Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
การที่คนสองคนมาจากต่างถิ่นต่างที่ จะมีความคิดเห็นขัดแย้งกันบ้างนั้น เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าจะรักกันมากขนาดไหน ก็ต้องมีบ้างล่ะ ที่จะเห็นต่างในบางเรื่องบางราว ยิ่งเมื่อระยะเวลาที่ใช้ชีวิตร่วมกันยาวนานมากขึ้น โอกาสมีปากเสียงกันก็ยิ่งมีมากขึ้น บางที.. รู้ทั้งรู้ว่าการระเบิดอารมณ์ใส่กัน เป็นสาเหตุที่ทำให้ครอบครัวแตกร้าว แต่.. ทำยังไงได้ การสะกดกลั้นอารมณ์ในช่วงที่ใจกำลังลุกเป็นไฟมันช่างเป็นเรื่องยากเสียเหลือเกิน
ไม่เป็นไรค่ะ.. เรามีวิธีการอันแยบยลให้คุณได้ปลดปล่อยอารมณ์โกรธ โดยไม่ทิ้งร่องรอยแห่งความร้าวฉานเอาไว้
กฎเหล็ก 4 ประการ
เมื่อต้องเผชิญหน้ากัน หยิบกฎทั้ง 4 ข้อมาใช้ รับรองว่าช่วยลดดีกรีความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
1. สร้างข้อตกลงร่วมกัน ก็รู้ทั้งรู้ว่า เมื่อคนสองคน ต่างที่มาที่ไป ต้องมาใช้ชีวิตร่วมกันย่อมมีเรื่องให้ทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นธรรมดา แล้วทำไมคุณไม่สร้างข้อตกลงร่วมกันเอาไว้ซะเลยล่ะว่า เมื่อถึงเหตุการณ์ที่ต้องเผชิญหน้ากันแล้ว คุณสองคนควรทำอย่างไรเพื่อมิให้ความขัดแย้งนั้นลุกลามบานปลายออกไป
ลองจับเข่าพูดคุยกันตั้งแต่ต้น (ก่อนจะมาร่วมหอลงโรง หรือก่อนเหตุการณ์ขัดแย้งครั้งต่อไปจะเริ่มขึ้น) คุยดูซิว่า คุณสองคนจะมีพฤติกรรมอย่างไร เมื่อถูกยั่วจนลุแก่โทสะ และพฤติกรรมอย่างไหนจะทำให้โทสะนั้นทุเลาลงได้ เช่น ต่างคนต่างเดินหนีกันไป เมื่อเห็นว่าการโต้เถียงกันจะลุกลามใหญ่โต รอเมื่ออารมณ์เย็นขึ้นแล้ว ค่อยกลับมาคุยกันได้คล่องขึ้น ก็ให้ตกลงร่วมกันว่า เมื่อเกิดปากเสียงกันขึ้น หากใครรู้ตัวว่ากำลังลุแก่โทสะ ก็ให้เดินหนีไปซะก่อนที่ไฟโกรธจะลุกโชติช่วง
2. ควบคุมสติ และโกรธอย่างมีเหตุผล ฟังดูแล้ว อาจเป็นเรื่องยากสักหน่อยแต่ก็คงไม่เหลือบ่ากว่าแรง เพียงแค่เมื่อคุณรู้สึกโกรธขึ้นมา ให้บอกกับตัวเองว่าอย่าคิดแต่จะเอาชนะ หลบไปหาสถานที่สงบๆ นั่งตรึกตรองถึงเหตุและผล และค่อยๆ คิดหาวิธีที่จะพูดกับเขา การที่คุณยังคงยืนโต้เถียงอยู่กับเขา จะทำให้คุณไม่มีสติเหลือพอที่จะมาไตร่ตรองถึงเหตุผล แล้วอารมณ์โกรธก็จะเข้าครอบงำคุณได้ง่ายๆ
3. เคารพซึ่งกันและกัน อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรื่องผิดใจกันเพียงเล็กน้อยบานปลายออกไปจนกลายเป็นการทะเลาะเบาะแว้งกันใหญ่โต นั่นคือ การขุดเอาโคตรเหง้ากันมาด่าว่าให้เสียหายต่างๆ นาๆ ญาติพี่น้องใคร ใครก็รัก ไม่เชื่อลองถามตัวคุณเองดู เพราะฉะนั้น ถ้าคุณมีนิสัยชอบมองเห็นข้อเสียของวงศาคณาญาติของคู่กรณี ในเวลาที่อารมณ์เสีย ก่อนจะอ้าปากเอื้อนเอ่ยอะไรออกมา ก็ลองนึกว่ากำลังจะด่าว่าญาติผู้ใหญ่ของตัวเอง แค่นั้นล่ะ สามัญสำนึกของคุณอาจระงับไม่ให้คำพรุสวาทร่วงหล่นออกมาจากปาก และทำให้ควบคุมสติได้ไม่ยากนัก
4. พูดให้ตรงประเด็น เมื่อควบคุมสติ ควบคุมอารมณ์ได้แล้ว และพร้อมกลับมานั่งพูดคุยถึงปัญหาที่ทำให้ไม่ลงรอยกันเมื่อสักครู่ ก็ให้เริ่มต้นพูดให้ตรงประเด็น รวบรัด ได้ใจความ และถนอมน้ำใจกันให้มากที่สุด อย่าไปท้าวความถึงเรื่องเก่าเก็บมาทำให้จิตใจหมองมัวกันอีก ประเดี๋ยวจะกลายเป็นเหตุให้เกิดสงครามวาทะกันรอบสองเปล่าๆ
นอกจากกฎเหล็กทั้ง 4 ข้อแล้ว เรายังมีข้อแนะนำเพิ่มเติมอีกว่าสิ่งใดบ้างที่คุณควร หรือไม่ควรทำ เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรง ลองนำเอาคำแนะนำต่อไปนี้ไปใช้ดูนะคะ
สิ่งที่ควรทำ
1. ในกรณีที่คุณเป็นฝ่ายที่ยังคุมสติได้อยู่ และรู้สึกว่าคู่กรณีของคุณเริ่มใช้อารมณ์ในการโต้เถียง ให้คุณสะกิดให้เขารู้ตัวสักนิดว่า เขากำลังขาดสติ เพราะบางครั้งความโกรธอาจทำให้คนเราลืมตัวได้ง่ายๆ หากสะกิดแล้วเขายังไม่รู้ตัว บางทีก็ต้องใช้วิธีสัมผัสแล้วล่ะ จับมือเขาขึ้นมากุมเบาๆ หรือเข้าไปกอดเข้าไว้ และบอกให้เขารู้ว่า ไม่ว่าจะอย่างไรคุณก็ยังรักเขาอยู่ (จะทำได้ไหมเนี้ย)
2. ในกรณีที่คุณเป็นฝ่ายขาดสติเอง และปล่อยให้อารมณ์เข้าครอบงำจนเกิดศึกย่อยๆ ระหว่างคุณกับเขาขึ้นมาแล้วล่ะก้อ หลังจบศึกและรู้สึกอารมณ์เย็นขึ้นมาแล้ว คุณควรเข้าไปสอบถามเขาดูว่า ขณะเกิดสงครามขึ้น คุณได้พลั้งเผลอทำอะไรเลวร้ายลงไปบ้าง ความรู้สึกเสียใจต่อการกระทำที่ผ่านมา จะคอยย้ำเตือนคุณในครั้งต่อไป เมื่อโดนยั่วโทสะขึ้นมาอีก
3. หากบังเอิญว่า คุณสองคนเผลอทำสงครามอารมณ์ใส่กันต่อหน้าลูกๆ หลังจากทั้งคู่สามารถปรับความเข้าใจกันได้แล้ว ควรเข้าไปพูดคุยกับลูก โดยคุณอาจบอกให้เขารับรู้ว่า พ่อแม่พูดจากันรุนแรงไปหน่อย และบางครั้งการที่คนเราอยู่ร่วมกัน ก็อาจมีโอกาสไม่เข้าใจกันจนกลายเป็นชนวนให้ทะเลาะกันได้ แต่ในที่สุดแล้ว พ่อแม่ก็ยังคงรักลูกอยู่ดี
สิ่งที่ไม่ควรทำ
1. อย่าดึงเอาคนอื่นเข้ามาข้องเกี่ยวด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคนๆ นั้นเป็นลูกของคุณสองคน จำไว้ว่า การที่มีบุคคลที่สาม ที่สี่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยจะยิ่งทำให้เรื่องบานปลายออกไปมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญการใช้ลูกมาเป็นเครื่องมือในการทำสงครามอารมณ์ต่อกัน เท่ากับเป็นการสร้างรอยแผลเป็นในใจของลูกคุณเอง
2. ห้ามลงไม้ลงมือต่อกันโดยเด็ดขาด หากคุณขาดสติจนกระทั่งถึงกับลงมือต่อกันแล้ว เรื่องราวก็คงจบลงได้ยาก ดังนั้น หากรู้สึกว่าตัวเองโกรธจนทนไม่ไหว ให้ลุกเดินหนีจะดีกว่า แต่ถ้าคู่กรณีของคุณมีทีท่าว่าจะลงมือกับคุณ ให้คุณเอ่ยให้สติกับเขา ว่าเขากำลังจะทำร้ายคุณ คำให้สติของคุณอาจทำให้เรื่องราวยุติลงได้ง่ายขึ้น
3. เมื่อสงครามสงบ ควรพูดคุยหาข้อตกลงร่วมกันในประเด็นที่เป็นเหตุขัดแย้ง เพื่อเคลียร์ร่องรอยบาดหมางที่อยู่ในใจของแต่ละคน และป้องกันโอกาสเกิดความขัดแย้งในเรื่องเดิมซ้ำๆ คุณอาจงอนไม่พูดกันข้ามวันข้ามคืนได้ในช่วงหลังจากที่มีเรื่องทะเลาะกันใหม่ๆ แต่อย่าปล่อยให้นานนัก เพราะทิฐิในใจจะฝังลึกจนกลายเป็นปัญหาภายหลังได้
เพียงเท่านี้ คุณสองคนก็ยังคงสมานความสัมพันธ์ให้คงเดิมได้ทุกเมื่อ แม้ว่าจะต้องออกแรงทะเลาะกันบ่อยแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าจะให้ดีกว่านั้น.. ขอแนะนำว่า.. อย่าทะเลาะกันเลยจะดีกว่า
4 ก.ย. 2567
26 ส.ค. 2567
5 ส.ค. 2567
23 ก.ค. 2567