หญิงตั้งครรภ์กับการออกกำลังกาย

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

คุณแม่มือใหม่ต่างสงสัยว่าระหว่างตั้งครรภ์ควรจะออกกำลังกายดีหรือไม่ ข้อมูลต่อไปนี้รวบรวมขึ้นทั้งจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และจากผลงานวิจัยมานำเสนอเป็นความรู้ประกอบการตัดสินใจ

เริ่มแรกพลเรือตรีนายแพทย์สุริยา ณ นคร กล่าวไว้ในบทความเรื่อง “หญิงมีครรภ์กับการออกกำลังกายในน้ำ” ว่า …ในอดีตการตั้งครรภ์ถูกมองเสมือนว่าเป็นการเจ็บป่วยชนิดหนึ่ง ดังนั้นหญิงมีครรภ์จึงได้รับการแนะนำให้พักผ่อนมากๆ และหลีกเลี่ยงการออกแรง อย่างไรก็ดีหลักฐานต่างๆ แสดงว่าการออกกำลังกายสม่ำเสมอในระหว่างการตั้งครรภ์ ช่วยให้ร่างกายไม่ทรุดโทรมและทำให้ไม่รู้สึกอ่อนเพลียง่าย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่เกิดจากการออกกำลังกายช่วยให้คลอดง่ายและหลังคลอดแล้วร่างกายจะคืนสู่สภาพปกติรวดเร็ว…

รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงอารีรัตน์ สุพุทธิธาดา ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะได้กล่าวไว้ในบทสรุป บทวิทยาการว่าด้วยเรื่องของการออกกำลังกายในหญิงตั้งครรภ์ต่ออาการปวดหลัง ปวดเข่า ปวดขาขณะตั้งครรภ์ว่า …การออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์ ตามโปรแกรมที่กำหนดนี้ (การยืดเหยียดกล้ามเนื้อช้าๆ การเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและแอโรบิคชนิดแรงกระแทกน้อย ความเหนื่อยระดับปานกลาง ไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษใดๆ รวมเป็นระยะเวลา 50 นาทีต่อวัน ปฏิบัติตลอดโปรแกรม) สามารถลดอาการปวดหลัง ปวดเข่า ปวดขาได้ และมีความปลอดภัยต่อสุขภาพมารดาและทารก…


วารสาร Journal of Reproductive Medicine ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเรื่องการออกกำลัง กายที่พอเหมาะระหว่างตั้งครรภ์ว่าสามารถลดระดับความดันโลหิตและลดความเสี่ยงในการเป็นความดันโลหิตสูงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ได้  รองศาสตราจารย์ SeonAe Yeo แห่ง School of Nursing University of Michigan ให้เหตุผลเกี่ยวกับผลการวิจัยเรื่องนี้ว่า การรักษาความดันโลหิตให้เป็นปกติระหว่างตั้งครรภ์เป็นสิ่งจำเป็นต่อสุขภาพของผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และทารกในท้องเพราะความดันโลหิตสูงอาจก่อให้เกิดอาการ Toxemia หรือ Pre-eclampsia ซึ่งคืออาการครรภ์เป็นพิษ ที่สามารถเกิดขึ้นกับหญิงตั้งครรภ์ได้สูง 5-7% หากไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดี และมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตทั้งแม่และลูกได้ 

รองศาสตราจารย์ Yeo ได้คัดเลือกสตรีมีครรภ์ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูงจำนวน 16 คนเข้ารับการทดสอบ โดยกำหนดให้ทุกคนมีน้ำหนักและอายุใกล้เคียงกันคือประมาณ 30 ปี จำนวนครึ่งหนึ่งของผู้หญิงตั้งครรภ์ให้ออกกำลังกายโดยการเดินบนลู่วิ่งอัตโนมัติหรือขี่จักรยานอยู่กับที่ประมาณ 30 นาที 3 ครั้งต่อ 1สัปดาห์รวม 10 สัปดาห์ โดยออกกำลังเมื่ออายุครรภ์ 18-28 สัปดาห์ หญิงตั้งครรภ์ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งให้ทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ ผลการทดสอบออกมาว่า กลุ่มสตรีมีครรภ์ที่ออกกำลังกายระดับของความดันโลหิตลดลงมาเฉลี่ย 4.5 ส่วนอีกครึ่งหนึ่งที่ไม่ออกกำลังกายจะมีความดันโลหิตสูงขึ้นเล็กน้อย 

รองศาสตราจารย์ Yeo ให้คำแนะนำว่า การออกกำลังกายในระหว่างตั้งครรภ์นั้นแม้เพียงวันละเล็กน้อยสามารถช่วยให้คุณแม่ตั้งครรภ์อารมณ์ดี ผ่อนคลายจากอาการข้างเคียง เช่น อาการวิงเวียน อ่อนเพลีย การออกกำลังกายที่ดีที่สุดของสตรีมีครรภ์คือการเดินระยะสั้นๆ และการดื่มน้ำมากๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีอากาศร้อนอบอ้าว อย่างไรก็ตาม Dr.Sandi Leong สูตินรีแพทย์จาก ซานตา โมนิกา UCLA Medical Center ได้ออกมาเตือนว่าสตรีมีครรภ์ที่มีอาการความดันโลหิตสูงควรปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย.

เมื่อผลการวิจัยทั้งในและต่างประเทศต่างมีบทสรุปตรงกันว่าการบริหารร่างกายเบาๆ เป็นประจำทุกวันของคุณแม่ตั้งครรภ์มีผลดีอย่างมากทั้งต่อทารกในครรภ์และตัวคุณแม่เอง โดยจะช่วยทุเลาอาการปวดหลังและเข่า ที่สำคัญการได้ยืดเส้นยืดสายบ้างยังช่วยรักษาระดับความดันโลหิตให้อยู่ในภาวะปกติอีกด้วย อย่างนี้แล้วมาออกกำลังกายกันเถอะค่ะ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้