เลือกคลอดแบบไหนดี

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

สิ่งที่คุณแม่แทบทุกคนกังวลมากๆ เมื่อครรภ์แก่ขึ้นเห็นจะไม่พ้นเรื่องคลอดลูกเพราะกลัวเจ็บ คุณแม่ผู้มีประสบการณ์หลายท่านบอกเสียงตรงกันว่าเจ็บชนิดที่เรียกว่าแทบทนไม่ได้ การคลอดลูกแล้วเจ็บชนิดที่ทนไม่ได้ส่วนใหญ่มักเป็นการคลอดตามธรรมชาติ ซึ่งตามปกติแล้วถ้าไม่มีเหตุฉุกเฉิน หรือเหตุสุดวิสัยจริงๆ คุณหมอจะแนะนำให้คุณแม่คลอดธรรมชาติ 

ในเมื่อมนุษย์เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ วิธีการที่ธรรมชาติมอบให้น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ยกเว้นในกรณีที่คุณหมอพิจารณาแล้วว่าถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติตัวคุณแม่หรือลูกจะได้รับอันตราย จึงเป็นเหตุผลสมควรที่คุณแม่จะเลือกการผ่าตัดคลอด ซึ่งแม้ช่วงระหว่างการทำคลอดจะไม่เจ็บปวดใดๆ เลย แต่หลังจากนั้น จะมีอาการเจ็บแผล (บางคนใช้เวลาเป็นเดือนกว่าแผลจะหายเจ็บ) เสี่ยงต่อการขาดเลือด ได้เห็นลูก อุ้มลูกช้ากว่าคุณแม่ที่คลอดเอง เพราะการผ่าตัดคลอดในรายที่ใช้ยาสลบ ก็จะไม่รู้สึกตัวเลย ถ้าเลือกการบล็อกหลังก็จะสะลึมสะลือ เหมือนครึ่งหลับครึ่งตื่น น้ำนมมาช้ากว่าคนที่คลอดเอง และดูแลลูกไม่ได้เต็มที่เพราะยังเจ็บแผลที่ผ่าอยู่ ค่าใช้จ่ายก็สูงกว่าเป็นเท่าตัวทีเดียว

ปัจจุบันโรงพยาบาลแทบทุกแห่งได้นำวิธีการบล็อกหลังมาช่วยคุณแม่ในการคลอดไม่ให้เจ็บ  มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Painless labour” (เพนเลสเลเบอร์)  หรือศัพท์ทางการแพทย์ใช้ว่า “Epidural anesthesia” สามารถทำได้กับคุณแม่ทุกราย แม้แต่คุณแม่ครรภ์เป็นพิษ โรคหัวใจ  ยกเว้นคุณแม่ที่ติดเชื้อที่ผิวหนังบริเวณใกล้ตำแหน่งที่จะลงเข็มหรือคุณแม่ที่มีภาวะพร่องเลือด พร่องน้ำ เป็นต้น  

ขั้นตอนการทำนั้นคุณแม่มองไม่เห็น เพราะคุณหมอจะทำข้างหลัง  คุณแม่ต้องโค้งตัวงอก่องอขิงสักพัก  คุณหมอจะฉีดยาชาแล้วจึงสอดเข็มเข้าระหว่างช่องว่างข้อต่อกระดูกสันหลังช่วงล่างๆ ใช้เวลา 2-3 นาที จะสำเร็จเรียบร้อย และมีสายพลาสติกเล็กๆ ยื่นมาไว้สำหรับเติมยาด้วย คุณแม่จะทุเลาอาการเจ็บท้องคลอดลงได้ชะงัดนัก  เมื่อฤทธิยาลดลงคุณหมอก็เติมยาได้โดยไม่ต้องจิ้มเนื้ออีก  สายพลาสติกที่คาไว้นี้ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดหรือรำคาญ  มีข้อเสียอยู่บ้างก็คือแข้งขาของคุณแม่จะหมดเรี่ยวหมดแรง  การรับความรู้สึกหมดไปทำให้แรงเบ่งไม่ค่อยดี อาจทำให้เวลาของการคลอดยืดยาวออกไปอีก และท้ายที่สุดคุณหมอมักจะต้องช่วยคลอดโดยใช้เครื่องมือดึงลูกน้อยออกมาที่เรียกว่าใช้คีมดึง (Forceps extraction) 


การผ่าคลอดทางหน้าท้อง…อย่างไรก็ต้องเจ็บ…

การผ่าคลอดทางหน้าท้องถือเป็นการผ่าตัดอย่างหนึ่งซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์จำนวนมากที่กลัวความเจ็บปวดของการคลอดด้วยวิธีธรรมชาติเลือกใช้  ปัจจุบันพบว่าจำนวนตัวเลขของแม่ที่ต้องการคลอดลูกด้วยวิธีผ่าคลอดทางหน้าท้องนั้นมีอัตราสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ในความจริงนั้นแม้ว่าการผ่าคลอดทางหน้าท้องจะช่วยไม่ให้คุณแม่ได้รับความเจ็บปวดขณะเข้าสู่กระบวนการคลอดทางช่องคลอดได้จริง แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดหลังจากการผ่าตัดได้ 

นอกจากนี้ยังมีภาวะแทรกซ้อนต่อตัวแม่และเด็กตามมาไม่ว่าจากการดมยา และผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ซึ่งการคลอดด้วยวิธีธรรมชาตินั้นไม่ต้องเสี่ยงต่อสิ่งเหล่านี้ และในความเป็นจริงแล้วการคลอดด้วยวิธีธรรมชาตินับว่าเป็นวิธีที่ดีและปลอดภัยที่สุด โดยปกติแพทย์จะใช้วิธีการผ่าคลอดทางหน้าท้องก็ต่อเมื่อตรวจพบว่ามีความจำเป็น เช่น เชิงกรานแม่ผิดสัดส่วน ปากมดลูกไม่เปิด ติดเชื้อในโพรงมดลูก รกเกาะต่ำ ทารกอยู่ในท่าก้น ทารกเสี่ยงต่อการขาดออกซิเจน สายสะดือผิดปกติ เป็นต้น หากคุณแม่และลูกน้อยตรวจแล้วไม่พบความผิดปกติใดๆ ก่อนตัดสินใจจะใช้วิธีการคลอดโดยการผ่าตัดทางหน้าท้องควรปรึกษาคุณหมอให้ดีก่อน อย่าเลือกเพราะกลัวเจ็บเพียงอย่างเดียวเพราะ…การผ่าคลอดทางหน้าท้องอย่างไรก็ต้องเจ็บค่ะ


คลอดลูกสบาย...สบาย “ ในน้ำ”….

การคลอดในน้ำเกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศรัสเซีย โดยครูสอนว่ายน้ำคนหนึ่งอยากคลอดลูกในน้ำ และด้วยความช่วยเหลือของแพทย์การคลอดในน้ำครั้งแรกนั้น ทั้งแม่และลูกปลอดภัย  ต่อมาในปี 1970 คุณหมอมิเชล โอเดนท์ สูติแพทย์ชาวฝรั่งเศสได้เผยแพร่วิธีการคลอดลูกในน้ำอย่างปลอดภัยลงในวารสารทางการแพทย์หลังจากที่เฝ้าทดลองการคลอดในน้ำกับหญิงตั้งครรภ์มานับไม่ถ้วน

ข้อได้เปรียบของการคลอดในน้ำ

1. น้ำอุ่นจะช่วยให้เกิดการผ่อนคลาย ลดอาการเจ็บปวดขณะมดลูกบีบตัว ทำให้คุณแม่ไม่รู้สึกอยากเบ่งก่อนปากมดลูกเปิดหมด และความลึกของน้ำทำให้คุณแม่สามารถเลือกอยู่ในท่าที่สบายได้ตามต้องการ

2. น้ำอุ่นทำให้คุณแม่ผ่อนคลาย ลดความเครียด ทำให้ฮอร์โมนแห่งความสุข “เอนโดฟิน “ หลั่งออกมามากซึ่งจะทำให้คุณแม่ต่อสู้กับความเจ็บปวดได้ดี ลดการใช้ยาแก้ปวดที่ไม่จำเป็น

3. คุณแม่สามารถใช้เครื่อง Extonox ( เครื่องที่มีก๊าสออกซิเจนผสมกับก๊าสไนตรัส ในอัตราส่วนที่เหมาะสมขณะอยู่ในน้ำ)


ความปลอดภัยของการคลอดลูกในน้ำ

น้ำที่ใช้ต้องได้รับการปรับอุณหภูมิให้อยู่ที่ 37-37.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิปกติ
ของร่างกายและไม่มีผลต่อทารกเมื่อคลอดออกมา

เมื่อทารกคลอดออกมาพ้นตัวแม่และอยู่ในน้ำ ทารกจะยังไม่หายใจจนกว่าจะสัมผัสกับ
อากาศเมื่อเรายกตัวทารกขึ้นมาจากน้ำ โดยให้ใบหน้าพ้นน้ำ อากาศและอุณหภูมิที่เปลี่ยนไปจะทำให้ทารกหายใจเองได้อัตโนมัติ โดยที่สายสะดือยังไม่ถูกตัด

การคลอดในน้ำไม่เหมาะกับ

ครรภ์แฝด
ทารกอยู่ในท่าก้นเป็นส่วนนำ
คุณแม่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น ความดันโลหิตสูง
ทารกมีภาวะขาดออกซิเจนขณะคลอด
ถุงน้ำคร่ำแตกเกิน 24 ชั่วโมง
การใช้ยาเร่งคลอด
คุณแม่ได้รับยาแก้ปวดขณะรอคลอด
การเจ็บครรภ์ก่อนครบกำหนดคลอด
มีเลือดออกมากผิดปกติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้