ภาวะตัวเหลืองเด็กแรกเกิด อันตรายหรือไม่

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 


ต้องบอกว่านี่คือเรื่องใกล้ตัวที่คุณแม่มือใหม่ทุกคนควรรู้ค่ะ เพราะภาวะตัวเหลืองมีทั้งที่เป็นเรื่องปกติไม่อันตราย กับภาวะตัวเหลืองที่เป็นอันตราย!!คุณแม่ทุกคนจึงควรใส่ใจ เพื่อจะได้ทำความเข้าใจตลอดรู้วิธีการรับมือเรื่องนี้ได้อย่างถูกต้อง งั้นเรามาทำความรู้จักกับเรื่องนี้ให้มากขึ้นไปพร้อมกันค่ะ


ทำความรู้จักกับภาวะตัวเหลือง

ภาวะตัวเหลืองร่างกายเกิดจากการที่ร่างกายมีสารสีเหลือง ที่เราเรียกว่า

“บิลิรูบิน” มากกว่าปกติ ซึ่งสารเหล่านี้นั้นโดยมากจะมาจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดง โดยที่ตับของทารกยังมีขีดจำกัดในการขับสารสีเหลือง ผลที่ตามมาอย่างที่เราเห็น สารสีเหลืองต่างๆ ก็จะไปเกาะตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย จนเกิดอาการที่เราเรียกว่า ภาวะตัวเหลือง นั่นเอง

4 สาเหตุของภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด

1. เป็นภาวะปกติของทารกแรกเกิด ไม่ใช่โรค นั่นคือ ใน 2-3 วัน ของทารกที่คลอดครบตามกำหนด จะมีบิลิรูบินเพิ่มขึ้นช้าๆ ซึ่งจะมีภาวะตัวเหลือง จะแสดงให้เห็นไม่เกิน1 สัปดาห์กับ ทารกที่คลอดก่อนกำหนด จะมีภาวะตัวเหลืองได้เร็วและนานกว่าทารกที่คลอดปกติ ซึ่งอาจกินเวลานานกว่า 2 สัปดาห์

2. เกิดจากภาวะติดเชื้อในทารก

3. เกิดจากภาวะแตกทำลายของเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น คือ ทารกมีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง หรือ ทารกมีเลือดออกเฉพาะส่วนเช่น หน้าคลำจากการคลอด หรือ หมู่เลือดของทารกกับแม่ไม่เข้ากัน

4. เกิดจากภาวะความผิดปกติของร่างกายต่างๆ เช่น ตับผิดปกติ ท่อน้ำดีผิดปกติ เป็นต้น



เทคนิคง่ายๆ ในการตรวจดูทารกมีภาวะตัวเหลืองหรือไม่
ให้คุณแม่ใช้มือกดรีดลงไปที่ผิวหนังของทารกซึ่งหากพบว่าผิวทารกเป็นสีขาวถือว่าทารกไม่มีภาวะตัวเหลือง ขณะเดียวกันหากพบว่าผิวทารกเป็นสีเหลืองก็แสดงว่าทารกมีภาวะตัวเหลืองนั่นเอง

ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดที่ควรไปพบคุณหมอ
ให้คุณแม่สังเกตให้ดีนะคะว่า หลังคลอด 2สัปดาห์ไปแล้ว ทารกมีอาการผิดปกติหรือไม่เช่น ทารกมีลักษณะตัวเหลือง มีไข้ร่วมกับมีอาการตาเหลืองหรือไม่ หรือทารกมีปัสสาวะสีเหลืองเข้มหรือไม่ มีอุจาระเหลืองอ่อนหรือไม่ มีอาการท้องผูก ร้องไห้งอแง ดูดนมแม่น้อย น้ำหนักตัวน้อย มีอาการซึม หรือนอนหลับมากกว่าปกติหรือไม่ หากมีควรรีบพาไปพบคุณหมอ

การป้องกันภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด
1. ในช่วงแรกคลอดนั้น สิ่งสำคัญที่คุณแม่ทุกคนควรใส่ใจอย่างมาก นั่นคือ การให้ทารกดูดนมแม่ให้เร็วที่สุด ถ้าเทียบในหนึ่งวันสามารถให้ทารดดูดนมแม่ได้ถึง 12 ครั้งต่อวัน หรืออาจจะให้ทารกดูดได้บ่อยครั้งตามที่คุณแม่สะดวกเพราะจะช่วยให้ลำไส้ของทารกมีการทำงานมีการเคลื่อนไหวที่ดี ซึ่งช่วยให้การขับสารสีเหลืองเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น

2. คุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมทารก หรืออยู่ในช่วงระยะใกล้คลอด ควรมีการงดทานยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มซัลโฟนาไมด์ เพราะจะมีผลต่อเม็ดเลือดแดง ซึ่งอาจจะทำให้เม็ดเลือดแดงของทารกแตกจนเกิดภาวะตัวเหลืองตามมา

3. ขอเน้นย้ำว่าในคุณแม่ที่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ สิ่งแรกที่ควรทำ คือ การฝากครรภ์เพราะจะทำให้ได้รับคำแนะนำดีๆ รวมถึงได้รับการตรวจสุขภาพครรภ์ การตรวจหาความผิดปกติของครรภ์ การป้องกันครรภ์ และรักษาครรภ์ อย่างถูกต้องจากคุณหมอ

นมแม่แก้ภาวะทารกตัวเหลือง
ทารกแรกเกิดยิ่งดูดนมแม่เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี นมแม่คืออาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกและยังช่วยลดภาวะตัวเหลืองได้ด้วย ยิ่งหากคุณแม่ให้ทารกดูดนมแม่มากที่สุด ก็จะทำให้ทารกถ่ายบ่อยขึ้น ซึ่งก็จะช่วยขับสารเหลืองออกจากลำไส้ได้เร็วขึ้นเช่นกัน

ส่องไฟรักษาภาวะทารกตัวเหลือง
การรักษาภาวะตัวเหลือในทารกนั้น คุณหมอจะรักษาไปตามสาเหตุของการเกิดเป็นหลัก ร่วมกับการลดระดับบิลิรูบินลงด้วยการส่องไฟรักษา หรือในบางกรณีอาจจะมีการรักษาด้วยการเปลี่ยนถ่ายเลือดซึ่งจะอยู่ในดุลยพินิจของคุณหมอนั่นเอง

คำแนะนำ สำหรับการสังเกตภาวะตัวเหลืองในทารก
1. คุณแม่ควรเลือกเสื้อผ้าให้เด็กทารกแรกคลอดด้วยการหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่มีสีเหลือง เพราะจะทำให้การมองทารกไม่ชัดเจนว่าอยู่ในภาวะตัวเหลือหรือภาวะปกติ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงสีเหลือง อาจจะเลือกสีสันที่เป็นสีขาว หรือสีอ่อนๆ สบายตา สีฟ้า สีเขียวเป็นต้น

2. ความเชื่อที่บอกต่อๆ กันมาว่าให้นำทารกไปตากแดดเพราะคิดว่าเป็นทางแก้ภาวะตัวเหลืองซึ่งต้องบอกว่าเป็นอันตรายสำหรับทารกค่ะ เพราะร่างกายทารกยังไม่แข็งแรงพอ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงอย่าเชื่อตามกันผิดๆ เพราะจะทำให้ทารกไม่สบายเป็นไข้ได้ ซึ่งก็จะยิ่งทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้นไปอีก

3. ความเชื่อที่บอกต่อๆ กันมาว่า ควรให้ทารกดื่มน้ำมากๆ เพื่อไม่ให้ทารกตัวเหลืองให้ เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องคุณแม่ควรคำนึงถึงผลที่ถูกต้อง คิดดูง่ายๆการดื่มน้ำมากย่อมทำให้อิ่ม ทีนี้เมื่อถึงเวลาที่ทารกต้องดูดนมแม่ ก็จะทำให้อิ่มไวเพราะอิ่มน้ำ แทนที่จะได้นมแม่ในปริมาณที่มากกว่า ดังนั้นไม่ควรทำค่ะ

4. นมแม่ คืออาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก ทั้งให้สารอาหารให้คุณค่า ช่วยให้สุขภาพทารกสมบูรณ์แข็งแรง สิ่งสำคัญที่ควรรู้นั่นคือ แม้ทารกจะมีภาวะตัวเหลือง แต่ขอย้ำว่าการให้น้ำแม่ยังสามารถทำได้ต่อไปตามปกติ เพราะนมแม่คืออาหารวิเศษสำหรับทารก ยิ่งได้ยิ่งดีนั่นเอง

ทั้งหมดนี้หวังว่าแม่ๆ ทุกคนคงได้รับประโยชน์กันไม่มากก็น้อยนะคะ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้