Last updated: 27 ก.ย. 2567 |
น้ำกำลังจะมา...
ลูกๆ พร้อมลุย "สู้โว๊ย!!!"
โดยปกติอุทกภัยมักเกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน บางครั้งทำให้เกิดแผ่นดินถล่ม หรือมาจากพายุหมุน ลมมรสุม สภาพอากาศแปรปรวน น้ำทะเลหนุน แผ่นดินไหว เขื่อนพัง ฯลฯ ซึ่งทำให้เกิดอุทกภัยได้เสมอ และเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลัน มันสร้างความทุกข์ระทมให้แก่ผู้ประสบภัยทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก คนชรา ผู้ป่วยภายในครอบครัว ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าน้องน้ำจะมาหาเราเมื่อไร
เพื่อความปลอดภัยของสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะลูกหลาน คนชราของเราจึงต้องเตรียมตัวป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ ดังนี้
1.พูดคุยกับครอบครัวเกี่ยวกับน้ำท่วม
ใช้เวลาที่อยู่ด้วยกันพูดคุยถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วม และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างไร เช่น ปัญหาสุขภาพ น้ำท่วมขังส่งผลให้น้ำเน่าเสีย นำพาเชื้อโรคก่อให้เกิดโรค อาทิ น้ำกัดเท้า โรคฉี่หนู ไข้เลือดออก อาหารเป็นพิษ รวมถึงวิธีการอาบน้ำ เข้าส้วมเพื่อปัสสาวะ อุจจาระจะลำบากอย่างไร เพื่อจะได้จัดเตรียมวิธีป้องกันไว้ได้แต่เนิ่นๆ
2.เตรียมอาหารและอุปกรณ์ยังชีพให้พร้อม
เตรียม "ชุดอุปกรณ์ฉุกเฉิน" ที่ประกอบด้วยอาหารแห้ง ยา ชุดปฐมพยาบาล ไฟฉายพร้อมแบตเตอรี่ และน้ำสำหรับหลายวันในกรณีที่คุณต้องออกจากพื้นที่หรือสาธารณูปโภคถูกตัดขาด และตรวจสอบกับโรงเรียนของลูกๆ ว่ามีแผนรับมือกับน้ำท่วมหรือไม่ และแผนเป็นอย่างไรงของความเสียหาย
3.เก็บเอกสารให้ปลอดภัย
เอกสารสำคัญส่วนใหญ่เป็นกระดาษเปื่อยง่าย ให้เก็บเอกสารสำคัญแยกเป็นเซ็ต เช่น เอกสารประจำตัว อาทิ บัตรประจำตัวประชาชน กระเป๋าสตางค์ บัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม เงินสด ที่ควรติดตัวเสมอให้เก็บไว้ที่ตัวใส่ถุงพลาสติกกันน้ำแบบซีลได้ หากเกิดเหตุจะได้หยิบใช้ได้ทันที
ในขณะที่เอกสารประเภทสัญญาเช่าซื้อ โฉนดที่ดิน ทะเบียนบ้าน สมุดบัญชี ใส่ถุงพลาสติกกันน้ำแบบซีลได้ และใส่กล่องกันน้ำไว้อีกชั้นหนึ่งแล้วนำขึ้นที่สูง เพื่อลดความเสี่ยงของความเสียหาย
4.ซ้อมแผนความปลอดภัย
หาเส้นทางการอพยพที่ปลอดภัยและซ้อมอพยพร่วมกับครอบครัว นัดแนะจุดนัดพบในกรณีที่พลัดหลงจากกัน เรือชูชีพ เสื้อชูชีพ ชุดอุปกรณ์ยังชีพ เอกสารประจำตัวที่เตรียมไว้แล้วต้องพร้อมหยิบฉวยได้ทันที รวมถึงรถยนต์ที่มีน้ำมันเต็มถัง น้ำดื่มสำหรับไว้ใช้ในหลายวันเตรียมไว้ท้ายรถก่อน ทันทีที่คุณต้องอพยพออกจากพื้นที่หรือเมื่อสาธารณูปโภคถูกตัดขาด
5.ติดตามสถานการณ์ข่าวน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด
สถานการณ์น้ำท่วมไม่มีใครอยากให้เกิด เราควรเฝ้าระวังติดตามข่าวน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการพยากรณ์อากาศเพื่ออัปเดตข้อมูลเกี่ยวกับการคาดการณ์น้ำท่วมและเรียนรู้เกี่ยวกับระบบการเตือนภัยในท้องถิ่น ศึกษาหาข้อมูลว่าใครเป็นผู้แจ้งเตือนภัย มีวิธีกระจายข่าวอย่างไร และจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้านานเท่าใด นอกจากนี้คุณควรรู้ระดับความเสี่ยงของบ้านที่อยู่อาศัยของคุณด้วย
6.สอนลูกว่ายน้ำ
การจมน้ำเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นในระหว่างสถานการณ์น้ำท่วม พ่อแม่ทุกคนจึงควรให้ความสำคัญกับการเรียนว่ายน้ำให้แก่ลูกๆ เพราะมันเป็นการช่วยเหลือชีวิตของตัวเองได้ดีขณะที่น้ำท่วม หรือมีกระแสน้ำแรงมากๆ อย่างน้อยลูกๆ ของเราจะได้พยุงตัวลอยคอได้ไม่มากก็น้อย
7.ยกของไว้ที่สูง
ข้อดีของบ้านที่มีมากกว่า 1 ชั้น คือ อาจจะพักอาศัยอยู่ได้ แต่ของสำคัญประเภทเฟอร์นิเจอร์ ตู้เย็น สมาร์ตทีวี เครื่องใช้ไฟฟ้า ตู้เย็น เตาแก๊ส ถังแก๊สหุงต้ม หม้อหุงข้าว ฯลฯ ส่วนใหญ่จะอยู่ชั้นล่าง เราจึงยกสิ่งของเหล่านี้ขึ้นที่ชั้นสองได้ไม่ยาก แต่ถ้าหากบางบ้านเป็นบ้านชั้นเดียวก็ให้จัดเตรียมไม้แผ่นใหญ่ ทำเป็นชั้นวางให้สูงที่สุด เพื่อรองรับน้ำหนักของตู้เย็น ถังแก๊ส ฯลฯ ไว้ให้ได้มากที่สุด
8.ร่วมประชุมกับผู้นำชุมชน
นอกจากเราจะต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมจากทุกช่องทางการสื่อสาร ทั้งจากมือถือ ข่าวโซเชียลมีเดีย โทรทัศน์ ฯลฯ แล้วก็ตาม แต่อีกอย่างคือ “การเข้าร่วมประชุมกับผู้นำชุมชน” เพื่ออัปเดตสถานการณ์หรืออาจจะเป็นสมาชิกจิตอาสาเพื่อทำหน้าที่กระจายข่าวให้แก่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง
และทันทีที่น้องน้ำมาจ่อถึงหน้าบ้าน ครอบครัวและลูกๆ ของเราก็จะไม่ตื่นตระหนกในสถานการณ์ “น้ำท่วม” และอาจจะพร้อมในการช่วยเหลือเพื่อนบ้านได้อีกด้วย เรามา “สู้ไปด้วยกัน” นะคะ
26 ส.ค. 2567
3 ต.ค. 2567
4 ก.ย. 2567
13 ต.ค. 2567