สัปดาห์ที่ 6

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

มีอะไรเกิดขึ้นกับคุณบ้าง
ระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้คุณต้องเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น คุณจะรู้สึกว่าหน้าอกขยายออกเรื่อยๆ และตึงคัด สีผิวรอบๆ หัวนมเริ่มมีสีคล้ำขึ้น หากคุณยังไม่มีอาการแพ้ท้องในสัปดาห์ก่อน รับรองว่าสัปดาห์นี้คุณไม่รอดแน่ แต่ก็มีบ้างเหมือนกัน ที่คุณแม่บางรายก็ไม่มีอาการอะไรเลย แต่คุณพ่อกลับมีอาการซะเอง แบบที่ชาวบ้านเขาเรียกกันว่าแพ้ท้องแทนเมียนั่นล่ะค่ะ นอกจากนี้ระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นสูง จะทำให้ระดับอารมณ์ของคุณขึ้นๆ ลงๆ ไม่เป็นปกติ และอาจเป็นไปจนตลอดช่วงการตั้งครรภ์ของคุณเลยก็ได้ ยังไงก็หาโอกาสให้ตัวเองได้ผ่อนคลายบ้างก็ดีค่ะ


การเตรียมพร้อม
ช่วงที่ตัวอ่อนมีการเติบโตอย่างเต็มที่ เป็นช่วงที่คุณแม่อย่างคุณ ต้องเหน็ดเหนื่อยเป็นที่สุด อาการแพ้ต่างๆ จะเกิดขึ้นในช่วงนี้  ถ้ามีอาการมากหรือกินระยะเวลานาน ควรปรึกษาแพทย์ อย่าลืม! กินอาหารแต่น้อย แต่ให้บ่อยครั้ง คือสูตรสำเร็จที่จะทำให้คุณยังคงได้รับสารอาหารอย่างต่อเนื่องแม้ในยามแพ้ท้อง หากคุณมีอารมณ์ที่แปรปรวน  แก้ไขได้ง่ายด้วยการอ่านเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับพัฒนาการของทารกน้อยทั้งใน และนอกครรภ์ ความน่ารักของเจ้าตัวน้อย จะทำให้คุณมัวใช้เวลาไปกับการจินตนาการถึงลูกในท้องของคุณ จนลืมความกังวลต่างๆ ไปได้


แอบดูพัฒนาการเจ้าตัวเล็ก
เซลเนื้อเยื่อบริเวณรอบนอกสุด จะมีลักษณะคล้ายนิ้วมือ ซึ่งเนื้อเยื่อแต่ละเส้นจะสานต่อกับเส้นเลือดของคุณ และพัฒนาหนาตัวขึ้นจนกลายเป็นรก เพื่อปกป้องถุงน้ำคร่ำ และตัวอ่อนที่อยู่ภายใน แม้ในสัปดาห์นี้ เจ้าตัวอ่อนของคุณจะมีขนาดเล็กเพียงเท่ากับเมล็ดส้ม แต่หัวใจดวงจิ๋วของเขาเริ่มเต้นเพื่อบ่งบอกถึงการก่อเกิดขึ้นในจังหวะชีวิตใหม่แล้ว แม้จะยังมีลักษณะคล้ายท่อขนาดประมาณครึ่งมิลลิเมตรเท่านั้น แต่มันก็พร้อมที่จะขับเลือดไปยังรอบๆ ตัวทารกน้อยแล้วล่ะ ผู้เชี่ยวชาญบางท่านบอกว่า นั่นเป็นเพียงพฤติกรรมหลอกเท่านั้น คล้ายๆ กับการซ้อมเต้นของหัวใจนั่นแหละ แต่เจ้าตัวน้อยยังต้องอาศัยออกซิเจนจากคุณแม่อยู่เลย


จุดสร้างอวัยวะ 32 ชิ้นของลูก
ขนาดเฉพาะส่วนของตัวอ่อนที่ยืดขยายออกไปประมาณเกือบ 1 ซม. มีรูปร่างหน้าตาคล้ายลูกอ๊อดตัวเล็กๆ มากกว่ามนุษย์ อวัยวะหลักๆ ที่มีนอกเหนือจากหัวใจ ก็คือ ไตทั้งสองข้าง และกระดูกไขสันหลังที่เชื่อมต่อกับสมอง ซึ่งขณะนี้ยังเป็นลักษณะร่องท่อขนาดเล็กนิดเดียว

 
ตรวจ.. เมื่อตั้งครรภ์
ช่วงแรกของการตั้งครรภ์คุณหมอจะเว้นช่วงห่างของการนัดตรวจในทุก 1 เดือน แต่เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น คุณหมอจะนัดถี่ขึ้นเป็นทุก 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามหากเกิดอาการผิดปกติขึ้น คุณควรรีบปรึกษาหมอในทันที โดยไม่ต้องรอให้ถึงเวลานัด


กินอย่างไรให้แม่ลูกแข็งแรง
ระดับฮอร์โมนเพิ่มขึ้น ทำให้อาการแพ้ท้องเริ่มรุนแรงในบางราย คุณควรเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค กินให้น้อยลง แต่ให้บ่อยครั้งขึ้น ถ้ากินอะไรไม่ได้เลย ให้กินขนมปังกรอบที่ผสมธัญพืช หรือผักโขมแทนได้ ในรายที่มีอาการแพ้ท้องรุนแรงมาก ให้ฝานขิงอ่อนเป็นแผ่นบางๆ แช่ในน้ำร้อน แล้วค่อยๆ จิบ จะช่วยให้ดีขึ้น นอกจากนี้ให้พยายามหลีกเลี่ยงการได้รับเชื้อโรคจากการกินอาหารดิบๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไข่ที่ไม่ได้ปรุงให้สุกเสียก่อน อาหารที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ และอาหารแช่แข็ง


อาหาร.. แหล่งวัตถุดิบเพื่องานสร้างที่สมบูรณ์
นอกจากอาหารที่คุณควรเอาใจใส่ใจในการหารับประทานเป็นพิเศษแล้ว คุณยังควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางชนิดด้วย เช่น ตับ หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากตับทุกชนิด จริงอยู่ว่าในตับ จะมีธาตุเหล็กซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ แต่ในตับก็มีวิตามินเอ ที่อยู่ในรูปเรตินอลสูงด้วย ซึ่งจะไปเพิ่มระดับไขมันในเลือดให้สูงขึ้น ในกรณีของหญิงตั้งครรภ์หากมีปริมาณไขมันในเลือดสูงมากอาจมีผลทำให้เกิดครรภ์เป็นพิษได้ง่าย โดยเฉพาะในกรณีที่มีปัญหาเรื่องโรคเบาหวานอยู่แล้ว ยิ่งต้องระมัดระวังในเรื่องนี้เป็นพิเศษ

 
สื่อกับลูกน้อยในครรภ์
ผนังกระเพาะปัสสาวะอ่อนตัวลง พร้อมกับกลุ่มเมือกเหนียวก่อตัวหนาขึ้นปิดปากทางช่องคลอด เพื่อป้องกันลูกน้อยในท้องของคุณจากอันตรายภายนอก นับจากนี้ไป มีคุณเพียงคนเดียวเท่านั้นที่สามารถนำอันตรายใดๆ ไปถึงลูกของคุณได้ด้วยความประมาท นับจากนี้ไปคุณควรพึงระลึกว่า ชีวิตลูกของคุณขึ้นอยู่กับการดูแลตัวคุณเองให้มีสุขภาพแข็งแรงทั้งทางกายและใจ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้