เงิน.. ในความหมายที่ต่างระหว่างหญิงและชาย

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

ผู้หญิง กับผู้ชายไม่ได้มีความต่างกันเพียงแค่ทัศนคติในเรื่องของความรัก และความสัมพันธ์ทางเพศเท่านั้น แต่ยังมีความแตกต่างกันในเรื่องของการใช้จ่ายเงินอีกด้วย โดยรูปแบบการใช้จ่ายที่แตกต่างกันระหว่างหญิงและชายเริ่มมีแนวโน้มที่ชัดเจนขึ้นเมื่อแต่งงาน และมีการแบ่งความรับผิดชอบทางการเงินกัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ฝ่ายภรรยามักจะได้รับหน้าที่ในการดูแลเรื่องการใช้จ่ายจุกจิกในบ้าน เช่น หาซื้อของเข้าบ้าน ดูแลเรื่องอาหารการกิน เสื้อผ้า ของใช้ และจ่ายชำระบิลเรียกเก็บอย่าง ค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าบัตรเครดิต ค่าบ้าน ค่ารถ 

ในขณะที่ฝ่ายสามีเหมาเอาหน้าที่ในการบริหารการเงินที่เป็นโครงสร้างใหญ่ๆ ในบ้าน เช่น การกู้ยืมเพื่อซื้อรถ ซื้อบ้าน เรื่อยไปจนถึงการวางแผนทางการเงินเพื่อความมั่นคงของครอบครัวในอนาคต ด้วยเหตุนี้ผู้หญิงจึงคุ้นเคยกับการใช้จ่าย มากกว่าการบริหารเงินให้งอกเงยกว่าที่เป็นอยู่ โดยที่ผู้หญิงจะไม่พยายามเปลี่ยนแปลงความคุ้นเคยเดิมๆ ของเธอจนกว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เธอต้องเปลี่ยน นั่นก็คือ เมื่อสามีของเธอจากไป โดยการหย่าร้าง และตายจากไป เมื่อนั้น เธอจึงเริ่มคิดถึงการจัดการทางการเงินขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิธีหาเงิน ใช้เงิน บริหารเงินออมให้งอกเงย



จินิต้า วอลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินในสหรัฐอเมริกากล่าวว่า รูปแบบการใช้เงินที่แตกต่างกันนี้ทำให้ฝ่ายภรรยาเสียเปรียบ เพราะโลกอนาคตข้างหน้า ครอบครัวจะไม่มีโอกาสพึ่งพาเงินบำเหน็จบำนาญ หรือดอกเบี้ยที่ได้จากเงินฝากในบัญชีธนาคารอีกต่อไปแล้ว (ยกเว้นแต่ครอบครัวของคุณจะเป็นตระกูลเศรษฐีที่มีเงินเก็บหลายๆ ล้าน ติดอันดับท๊อปของเมืองไทย ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าเงินจะงอกเงยอยู่อย่างไม่มีวันหดหาย เพราะดอกเบี้ยที่งอกเงยจากเงินจำนวนนี้ นอกจากจะต้องเสียภาษีแล้ว ยังมีโอกาสเสี่ยงถูกอัตราเงินเฟ้อลดค่าของเงินลงอีกด้วย ทำให้เมื่อถั่วเฉลี่ยกันแล้ว บางทีดอกเบี้ยที่งอกเงยอาจติดลบลงด้วยซ้ำ)

ครอบครัวยุคใหม่จำเป็นจะต้องมีความรู้ทางการเงิน รู้จักเครื่องมือทางการเงินต่างๆ และรู้วิธีใช้เครื่องมือเหล่านี้บริหารเงินออมที่กันสะสมไว้ให้งอกเงยมากกว่าเก็บไว้ในบัญชีเงินฝากเท่านั้น

ปรับทัศนคติ ปรับชีวิตให้ทันยุค
ข้อดีอย่างหนึ่งของผู้หญิงก็คือ แม้ว่าก่อนแต่งงานเธอจะใช้จ่ายเงินหมดไปกับเรื่องการแต่งตัว และของใช้กระจุกกระจิก หากแต่ว่าเมื่อมีลูก ผู้หญิงสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้เงินของตัวเองได้อย่างอัตโนมัติ ซึ่งตรงกันข้ามกับฝ่ายชายที่ยังไม่สามารถควบคุมการใช้เงินของตัวเองได้ ดังนั้น ผู้หญิงที่มีลูกแล้ว มักมีโอกาสควบคุมการใช้จ่ายของตัวเองเพื่อการเก็บออม และวางแผนทางการเงินในอนาคตได้ดีกว่า เสียแต่ว่าเธอไม่มีความรู้ในการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อการบริหารให้งอกเงยเท่านั้นเอง

มาปรับทัศนคติ เปลี่ยนชีวิตคุณให้ทันการเปลี่ยนแปลงทางการเงินในโลกอนาคตกันเถอะ ไม่ยากเลย ถ้าคุณคิดอยากจะเริ่มต้น ด้านล่างนี้ คือข้อแนะนำที่ควรนำไปปฏิบัติ



หาความรู้ด้านการจัดการทางการเงิน  :  เดี๋ยวนี้นิตยสารผู้หญิงหลายเล่ม เปิดคอลัมน์ที่มีเนื้อหาให้ความรู้ทางการเงินที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้หญิงยุคใหม่ แม้เนื้อหาจะเน้นข้อมูลพื้นฐานประเภทใช้จ่ายอย่างไรให้เหลือเก็บ หรือเลือกซื้ออย่างไรให้ได้ของดี ราคาถูก ทำนองนี้ แต่ก็ต้องนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะเมื่อคุณมีความคุ้นเคยกับวัฒนธรรม หรือรูปแบบความรู้ในลักษณะนี้ดีแล้ว จะทำให้คุณสนุก และรู้สึกอยากขวนขวายหาความรู้ทางการเงินที่มีเนื้อหาซับซ้อนกว่านี้มาอ่านเพิ่มเติมเอง 

ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ความรู้ทางการเงิน มักจะมีโครงสร้างง่ายๆ เป็นสเต็ปๆ โดยเริ่มจากการจัดสรรเงินได้ การออม และรูปแบบการออม การลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเงินออม (หรือที่คุ้นหูกันในสำนวนที่ว่า ให้เงินทำงานแทนคุณนั่นแหละ) เรื่อยไปจนถึงการทำความเข้าใจกับเครื่องมือทางการเงิน จนถึงการจัดพอร์ทการลงทุนเพื่อประกันความเสี่ยงให้กับเงินออมในรูปแบบต่างๆ

เริ่มต้นลงมือ :  ตั้งเป้าหมายการออมของคุณ พร้อมกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน เช่น ส่งเสียให้ลูกได้เรียนจนจบปริญญาโท จากนั้นก็ต้องมาคำนวณต่อว่า ตอนนี้คุณมีรายได้อยู่เท่าไร และต้องใช้เวลาเท่าไรจึงจะเก็บเงินได้ตามจำนวนที่ต้องการ ซึ่งปกติแล้วการออมธรรมดาจากบางส่วนของเงินเดือนเพียงอย่างเดียว จะไม่ทำให้คุณประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมาย คุณจำเป็นที่จะต้องคิดหาวิธีที่จะให้เงินออมเพิ่มจำนวนขึ้นมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากจากแบงค์

ทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ  :  แม้คุณจะรู้สึกว่าตัวเองมีความเข้าใจในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการจัดการทางการเงินดีอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่ใช่เหตุผลที่ดีที่คุณจะนำเงินออมทั้งหมดไปลงทุนในตลาดที่มีความเสี่ยงสูง อย่างตลาดหุ้น หรือกองทุนรวม เพราะความรู้ที่ได้จากทฤษฎี อาจใช้ไม่ได้ทั้งหมดกับการปฏิบัติในเรื่องที่มีความละเอียด และซับซ้อนสูงเช่นนี้ การทดลองตั้งพอร์ตจำลอง โดยนำเอาข้อมูลจริงของตัวคุณเองมาใช้ในการจัดพอร์ต โดยมีการปรับพอร์ตตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงสักระยะหนึ่ง การได้ทดลองปฏิบัติจากข้อมูลจริง จะทำให้คุณเข้าใจในการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อบริหารเงินออมที่คุณมีอยู่มากขึ้น ตัวเลขที่เกิดขึ้นในพอร์ตจะทำให้คุณประเมินตัวเองได้ว่า มีความพร้อมหรือยังที่จะเข้าไปลงทุนในตลาดที่มีความเสี่ยงสูง (กว่าเงินฝาก เพื่อผลตอบแทนที่สูงกว่าด้วยเช่นกัน)

นอกจากนี้ คุณยังจะต้องหมั่นหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ เพราะตลาดเงิน ตลาดทุนมีพัฒนาการของตัวมันเอง โดยมีการเปลี่ยนแปลงตามวิถีการเปลี่ยนแปลงของสังคม การเฝ้าติดตามข้อมูลใหม่ๆ อยู่เสมอ จะทำให้คุณไม่พลาดโอกาสดีๆ ที่คุณจะสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับพอร์ตเงินออมของคุณ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้