เหตุฉุกเฉินใดบ้างที่อาจเกิดขึ้นได้ในห้องคลอด

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

1.เด็กเกิดอาการเครียด และหัวใจหยุดเต้นอย่างกะทันหัน คุณหมอต้องรีบเอาเด็กออกอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กขาดออกซิเจนนานเกินไป เพราะจะมีผลกระทบต่อสมองของเด็กได้ 

2. สายสะดือหย่อนยาน  และไหลมาอยู่ด้านหน้าศีรษะของเด็กที่หลุดเข้าไปจุกอยู่บริเวณอุ้งเชิงกราน ทำให้ขณะมดลูกมีการหดรัดตัว ได้ไปกดทับสายสะดือด้วย จึงเป็นผลให้เด็กขาดออกซิเจน กรณีนี้หากน้ำคร่ำแตก และพัดเอาสายสะดือไหลออกมาที่ช่องคลอดก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้

3.ไหล่ของทารกติด  ปัญหานี้จะเกิดขึ้นในกรณีที่มีการคลอดแบบปกติ หลังจากศีรษะของเด็กรอดออกมาได้แล้ว หากเด็กมีขนาดลำตัวที่ใหญ่ อาจทำให้ช่วงไหล่ของเด็กติดอยู่บริเวณอุ้งเชิงกรานได้ ซึ่งจะเป็นผลให้เส้นประสาทบริเวณท้ายทอยถูกกดทับ และอาจทำให้เด็กขาดออกซิเจนได้เช่นกัน

4.รกลอกตัวก่อนกำหนด  โดยปกติแล้ว รกจะลอกตัวและถูกขับออกมาภายหลังจากเด็กคลอดออกมาแล้ว แต่บางกรณีรกมีการลอกตัวในขณะการคลอดกำลังเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นผลให้คุณแม่มีอาการตกเลือดขึ้นได้ และอาจนำไปสู่อาการช็อกหมดสติ และทำให้เด็กขาดออกซิเจนในที่สุด 

5.มดลูกแตก  สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณมีอาการมดลูกแตกก็คือ การที่หัวใจของเด็กหยุดเต้นลง รู้สึกปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน และมีเลือดออกทางช่องคลอด คุณหมอจำเป็นต้องรีบทำคลอดเพื่อนำเด็กออกมาโดยเร็วที่สุด จากนั้นก็ทำแผลที่มดลูกให้กับคุณเพื่อป้องกันไม่ให้คุณเสียเลือดมาก


คุณจะช่วยเหลือตัวเองได้อย่างไรในขณะเกิดเหตุฉุกเฉิน

โดยปกติแล้วเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นในระหว่างทำคลอด จะไม่มีใครบอกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคุณ เนื่องจากคุณหมอไม่ต้องการให้คุณรู้สึกตกใจ  เพราะอาการตกใจของคุณจะมีผลกระทบต่อร่างกายของคุณโดยตรง ซึ่งอาจทำให้อาการหนักขึ้น และทารกอยู่ในภาวะอันตรายได้ แต่ความจริงแล้ว หากคุณสามารถควบคุมสติได้ คุณก็จะสามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ไม่ยาก

เมื่อคุณรู้สึกว่า ภายในห้องคลอดเต็มไปด้วยหมอหรือพยาบาลที่มากเกินความจำเป็น แถมทุกคนต่างก็ดูวุ่นวายกันไปหมด คุณควรควบคุมสติ และปฏิบัติตามดังนี้

-หายใจเข้าลึกๆ และหายใจออกช้าๆ เพราะถ้าคุณไม่ทำเช่นนั้น ลมหายใจของคุณจะสั้นลง ซึ่งจะเป็นผลให้คุณหน้ามืด ตาลาย และในที่สุดออกซิเจนที่ได้รับก็จะไม่เพียงพอส่งต่อไปให้กับลูกน้อยในท้องของคุณได้ ถ้าคุณรู้สึกตื่นตระหนก ให้ยกสองมือขึ้นป้องที่บริเวณจมูกและปาก จากนั้นค่อยๆ สูดลมหายใจเข้าออกอีกครั้งหนึ่ง

-คอยฟังเสียงคำแนะนำของพยาบาลที่อยู่ข้างๆ โดยปกติแล้ว จะมีพยาบาลคนหนึ่งที่ทำหน้าที่คอยบอกคุณว่าตอนนี้กำลังเกิดอะไรขึ้น และคุณควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อให้ตัวคุณเอง และลูกน้อยในท้องปลอดภัย เมื่อคุณมีสติพอจับความในสิ่งที่พยาบาลคอยบอกก็ให้ปฏิบัติตามเขาอย่างเคร่งครัด กุมมือสามีของคุณไว้ถ้าเขาเข้าไปให้กำลังใจคุณในห้องคลอดนั้น แต่ถ้าเขาไม่อยู่ก็ให้กุมมือของพยาบาลเอาไว้ จะทำให้คุณรู้สึกอุ่นใจมากขึ้น

-ให้ความร่วมมือกับคุณหมอทุกอย่าง การปฏิบัติตัวของคุณตามคำแนะนำของคุณหมอ หรือพยาบาลในห้องคลอด จะทำให้เหตุฉุกเฉินดำเนินไปอย่างปลอดภัยและรวดเร็ว

-คิดในแง่บวกเอาไว้ก่อน อาจจะด้วยคำพูดที่ให้กำลังใจกับตัวเองเช่น “ทุกอย่างจะจบลงด้วยดี” “ฉันจะต้องปลอดภัย” อย่างน้อยมันก็อาจทำให้คุณไม่มีเวลาไปคิดถึงเหตุการณ์เลวร้ายเพื่อทำลายกำลังใจตัวเอง

-อย่าลืมว่าสามีของคุณเอง ก็คงอยู่ในภาวะตื่นตระหนกกับเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้นไม่แพ้คุณ ฉะนั้น การที่คุณสามารถควบคุมสติตัวเองได้ และทำจิตใจให้สงบได้มากแค่ไหน ก็จะช่วยให้เขาสงบลงได้มากขึ้นเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้