Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ร่างกายต้องเผชิญในช่วงที่ตั้งครรภ์ แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อการนอนหลับของว่าที่คุณแม่ไม่มากก็น้อย ซึ่งอาการในแต่ละไตรมาสก็จะส่งผลต่อการนอนแตกต่างกันออกไป หากว่าที่คุณแม่รู้ล่วงหน้าว่าต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ก็น่าจะช่วยให้คุณเตรียมรับมือกับช่วงเวลาเหล่านั้นและหาวิธีผ่อนคลายให้ตนเองนอนหลับได้สบายขึ้นไม่มากก็น้อย
ไตรมาสที่ 1 นอนหลับสบายเพราะโปรเจสเตอโรน
ประมาณ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ร่างกายของว่าที่คุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว หรือที่เรียกรวมๆ ว่าแพ้ท้อง รับประทานอาหารไม่ค่อยได้ ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นผลข้างเคียงจากฮอร์โมน HCG ที่ทำหน้าที่สร้างรก และกระตุ้นให้รังไข่สร้างฮอร์โมนอื่นๆ ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะหากคุณมีมีระดับฮอร์โมน HCG สูง เช่นในรายที่ตั้งครรภ์ลูกแฝด หรือรกเจริญเติบโตผิดปกติ ก็ยิ่งอาจมีอาการแพ้ท้องหนักจนต้องปรึกษาแพทย์ นอกจากนี้มดลูกที่ค่อยๆ ขยายตัวไปกดทับกระเพาะปัสสาวะก็อาจส่งผลให้คุณปวดปัสสาวะถี่ขึ้นอีกด้วย
แต่ถึงแม้ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์นี้คุณต้องเผชิญกับอาการต่างๆ มากมาย แต่ใช่ว่าจะมีข้อเสียไปทั้งหมดค่ะ เพราะในขณะที่คุณอาจมีอาการแพ้ท้องไม่สบายเนื้อตัว แต่ฮอร์โมนอีกตัวหนึ่งที่ชื่อว่าโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกันในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ก็จะทำให้คุณนอนหลับได้ง่ายขึ้น แทบจะเรียกได้ว่านอนหลับทุกที่ทุกเวลาเลยทีเดียว ที่คุณรู้สึกอ่อนเพลีย และง่วงเหงาหาวนอนตลอดเวลาโดยเฉพาะกลางวัน ก็เป็นเพราะเข้าโปรเจสเตอโรนนี่ล่ะค่ะ ดังนั้นหากเป็นไปได้ ควรงีบทุกครั้งที่มีโอกาส เพียงแค่ 10-15 นาทีก็จะช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้แต่ในทางกลับกันโปรเจสเตอโรนอาจทำให้คุณนอนไม่หลับในเวลากลางคืน ฉะนั้นลองดื่มน้ำให้น้อยลงในช่วง 2-3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพื่อจะได้ไม่ต้องตื่นไปเข้าห้องน้ำบ่อยๆ และควรเริ่มฝึกนอนตะแคงด้านซ้าย ซึ่งจะทำให้เลือดไหลเวียดไปเลี้ยงตัวอ่อนในมดลูกได้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยขจัดของเสียและน้ำส่วนเกินในร่างกายได้ดีอีกด้วย
ไตรมาสที่ 2 ตักตวงความสุขจากการนอนหลับ
ว่าที่คุณแม่ส่วนใหญ่เมื่อผ่านช่วง 3 เดือนแรกไปได้ ฮอร์โมนในร่างกายจะเริ่มคงที่ ทำให้อาการต่างๆ ที่ต้องเผชิญในไตรมาสแรกเริ่มทุเลาลง คุณจะเริ่มกลับมามีพละกำลังอีกครั้ง ไม่ง่วงเหงาหาวนอนตลอดเวลาเหมือนที่ผ่านๆ มา ดังนั้นคุณควรฉกฉวยช่วงเวลานี้ในการพักผ่อนและดูแลตัวเองอย่างเต็มที่ เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ เพื่อตัวคุณเองและสุขภาพของลูกในครรภ์
เคล็ดไม่ลับช่วยให้คุณนอนหลับสบายในไตรมาสนี้ คือ ปรับพฤติกรรมการนอนให้เป็นกิจวัตรเหมือนกันทุกวัน เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับท้องที่ใหญ่ขึ้นทุกวันๆ การทำกิจวัตรประจำวันซ้ำๆ กันเป็นประจำก่อนนอนจะช่วยให้นาฬิกาในร่างกายรู้เมื่อเวลานอนมาถึง คุณอาจเริ่มจากอาบน้ำให้สบายตัว ดื่มนมหรือน้ำขิงอุ่นๆ สวดมนต์หรือฟังเพลงเบาๆ และเข้านอนเป็นเวลาเดียวกันทุกคืน นอกจากนี้ การออกกำลังกาย ก็จะช่วยให้คุณนอนหลับได้ง่ายขึ้น หากคุณออกกำลังกายเป็นประจำก่อนตั้งครรภ์ และต้องหยุดไปในไตรมาสแรก ช่วงนี้เป็นเวลาที่คุณจะกลับมาออกกำลังได้อีกครั้ง แต่ทั้งนี้ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อนเสมอ
ไตรมาสที่ 3 แค่ได้หลับ...ก็พอแล้ว
มาถึงโค้งสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ คุณก็จะได้กอดเจ้าตัวน้อยไว้ในอ้อมแขนแล้วนะคะ สำหรับว่าที่คุณแม่ส่วนใหญ่ 3 เดือนสุดท้ายเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานที่สุด ไหนจะท้องที่ใหญ่ขึ้นจนแทบจะเดินไม่ไหว อย่าว่าแต่นอนหลับเลย แค่ได้หลับ แม้จะต้องนั่งหลับก็อาจจะแฮปปี้แล้วสำหรับคุณแม่บางราย เพราะยิ่งใกล้คลอดท้องของคุณก็ยิ่งใหญ่เกินกว่าจะนอนให้สบายได้ หากคุณนอนตะแคงซ้าย โดยมีหมอนข้างรองระหว่างขา แล้วยังรู้สึกอึดอัดไม่สบาย การเปลี่ยนไปเอนหลังที่โซฟา หรือเก้าอี้โยกที่ปรับเอนได้ก็อาจจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
นอกจากนี้ เจ้าตัวน้อยที่โตวันโตคืนก็ยังไปกดทับกระเพาะปัสสาวะทำให้คุณต้องเข้าห้องน้ำบ่อยๆ เคล็ดไม่ลับที่จะช่วยลดจำนวนครั้งที่ต้องเดินไปห้องน้ำก็คือ พยายามถ่ายเบาให้เกลี้ยงกระเพาะปัสสาวะทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำ การโน้มตัวไปด้านหน้าเล็กน้อยขณะขับถ่ายจะช่วยทำให้คุณปัสสาวะออกมาได้หมดมากขึ้น
หากคุณต้องกึ่งนั่งกึ่งนอนเพื่อให้หลับ เพราะการนอนลงไปกับที่นอนเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เมื่อท้องใหญ่ขนาดนี้ ก็ขอให้ทำใจให้สบายๆ และผ่อนคลายให้ได้มากที่สุดค่ะ จริงอยู่ว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่าลืมว่าคุณกำลังจะให้กำเนิดชีวิตหนึ่งชีวิต ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากในชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง เพราะฉะนั้นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ย่อมไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ แน่นอน อดทนอีกอึดใจเดียวนะคะ พอได้เห็นหน้าลูกคุณจะรู้ว่าสิ่งที่คุณอดทนมานั้นมันคุ้มค่ามากเพียงใด
9 ต.ค. 2567
29 ก.ย. 2566