เตรียมตัวอย่างดี แต่ไม่มีน้ำนม

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

อให้มีกำลังใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของคุณ ถึงน้ำนมจะยังไม่มีในวันนี้ แต่หากไม่ถอดใจจะอย่างไรน้ำนม ก็ต้องมาแน่ๆ

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวต่อเนื่อง 6 เดือนนั้น น่าจะถือเป็นความตั้งใจอันดับต้นๆ ของว่าที่คุณแม่ทุกคน เพราะเราต่างรู้กันดีว่าสำหรับลูกน้อยแล้ว นมแม่คือสิ่งที่ดีที่สุด ด้วยเหตุนี้ว่าที่คุณแม่ส่วนใหญ่จึงเตรียมตัวอย่างดี ทฤษฏีแน่น รอเวลาเมื่อให้กำเนิดเจ้าตัวน้อยออกมาเมื่อไร ก็จะได้นำทฤษฏีมาใช้ปฏิบัติได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง.....

แน่นอนว่าเรื่องราวข้างต้นนี้ ว่าที่คุณแม่ทุกคนอยากให้มันเกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไม่ได้เป็นเรื่องง่ายและราบรื่นสำหรับคุณแม่ทุกคน ถึงแม้ว่าจะดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดถูกวิธี ตามตำราก็ใช่ว่าจะมีน้ำนมไหลมาเทมาอย่างที่ตั้งใจ เพราะนอกจากความพร้อม ความตั้งใจจริง และทฤษฏีที่แน่นปึ๊กแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่อาจส่งผลต่อปริมาณน้ำนมของคุณแม่หลังคลอด

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ สัมพันธ์กับปริมาณน้ำนม
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เริ่มท้อแท้ หมดหวัง อยากจะถอดในกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะไม่ว่าจะทำอย่างไรน้ำนมก็มาน้อยเหลือเกิน พยายามหาสาเหตุเท่าไรก็ไม่พบ ลองย้อนกลับไปดูตอนตั้งครรภ์สักนิดค่ะ ว่าคุณมีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือเปล่า

การวิจัยจาก Cincinnati Children's Hospital Medical Centerพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ร่างกายมีปัญหาการเผาผลาญอินซูลินขณะตั้งครรภ์ ซึ่งนำไปสู่ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มักมีปริมาณน้ำนมน้อยกว่าหญิงตั้งครรภ์ทั่วไป ถึง 2.5 เท่า โดยนักวิจัยได้ทำการติดตามคุณแม่จำนวน 561 ราย ที่มีปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หลังจากได้ทำการเก็บข้อมูลประวัติสุขภาพขณะตั้งครรภ์ ตรวจวัดดัชนีมวลกาย ตรวจอินซูลินในร่างกายอย่างละเอียด พบว่าในกลุ่มที่มีระดับกลูโคสสูง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาน้ำนมน้อย เมื่อเทียบกับคุณแม่ที่ไม่มีปัญหาด้านการเผาผลาญอินซูลิน

แม้จะยังไม่พบสาเหตุแน่ชัด แต่นักวิจัยเชื่อว่าภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ อาจมีสาเหตุมาจากฮอร์โมนจากรกได้ทำการปิดกั้นการทำงานของอินซูลินในร่างกาย ส่งผลให้ระดับกลูโคสสูงขึ้น จนกลายเป็นภาวะเบาหวาน

Laurie Nommsen-Riversหัวหน้าคณะวิจัยจาก Cincinnati Children's Hospital ระบุว่าต่อมน้ำนม จะมีความไวต่ออินซูลินมากเป็นพิเศษในช่วงที่ให้นม แม้ว่าอินซูลินจะไม่มีบทบาทโดยตรงที่เกี่ยวข้องกับเซลล์ที่ใช้ในการผลิตน้ำนมแม่ แต่การวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีเครื่อง RNA sequencingจำลองการผลิตน้ำนมจากต่อมน้ำนม พบว่าความเปลี่ยนแปลงของตัวรับอินซูลิน ที่เกิดขึ้นในขณะที่ร่างกายผลิตน้ำนมแม่นั้น ส่งผลต่อการลำเลียงโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตที่จะเป็นอาหารของเจ้าตัวน้อย ซึ่งมีผลเชื่อมโยงกับภาวะน้ำนมน้อย หรือน้ำนมมาช้ากว่าปกติ

น้ำนมมาช้า เพราะใช้ยาในการคลอด
ปัจจุบันนี้ ว่าที่คุณแม่มีทางเลือกในการคลอดที่หลากหลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคลอดธรรมชาติโดยปราศจากการใช้ยาใดๆ การใช้คลอดธรรมชาติแต่ใช้ยาช่วยบรรเทาความเจ็บปวดไปจนถึงการผ่าท้องคลอด ซึ่งต้องมักนิยมใช้การฉีดยาชาเข้าเยื่อหุ้มประสาทไขสันหลัง (epidural anaesthetic) หรือที่เรียกกันคุ้นปากว่าการบล็อกหลัง

ว่าที่คุณแม่หลายรายอาจตั้งใจใช้วิธีธรรมชาติที่สุด ใช้ยาให้น้อยที่สุดในการคลอดลูก แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ หลายอย่างอาจไม่เป็นอย่างที่คิด ไม่ว่าจะเป็นเพราะความเจ็บปวดที่เกินจะทนไหว หรือภาะวแทรกซ้อนต่างๆ ที่แพทย์จำเป็นต้องตัดสินใจใช้ยาเพื่อให้การคลอดประสบความสำเร็จปลอดภัยทั้งแม่ลูก แต่ทั้งนี้ยิ่งใช้ยาลดความเจ็บปวดในการคลอดมากเท่าไร ก็อาจส่งผลต่อปริมาณน้ำนมแม่ในภายหลังได้

Jennifer Lind นักเภสัชศาสตร์ จาก Division of Nutrition, Physical Activity and Obesity แห่งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention) ประเทศสหรัฐฯ ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยาลดความเจ็บปวดในการคลอดกับภาวะน้ำนมมาช้า (Relationship between Use of Labor Pain Medications and Delayed Onset of Lactation) พบว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างการใช้ยาลดความเจ็บปวดในการคลอด กับภาวะน้ำนมมาช้า (น้ำนมมาช้ากว่า 3 วันหลังคลอด)

ในการศึกษานี้ Dr.Lind ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างระหว่างปี 2005-2007 โดยติดตามคุณแม่ตั้งครรภ์ตั้งแต่ช่วงท้องแก่ ไปจนถึงหนึ่งปีหลังคลอด พบว่า 23.4% ของกลุ่มตัวอย่าง เผชิญปัญหาน้ำนมมาช้าหลังคลอด โดยภาวะน้ำนมมาช้าในที่นี้คือ ช้ากว่า 3 วันหลังให้กำเนิดทารก เมื่อเทียบกับคุณแม่ที่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติไม่ใช่ยาใดๆ คุณแม่ที่ใช้ยา โดยเฉพาะการฉีดยาชาเข้าเยื่อหุ้มประสาทไขสันหลัง (epidural anaesthetic) จะมีน้ำนมมาช้ากว่า 2-3 เท่า ส่งผลให้คุณแม่ในกลุ่มนี้ไม่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เท่าที่ควร

สาเหตุไม่คาดคิด กับปริมาณน้ำนม
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แม้จะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จได้ง่าย ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยแวดล้อมหลายๆ ประการ คุณแม่หลายรายอาจพบว่าการเตรียมตัวอย่างดี และพบผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ทำอย่างไรน้ำนมก็ไม่มาสักที ต่อไปนี้เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่คุณอาจคิดไม่ถึงว่าส่งผลต่อปริมาณน้ำนมแม่ในช่วงวันแรกๆ หลังคลอดได้ค่ะ

- สภาพแวดล้อมเป็นพิษ ว่าที่คุณแม่ หรือกระทั่งแม่ของคุณแม่ตั้งครรภ์ ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปนเปื้อนสารพิษอาจส่งผลต่อปริมาณน้ำนมได้ การวิจัยในปี 2006 จากประเทศเม็กซิโก พบว่าหญิงที่เติบโตในหมู่บ้านเกษตรกร ได้รับสารปนเปื้อนจากยาฆ่าแมลงเข้าสู่ร่างกาย มีเนื้อเยื่อเต้านมในปริมาณน้อย หรือในบางรายไม่มีเลย
- เคยผ่าตัดเต้านมมาก่อน การผ่าตัดเต้านมไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางการแพทย์ เช่น มีก้อนเนื้อที่เต้านม หรือด้วยเหตุผลเพื่อความสวยงาม อาจส่งผลต่อปริมาณน้ำนมได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการผ่าตัด และระยะเวลาระหว่างการผ่าตัดเต้านมกับการให้กำเนิดทารกว่าห่างกันเพียงใด ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่าตัดเพิ่มขนาดเต้านม มักจะพบปัญหาน้อยกว่าและสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ประสบความสำเร็จได้มากกว่า ผู้ที่ผ่าตัดลดขนาดเต้านม หรือผู้ที่เผชิญปัญหาแทรกซ้อนต่างๆ ระหว่างการผ่าตัดเต้านม
- การใช้ยาบางชนิด ตัวยาซูโดเอฟีดรีน (Pseudoephredine) ซึ่งพบได้บ่อยในยาแก้หวัดคัดจมูก หรือยาแก้ภูมิแพ้ อาจส่งผลต่อปริมาณน้ำนมแม่ได้ หากคุณให้นมลูกอยู่ แล้วพบว่าจู่ๆ ปริมาณน้ำนมลดลงหลังจากรับประทานยาที่มีตัวยาซูโดเอฟีดรีน ควรงดยาดังกล่าว และปรึกษาแพทย์เพื่อหาตัวยาที่ไม่มีผลกระทบต่อปริมาณน้ำนม

สุดท้ายนี้
ว่าที่คุณแม่หลายรายที่ไม่มีน้ำนมให้ลูกมากพอ หรือไม่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มักจะโทษตัวเอง รู้สึกผิด และผิดหวังที่ไม่สามารถให้ลูกกินนมแม่ได้นานมาก หรือนานพออย่างที่ตั้งใจ บทความนี้จึงตั้งใจเขียนขึ้นเพื่อให้กำลังใจคุณแม่ทั้งหลายที่กำลังเผชิญปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ที่เฝ้าแต่ถามและโทษตัวเองทำไมน้ำนมไม่มาสักที ให้นมลูกบ่อยๆ ก็แล้ว ปั๊มนมทุก 2 ชั่วโมง ตื่นมาปั๊มนมตอนตี 3 ก็แล้ว ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก็แล้ว ทำไมยังปริมาณน้ำนมยังไม่มากเท่าคุณแม่คนอื่นๆ ลองพิจารณาย้อนกลับไปดูค่ะว่า ปัญหาของคุณอาจมีเหตุมาจากปัจจัยต่างๆ ที่ได้กล่าวข้างต้นหรือเปล่า หากใช่ ก็ขอให้มีกำลังใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของคุณ ถึงน้ำนมจะยังไม่มีในวันนี้ แต่หากไม่ถอดใจจะอย่างไรน้ำนม ก็ต้องมาแน่ๆ ค่ะ หากเครียดมากๆ การให้นมเสริมไปก่อน ด้วยการใส่ช้อนหรือไซริงค์ป้อนลูก ก็ไม่ใช่เรื่องผิด สำหรับว่าที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ที่กำลังเตรียมตัวจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เมื่อได้อ่านบทความนี้แล้ว ก็จะได้เตรียมพร้อมและหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่อาจทำให้น้ำนมน้อย หรือน้ำนมมาช้า เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ในที่สุดค่ะ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้