้นจำเป็นต้องซื้อเพิ่มเติมก็ตอนที่เผอิญเดินผ่านแล้วเห็นของชิ้นนั้นพอดีก็ตาม การซื้อของที่อยู่นอกเหนือจากรายการ เท่ากับเป็นการทำในสิ่งที่ละเมิดกฎกติกาที่ทั้งคุณ และเขาร่วมกันกำหนดขึ้นมา ไม่ว่าคุณจะมีเหตุผลใดๆ มาประกอบหนักแน่นแค่ไหนก็ตาม การทำในสิ่งที่ตัวคุณเองไม่ต้องการให้เจ้าตัวน้อยเห็น เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้เขามีข้ออ้างที่จะทำตามใจตัวเองบ้าง ก็ทีคุณเองยังซื้อของนอกเหนือรายการที่กำหนดได้ แล้วทำไมเขาจะซื้อไม่ได้ล่ะ

แผนสำรอง...
แม้จะเตรียมตัวดีทุกอย่าง แถมพกเอาความตั้งใจจริงไปด้วยเต็มกระเป๋า แต่ก็อย่าประมาทเลยทีเดียว เพราะคนที่คุณต้องรบด้วย คือ เจ้าตัวน้อย ด้วยวัยเพียงเท่านี้ เขายังขาดประสบการณ์ยับยั้งชั่งใจในความต้องการและยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ดีนัก  แม้จะมีการตกลงกันไว้อย่างดีแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสสูงที่เขาจะแหกกฎด้วยวิธีการต่างๆ นาๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยามเมื่อชิ้นของที่ปรารถนาล่อตาล่อใจอยู่ตรงหน้า 

อาการวีนแตก โกรธ ไม่พอใจ เอาแต่ใจ อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา คุณจึงควรเตรียมตัวรับมือเอาไว้ด้วย เช่น ไม่เดินไปใกล้บริเวณแผนกสินค้าที่คาดว่าจะเร้าใจเขาได้ และถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่ชวนพิสมัยขึ้นมาจริงๆ เห็นทีต้องนำเอามาตรการของผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กกลับมาใช้จริงๆ จังๆ อีกครั้ง นั่นคือ พาเขาออกจากบริเวณที่เกิดปัญหาทันที อาจจะพาออกไปเดินเล่นบริเวณอื่นสักพัก รอจนเขาสงบลงเสียก่อน แล้วค่อยพูดจากันอีกครั้ง แต่ถ้ายังมีอารมณ์ค้างนาน และไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงง่ายๆ การพากลับบ้านอาจเป็นหนทางที่ดีที่สุด ณ ช่วงเวลานั้น

คุณอาจต้องใช้เวลา และความอดทนมากสักหน่อย ในช่วง 2-3 ครั้งแรก แต่ถ้าหากสังเกตดีๆ จะพบว่า เจ้าตัวน้อยมีพัฒนาการดีขึ้นเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะหนักแน่นพอหรือเปล่าเท่านั้นเอง  ...เป็นคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเสียสละอย่างนี่แหละ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้