Seven-Day Plan

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

" เมื่อเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปหรือมากกว่านั้น
คุณแม่สามารถสร้างโปรแกรมการนอนให้เขาได้แล้ว
และถึงลูกจะเด็กกว่านั้น ก็สามารถสอนให้เรียนรู้ได้แล้ว "
 
จากตำราสู่ประสบการณ์จริงหลังรอคอยมา 9 เดือน ช่วงเวลาแห่งการปฎิบัติการเรียนรู้ใจและพฤติกรรมลูกน้อยก็เกิดขึ้น จากข้อสงสัยที่หลากหลาย ทำไมทารกน้อยนอนนานจัง ลูกไม่หิวบ้างหรือ.. วางไม่นานก็ตื่นอีกแล้ว.. กล่อมกันทั้งคืนทำไมหนูไม่ยอมหลับ.. แม่มือใหม่ก็เลยต้องอุ้มกันให้หลับคามือแม่แบบนี้ล่ะ

อาจเคยได้ยินผู้ใหญ่หลายบ้านมักจะพูดว่า อย่าทำให้ลูกเคยตัวบ้างล่ะ ต้องฝึกสร้างนิสัยการนอนบ้างล่ะ จะสอนกันได้ด้วยหรือเพิ่งคลอดลืมตามาดูโลกได้เพียงไม่กี่วัน คำตอบก็คือได้ค่ะเพราะแม้ว่าจะเป็นเพียงแค่ทารกก็สามารถเรียนรู้ได้แล้ว

คุณแม่มือใหม่เมื่อลูกคลอดออกมาได้ไม่นานจะทุ่มเทให้กับการเลี้ยงดูลูกอย่างเต็มที่และดีที่สุด ฉะนั้นการอดหลับอดนอนตอนกลางคืนถือเป็นเรื่องเล็กน้อยที่แม่จะทำให้ลูกได้ แต่เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 6 การที่ต้องตื่นนอนทุก 2-3 ชั่วโมงเริ่มเป็นเรื่องยากแล้วใช่ไหมคะ ยิ่งพอย่างเข้าเดือนที่ 3 ตอนนี้คุณแม่จะเริ่มแกล้งทำเป็นหลับ เพื่อหวังว่าคุณสามีเห็นใจยอมลุกขึ้นทั้งที่ตายังหลับอยู่ กล่อมลูกน้อยด้วยการอุ่นขวดนมป้อนแทน

เรื่องดีๆ แม่ก็ต้องมีหวัง
อย่าเพิ่งถอนหายใจเมื่อต้องนึกถึงเสียงลูกอ้อแอ้เพราะหนูน้อยกำลังจะตื่น  พ่อแม่มือใหม่หลายคนถึงกับต้องลุกนั่งนอนด้วยวิธีไร้เสียง เพราะกลัวทารกน้อยจะตื่นกันเลยทีเดียว อย่าให้รู้สึกเป็นเรื่องเหนื่อยหน่ายขนาดนั้นเลยค่ะ เพราะเรามีข่าวมาฝากคุณแม่ค่ะ เด็กทารกส่วนใหญ่สามารถหลับได้เองตลอดคืนตั้งแต่อายุประมาณ 3-4 เดือน แต่พ่อแม่หลายคนยังคงทำให้ลูกมีนิสัยการนอนแบบแย่ๆ ต่อไปอีกเป็นปีๆ โดยไม่รู้ตัว เมื่อเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปหรือมากกว่านั้นคุณสามารถสร้างโปรแกรมการนอนให้เขาได้แล้ว และถึงลูกจะเด็กกว่านั้น ก็สามารถสอนให้เรียนรู้ได้แล้ว ไม่มีคำว่าเริ่มเร็วเกินไปหรอกค่ะ สำหรับการสอนการนอนอย่างฉลาดให้ลูก ลองโปรแกรมนี้ดูค่ะ seven-day plan สอนลูกหลับสบายโดยไม่ร้องไห้โยเยภายใน 7 วันค่ะ

Day 1 : ปฏิบัติตามตารางและสม่ำเสมอ
ทารกเกิดใหม่จะยังสับสนระหว่างกลางวันกลางคืน การงีบหลับกลางวันยาวนานและตื่นขึ้นมาเล่นตอนกลางคืนแทนจนคุณแม่อดนอนแบบนี้ เราจึงต้องมีการวางแผนการนอนให้ลูกตัวน้อยกันแล้วค่ะ มีงานวิจัยล่าสุดออกมาบอกว่า สามารถสอนให้ทารกรู้ความแตกต่างระหว่างกลางวันกับกลางคืนได้ด้วยวิธี

ให้ลูกตื่นแต่เช้า ทำให้เป็นกิจวัตร เพื่อให้เขารู้ว่าต้องตื่นเวลานี้ทุกเช้า
วางเตียงนอนของลูกไว้ใกล้หน้าต่าง เพื่อให้มีแสงสว่างยามเช้าส่องผ่านเข้ามาได้ ซึ่งแสงธรรมชาติยามเช้าหรือกลางวัน จะช่วยให้ลูกแยกแยะและเรียนรู้ช่วงเวลาของวันได้ ตัวอย่างเช่นถ้าลูกเผลอหลับจากการงีบกลางวันแต่เมื่อเขาเห็นแสงแดดส่องมาลูกก็จะสามารถเข้าใจได้เองว่านี่คือเวลาที่ต้องตื่น แต่ถ้านอนหลับในช่วงกลางคืน ถ้าหนูน้อยสะดุ้งตื่นมาในตอนกลางคืนและมองเห็นความมืดมิด ลูกก็จะเรียนรู้ได้เองเช่นกันว่า นอนต่อเถอะ มันคือเวลานอน ใครๆเขาก็นอน    
จัดบรรยากาศการนอนให้รู้ว่าถึงเวลานอนแล้วจ๊ะ เช่น เมื่อถึงเวลานอนคุณแม่จะจับหนูสวมชุดนอนและพาเข้าเตียง ปิดผ้าม่าน เปิดเพลงบรรเลงคลอเบาๆ หรืออาจอ่านนิทานก่อนนอน ร้องเพลงกล่อมลูกก็ได้  ระบบในร่างกายของลูกจะค่อยๆผ่อนคลายลง และเคลิ้มหลับไปได้เอง

Day 2 : ดำเนินต่อไป
ในวันที่ 2 นี้  วันแรกนั้นทำอย่างไรวันนี้ก็ทำเช่นวันแรกค่ะ  สำหรับทารกที่ต้องทานนมตอนกลางคืน คุณแม่สามารถทำให้ลูกสามารถแยกความแตกต่างระหว่างเวลากลางวันและกลางคืนได้โดย ในขณะคุณแม่ป้อนนมให้ลูกให้ป้อนด้วยอารณ์และการแสดงที่ผ่อนคลาย ไม่จำเป็นต้องเปิดไฟสว่างจ้าทั้งห้อง หากต้องการก็เพียงเปิดไฟหรี่เพื่อหลีกเหลี่ยงการกระตุ้นให้ลูกตื่น ในกรณีที่ต้องป้อนนมตอนกลางวันให้ใช้เทคนิกการร้องเพลงและเดินไปด้วย    เพื่อให้ลูกแยกแยะความแตกต่างระหว่างกลางวันกลางคืนออก ในเมืองที่มีสภาพอากาศร้อนแบบบ้านเรา การได้อาบน้ำก็ช่วยให้ลูกผ่อนคลายและสงบลงได้ดีอีกวิธีหนึ่ง อีกวิธีที่เป็นที่นิยมคือการเปิดเพลงคลอเบาๆ สร้างบรรยากาศการนอนก็ใช้ได้ผลกับทารกแรกเกิดเช่นกัน

Day 3 : ใจแข็ง หากลูกเริ่มร้อง
ท่องเข้าไว้  “อย่าใจอ่อนค่ะ” ในคืนที่ 3 นี้ เมื่อถึงเวลาพาลูกเข้านอนหลังดื่มนมเสร็จเพียงหลังแตะเบาะ ตาที่เริ่มสะลึมสะลือก็เบิ่งโต พร้อมเสียงแผดร้องขึ้นมา ในช่วงนี้ขอแนะนำให้คุณแม่วางลูกไว้บนเตียงนอนของลูกที่จัดเตรียมไว้และเดินจากมาแม้จะเป็นเรื่องยากที่ต้องได้ยินเสียงลูกร้องเรียก แต่อยากให้คุณแม่คิดถึงผลในระยะยาวค่ะ ก็เพื่อให้ลูกสามารถหลับได้ด้วยตัวของเขาเอง และมีวินัยในการนอนฉะนั้นต้องใจแข็งเข้าไว้ เพิกเฉยเสียงร้องของเขาบ้าง

เด็กทารกแรกเกิดสามารถฝึกได้ง่าย แต่ถ้าเลยไปช่วงอายุ 5-6 เดือนเขาจะงอแงกว่ามาก ถ้าคุณแม่ไปเปลี่ยนกฎของเขากะทันหัน แต่ถ้าเป็นเด็กอายุ 3 เดือนในทางตรงข้ามเขาจะเรียนรู้กฎจากสิ่งที่คุณสร้างไว้ จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะสอนลูกตั้งแต่เล็กๆ

แต่ถ้าคุณแม่เป็นห่วงลูกมาก “ฉันจะปล่อยให้ลูกร้องไห้แบบนี้ตลอดหรือ” เราก็ยังมีข้อแนะนำค่ะ โดยคุณแม่สามารถเข้าไปเช็คดูลูกทุกๆ 5นาทีในคืนแรก แต่เข้าไปดูแค่ช่วงสั้นๆ อย่าเปิดไฟหรืออุ้มลูกออกมาจากเตียง  อย่าให้จุกนมดูดเพราะเมื่อลูกตื่นนอนขึ้นมาอีกแล้วไม่มีจุกนมลูกจะเรียนรู้ที่จะเริ่มร้องไห้อีก

Day 4 : อดทนเข้าไว้ เส้นชัยใกล้เข้ามาแล้ว
คืนที่ผ่านมาแสนยาวนานและต้องใช้ใจสุดๆเลยใช่ไหมค่ะ ฉะนั้นคืนนี้ต้องมีการพัฒนา เชื่อมั่นเลยค่ะลูกจะมีการเรียนรู้และจำได้ในไม่ช้าว่าการร้องไห้ไม่ได้ก่อให้เกิดผลอะไร เมื่อลูกเรียกร้องความสนใจหรือขัดขืน แนะนำให้คุณแม่ยืดเวลาการตอบสนองเขาออกไปให้ยาวขึ้น จากที่เคยเข้าไปเช็คดูเขาทุก 5 นาทีให้เพิ่มเป็น 10 นาที..อดทนนะคะ เพื่อสองเราแม่ลูกนี่ละคะ

Day 5 : Work หรือไม่ หรือต้องต่อเวลา
เด็กส่วนใหญ่จะเรียนรู้โปรแกรมและทำตามได้ภายใน 3-5 วัน ดังนั้นคืนนี้คุณแม่น่าจะโชคดีไม่ต้องเหนื่อยแล้วนะ แต่บ้านไหนที่ยังไม่เห็นผล ทารกน้อยยังมีปัญหาต่อต้านอยู่ ให้ใช้วิธีต่อเวลาไปสักนิดจาก 10 นาที เป็น 15 นาที แล้วจึงแอบย่องค่อยเข้าไปเช็คดูลูกก็ได้ ทารกบางคนต้องการความแน่ใจว่าคุณแม่จะไปตรวจเช็คหนูซ้ำๆ ในขณะที่เด็กบางคนกลับคิดว่าคุณกำลังเล่นอยู่        

  

Day 6 : ความพยายามเริ่มบังเกิด
การที่ลูกสามารถหลับได้ตลอดทั้งคืนถือเป็นความสุขที่สุดของคุณแม่ใช่ไหมค่ะ เราบอกแล้วว่า คุณแม่สามารถสร้างโปรแกรมการนอนให้ลูกได้ และไม่มีสิ่งใดเกินความพยายามของคุณแม่ ท่องเอาไว้กฎเหล็ก 3 ข้อคือ สม่ำเสมอ ใจแข็ง และอย่ากดดันตัวเอง โดยการเร่งรัดทุกอย่างให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว

Day 7 : Good Night คนดี
ถึงสัปดาห์พอดี..บรรยากาศผ่อนคลายอบอวลจนสัมผัสได้ ไม่เพียงแต่ตัวคุณแม่คุณพ่อจะได้หลับพักผ่อน แต่คุณลูกก็หลับสบายด้วย ท้ายสุดอยากจะกระซิบบอกคุณแม่คนเก่งว่า การที่ลูกมีนิสัยการนอนที่ดีจะทำให้ลูกมีสุขนิสัยที่ดีในระยะยาว การนอนหลับที่ดีสามารถช่วยให้มีสุขภาพที่ดีหยุดยั้งอาการป่วยได้ มีจิตใจอารมณ์แจ่มใสเข้ากันได้กับพี่น้องคนรอบข้างดีหรือเมื่อแม้แต่ยอมต้องพาไปนอนนอกสถานที่ ที่ๆไม่คุ้นเคยลูกก็สามารถหลับได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการฝึกฝนด้วยค่ะ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้