Step by Step กับการอยู่ไฟหลังคลอด

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

การประคบสมุนไพร

วิธีการบำบัดรักษาคุณแม่หลังคลอดตามหลักวิชาของแพทย์แผนไทย เป็นการนำเอาสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหย นำมาประคบตามจุดต่างๆ ของกล้ามเนื้อที่เกิดตึงปวด ในช่วงขณะตั้งครรภ์อยู่ ขณะเดียวกันกลิ่นของน้ำมันหอมระเหย ซึ่งจะระเหยะออกมาเมื่อถูกความร้อน จะช่วยให้เกิดการผ่อนคลายอีกทางหนึ่งด้วย

ประโยชน์ที่ได้:  ช่วยให้เนื้อเยื่อพังผืดยืดออก ลดการติดขัดของข้อต่อ ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดอาการบวมจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวดเมื่อย ช่วยกระตุ้นและทำให้ระบบการไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น

ตัวยาที่ใช้:  ว่านชักมดลูก ไพล ผิวมะกรูด ตะไคร้ ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย เกลือแกง การบูร พิมเสน

ข้อควรระวัง:  

1. ไม่ควรใช้ลูกประคบที่ร้อนเกินไป กับบริเวณผิวที่อ่อน เช่น ท้องแขน

2. ห้ามประคบสมุนไพร ในบริเวณผิวหนังที่มีอาการอักเสบ (ปวดบวม)

3. หลังประคบสมุนไพร ไม่ควรอาบน้ำทันที เพราะจะไปชะล้างสมุนไพรออกจากผิวหนัง        



การทาบหม้อเกลือ

เป็นการให้ความร้อนผ่านเกลือ ซึ่งบรรจุอยู่ในหม้อดินห่อด้วยใบพลับพลึง และตัวยาสมุนไพร

ประโยชน์ที่ได้:  ช่วยให้โลหิตไหลเวียนดี ทำให้น้ำคาวปลาไหลสะดวก แก้อาการขัดยอกปวดเมื่อย ลดไขมัน หน้าท้อง ทำให้ท้องยุบ และทำให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น

ตัวยาที่ใช้:  ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย ตะไคร้ ผิวมะกรูด เกลือแกง การบูร พิมเสน

วิธีการทาบหม้อเกลือ:

นำเกลือใส่หม้อดิน นำมาตั้งไฟ จนเกลือสุกกลายเป็นสีขาวอมเทา
นำสมุนไพรสดที่เตรียมไว้ หั่นและโขลก พอหยาบๆ ใส่เกลือ การบูร พิมเสน คลุกเคล้าเข้าด้วยกัน (ถ้าไม่สามารถสะดวกใช้ของสด อาจใช้สมุนไพรแห้งก็ได้)
ปูผ้าดิบ ตักสมุนไพรลงบนผ้า นำใบพลับพลึง ซึ่งกรีดเอาแกนกลางออกวางไขว้กากบาก แล้วนำหม้อเกลือทับอีกที รวบชายผ้ามัดทำเป็นลูกประคบ
ข้อควรระวัง:

ห้ามทาบหม้อเกลือบริเวณที่เป็นปุ่มกระดูก
ห้ามทาบหม้อเกลือหลังรับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ
ไม่ควรทาบหม้อเกลือในกรณีปวดท้องรุนแรง หรือมีไข้
ในกรณีผ่าท้องคลอด ควรทำหลังจากคลอดแล้วประมาณ 30-45 วัน


การอบสมุนไพร

เป็นการใช้ความร้อนจากน้ำสมุนไพรขับเอาของเสียภายในร่างกายออกมา จึงช่วยขับน้ำคาวปลาให้หมดไปได้อย่างรวดเร็ว คุณแม่หลังคลอดจะต้องเข้าไปอยู่ในห้องที่ปิดมิดชิด โดยมีหม้อต้มน้ำสมุนไพรตั้งอยู่ภายในห้องเพื่อให้ความร้อนทำหน้าที่ขับของเสียออกทางผิวหนัง

ประโยชน์ที่ได้: น้ำคาวปลาหมดลงอย่างรวดเร็ว และช่วยขับของเสียภายในร่างกาย ทำให้ผิวพรรณสดใสเปล่งปลั่ง

ตัวยาที่ใช้:  ไพล ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ตะไคร้ ผิวมะกรูด ว่านน้ำ ว่านชักมดลูก ว่านมหาเมฆ ว่านนางคำ ใบเปล้าหลวง ใบมะขาม ผักบุ้ง ผลส้ม

วิธีการอบสมุนไพร:

นำสมุนไพรทั้งหมดมาหั่น และโขลกรวมกัน ยกเว้นผลส้มใช้ฝ่านบางๆ จากนั้นนำไปต้มในหม้อดิน
นำหม้อต้มน้ำสมุนไพรที่เดือดแล้วมาวางไว้ในกระโจมผ้า ซึ่งควรตั้งไว้ในห้องที่ปิดมิดชิด (แต่ไม่ต้องมิดชิดมากจนอากาศไม่ถ่ายเท)
เปลี่ยนชุดมานุ่งกระโจมอก แล้วเข้าไปอบอยู่ในนั้นประมาณ 20 นาที
หลังอบ ให้ดื่มน้ำอุ่น 1 แก้ว แล้วนั่งพักให้ร่างกายได้ปรับอุณหภูมิเสียก่อน แล้วจึงค่อยไปอาบน้ำ
ข้อควรระวัง:  ควรวัดความดันโลหิตก่อนอบ หากพบว่ามีระดับความดันโลหิตสูงไม่ควรอบ หลังอบไม่ควรอาบน้ำในทันที แต่ให้นั่งพักสักครู่หนึ่งก่อน


การอาบน้ำสมุนไพร

เป็นการชำระล้างเหงื่อไคล และสิ่งสกปรกออกจากร่างกาย เนื่องจากคุณแม่หลังคลอดจะมีกลิ่นอับชื้น กลิ่นตัวแรง หรือกลิ่นคาวจากน้ำคาวปลาที่ไหลออกมาตลอดช่วง 1-2 อาทิตย์แรก ในการอาบน้ำสมุนไพรควรอาบทุกวันติดต่อกันเป็นเวลา 7 – 30 วัน

ประโยชน์ที่ได้:  ช่วยชำระล้างสิ่งสกปรกในร่างกาย ดับกลิ่นคาว และช่วยให้สดชื่น

ตัวยาที่ใช้:  ไพล ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ใบมะขาม ผลส้ม เปลือกส้มโอ ผลมะกรูด ผักบุ้ง ตะไคร้

วิธีการอาบน้ำสมุนไพร:  

นำตัวยาทั้งหมดมาหั่น และโขลกให้เข้ากัน ยกเว้นผลส้ม และผลมะกรูด ให้ฝ่านบางๆ แล้วนำไปต้มสังเกตเห็นน้ำเปลี่ยนสียกขึ้นแล้วผสมน้ำเย็นจนได้ระดับที่อุ่นพอเหมาะ
ตักน้ำราดทั่วตัว ใช้สมุนไพรถูตามตัว จากนั้นตักน้ำสะอาดราดอีกที
ข้อควรระวัง:  ห้ามนอนแช่น้ำในอ่างน้ำ เพราะจะทำให้แผลฝีเย็บที่ยังแห้งไม่สนิทเกิดการติดเชื้อได้ แต่ในกรณีที่คุณแน่ใจว่า แผลฝีเย็บแห้งสนิทดีแล้วก็สามารถทำได้




การนั่งถ่าน

เป็นการใช้ความร้อนและควันจากการเผาไหม้ตัวยาสมุนไพรเพื่อรนบริเวณช่องคลอด โดยจะทำวันละ 1 ครั้งๆ ละ 15-20 นาที

ประโยชน์ที่ได้:  เพื่อกำจัดเชื้อสกปรกในช่องคลอดของหญิงคลอดใหม่ ช่วยขับน้ำคาวปลา ช่วยสมานแผลในช่องคลอด ทำให้ช่องคลอดแห้ง สะอาด และช่วยให้ช่องคลอดกระชับขึ้น

ตัวยาที่ใช้:  ผิวมะกรูดแห้ง เหง้าว่านน้ำ เหง้าว่านนางคำ เหง้าไพล เหล้าขมิ้นอ้อย ชานหมาก เปลือกต้นชลูด ขมิ้นผง ว่านชักมดลูก ใบหนาด 

วิธีนั่งถ่าน:

นำตัวยาทั้งหมดมาตากแดดให้แห้งแล้วนำมาบดเป็นผง
นำถ่านที่ติดไฟจนสุกแดง (ควรเป็นถ่านจากซาก หรือถ่านแสม) ประมาณ 1-2 ก้อน ใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ (หรืออาจเป็นเตาขนาดเล็กๆ ก็ได้)
โรยผงยาลงในถ่าน และนำเก้าอี้ไม้เจาะรูตรงกลางครอบลงบนภาชนะที่ใส่ถ่านไว้ ระหว่างนี้ให้ไปเปลี่ยนเครื่องแต่งกายอยู่ในชุดกระโจมอก
เมื่อเกิดควันจากการเผาไหม้สมุนไพรแล้ว ตัวยาจะพุ่งขึ้นตรงกับรูเก้าอี้ ให้ขึ้นนั่งบนเก้าอี้ ควันความร้อนจะรนบริเวณช่องคลอด



ข้อควรระวัง:  ไม่ควรใช้เก้าอี้ที่เตี้ยจนเกินไป ควรเว้นระยะห่างจากบริเวณแผ่นรองนั่ง จนถึงภาชนะใส่ถ่านอย่างน้อยประมาณ 1 ฟุต และถ้าหากคุณรู้สึกร้อนเกินไป ไม่ควรทนนั่งต่อไป เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบขึ้นมาได้ แต่ให้ใช้ผงยาโรยลงบนถ่านให้หนาขึ้นจนรู้สึกว่าระดับความร้อนพอเหมาะดีแล้ว ค่อยลงนั่งต่อจนครบเวลาที่กำหนด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้