Baby Skin : วัณโรคผิวหนัง

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 



คุณแม่ถามมาว่า นอกจากวัณโรคที่ปอดแล้ว วัณโรคยังเป็นที่ผิวหนังได้หรือไม่ ถ้าเป็นแล้วจะรักษาหายไหม และใครบ้างที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

วัณโรค (Tuberculosis)
เรียกย่อๆ ว่า TB เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งมีหลายชนิด ส่วนใหญ่พบเป็น Mycobacterium tuberculosis มีรายงานการพบเชื้อวัณโรคในมัมมี่อียิปต์ที่มีอายุ 2,400 ปีก่อนคริสตกาล  Robert Koch สามารถเพาะเชื้อ Mycobacterium tuberculosis ในปี ค.ศ.1882  ปี ค.ศ.1895 Calmette and Guerin ได้ค้นพบ Bacillus Calmette–Guérin (BCG) vaccine ซึ่งใช้ป้องกันวัณโรคและในปี ค.ศ.1943 เริ่มมีการใช้ยารักษาวัณโรค (streptomycin)

เชื้อวัณโรคสามารถแพร่กระจายจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่ง ผ่านทางการสูดละอองเสมหะที่มีเชื้อวัณโรค จากการไอ จามโดยไม่ใช้ผ้าปิดปาก หลังสัมผัสเชื้อวัณโรคร้อยละ 70  จะไม่ติดเชื้อ ไม่มีอาการป่วย ไม่แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น เนื่องจากเชื้อถูกทำลายด้วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายส่วนที่เหลือร้อยละ 30 เชื้อถูกทำลายไม่หมดเกิดแบ่งตัวและทำให้เกิดการติดเชื้อวัณโรค

ปัจจัยที่มีผลต่อการติดเชื้อวัณโรคคือจำนวนเชื้อที่อยู่ในเสมหะ ระยะเวลาที่สัมผัสกับละอองเสมหะที่มีเชื้อ ส่วนใหญ่วัณโรคจะเกิดพยาธิสภาพที่ปอด และยังพบวัณโรคนอกปอดได้อาทิเช่น เยื่อหุ้มปอด ระบบน้ำเหลือง ทางเดินอาหาร ผิวหนัง กระดูก ข้อ เยื่อหุ้มสมอง เชื้อวัณโรคที่ผิวหนังเกิดจากการที่ผิวหนังและเยื่อบุสัมผัสได้รับเชื้อ Mycobacterium tuberculosis พบวัณโรคที่ผิวหนังน้อยมากเมื่อเทียบกับวัณโรคปอด โดยพบน้อยกว่าร้อยละ 0.1 ความรุนแรงขึ้นกับเชื้อและภูมิต้านทานของร่างกายของผู้ที่ได้รับเชื้อ ลักษณะทางคลินิกผื่นมีหลายแบบ ได้แก่

TB verrucosa cutis เชื้อเข้าไปบริเวณที่มีบาดแผล ลักษณะผื่นเป็นตุ่ม ผื่นหนา ผิวขรุขระ มักพบบริเวณนิ้วมือ เท้า เข่า ศอก ขา และก้น ในเด็กมักพบที่ขา

Lupus vulgaris ลักษณะเป็นก้อนนูนโต สีน้ำตาลแดง มักพบเป็นก้อนเดี่ยว บริเวณศีรษะและคอ

Scrofuloderma ลักษณะเป็นก้อนสีแดงช้ำ และอาจแตกเป็นแผล บริเวณฐานเป็นแผล (Ulcer) พบบริเวณต่อมน้ำเหลือง ข้อ กระดูก และต่อมน้ำลาย

Military TB พบในเด็ก มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ตับม้ามโต เชื้อกระจายจากปอดไปยังกระแสเลือด และไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ผื่นมีหลายแบบและอาจทั่วตัว วัณโรคชนิดนี้มีโอกาสเสียชีวิตสูง

Tuberculid เป็นการกระจายของวัณโรคมาจากหลอดเลือด พบเป็นตุ่มหรือก้อนใต้ผิวหนัง เมื่อหายแล้วมักเกิดเป็นรอยแผลเป็น

ผู้ที่เป็นวัณโรคและไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือยังไม่ได้รับการรักษาจะมีโอกาสแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่นได้ สำหรับผู้ที่เริ่มรับประทานยารักษาวัณโรคแล้ว ภายในอย่างน้อย 2 – 3 สัปดาห์ เชื้อจะลดลง และทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อลดลง



การติดเชื้อครั้งแรก (วัณโรคปฐมภูมิ) เช่น ในเด็กที่ร่างกายยังไม่ภูมิคุ้มกันที่จำเพาะ  สำหรับการติดเชื้อทุติยภูมิ (วัณโรคหลังปฐมภูมิ) เป็นการติดเชื้อมานาน หลายเดือน หรือเป็นปี เมื่อร่างกายอ่อนแอลง ทำให้กระตุ้นเชื้อวัณโรคที่สงบอยู่ในร่างกายอย่างสงบ แบ่งตัว และทำให้มีพยาธิสภาพ นอกจากนี้ยังเกิดจากการรับเชื้อวัณโรคไปใหม่ได้ด้วย

วัณโรคแฝง จะหมายถึงผู้ที่มีเชื้อวัณโรค แต่ยังไม่แสดงอาการ (Latent TB infection) เมื่อตรวจด้วยวิธี ทำ Tuberculin Skin Test ให้ผลบวก ส่วนใหญ่พบในเด็กเล็กที่อยู่รวมกันหลายคน ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดบ้านเดียวกันกับผู้ป่วยวัณโรค และผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ติดเชื้อ HIV ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับการรักษาด้วยการรับประทานยา Isoniazid เพื่อป้องกันการติดเชื้อผู้ป่วยในกลุ่ม Latent TB infection จะไม่แพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่น

ผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ที่อยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วย ผู้ป่วยที่ภูมิต้านทานต่ำ เป็น HIV อาการที่สงสัยว่าอาจจะติดเชื้อวัณโรคคือ มีอาการไอเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์ ไอเป็นเลือด น้ำหนักลด เบื่ออาหารและมีไข้ ผู้ที่มีอาการน่าสงสัย ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจหาเชื้อวัณโรคนะคะ.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้