Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
เชื่อว่าคุณแม่หลายท่าน คงได้ยินได้ฟังกันมามากแล้วว่า “นมแม่” นั้นเป็นสุดยอดอาหารสำหรับเลี้ยงดูลูกน้อย เพราะมีสารอาหารที่มากคุณค่าเกินกว่าอาหารชนิดใดในโลกนี้ แต่ก่อนที่จะปักใจเชื่อ เรามาสำรวจกันก่อนดีกว่าค่ะว่า ในนมแม่มีสารอาหารอะไร และสารอาหารแต่ละชนิดมีความสำคัญต่อลูกน้อยของคุณอย่างไร...
"คุณค่าสารอาหารในนมแม่"
โดยทั่วไปแล้วอาหารประเภทหนึ่ง จะมีสารอาหารมากมายเป็นส่วนประกอบ โดยมีสารอาหารเด่นๆ 1 - 3 ชนิด เป็นส่วนประกอบเด่นในการสร้างคุณค่าให้กับอาหารประเภทนั้น ๆ เช่นเดียวกับนมแม่ ซึ่งมีสารอาหารที่มีคุณค่ามากมายเป็นส่วนประกอบ หากแต่ความพิเศษของนมแม่ก็คือ คุณค่าสารอาหารในน้ำนมนั้น เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ของลูกน้อยนั่นเอง
สารอาหารต่อไปนี้...คือสารอาหารที่มีในน้ำนมแม่ และเป็นสารอาหารเด่น ๆ ที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อยวัยแรกเกิดจนถึง 3 ขวบปีแรก ลองอ่านดูนะคะ ว่ามีอะไร สำคัญอย่างไรบ้าง
ธาตุเหล็ก เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเนื้อเยื่อในสมอง โดยธาตุเหล็กจะเป็นส่วนประกอบสำคัญของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ซึ่งจะนำเอาออกซิเจนไปสู่เซลล์ต่างๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมอง และหัวใจ ซึ่งเป็นส่วนที่มีเส้นเลือดปริมาณมาก ดังนั้นธาตุเหล็กจึงมีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการสมอง นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อ ทำให้ร่างกายเติบโตแข็งแรง และเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายอีกด้วย
ดีเอชเอ ช่วยเสริมสร้างเยื่อหุ้มเซลล์ประสาท ซึ่งจะทำให้การรับส่งข้อมูลระหว่างสมองส่วนบัญชาการ กับประสาทการรับรู้ทั้งห้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยให้เจ้าหนูมีการเรียนรู้ที่เร็วแล้ว ยังทำให้เขามีความจำที่ดีอีกด้วย เพราะปริมาณเส้นใยประสาทที่มีมาก จะทำให้เนื้อสมองเกิดลอนในการกักเก็บข้อมูลได้มากขึ้น
กรดไขมันจำเป็น โอเมก้า 3, 6 และ 9 มีการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสมองโดยตรง คือ ช่วยเสริมการทำงานของระบบประสาท และจอประสาทตา และช่วยเรื่องการมองเห็น ส่วนโอเมก้า 9 จะช่วยควบคุมปริมาณไขมันในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเส้นเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งแรง และช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดอาการภูมิแพ้ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ซึ่งมักจะมีอาการภูมิแพ้ได้ง่าย
ไอโอดีน เป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย และสมอง ร่างกายจำเป็นต้องใช้ไอโอดีนสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมการเผาผลาญสารอาหารแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานให้กับร่างกาย ช่วยให้การทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง และระบบประสาทอัตโนมัติทำงานได้ดีขึ้น
โปรตีน เป็นสารอาหารที่ช่วยสร้างเซลล์เนื้อเยื่อใหม่ๆ ให้กับร่างกาย จึงมีส่วนช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตโดยรวมของเจ้าหนู และเป็นแหล่งพลังงาน เมื่อร่างกาย “ขาด” คาร์โบไฮเดรต และไขมัน ช่วยสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย
วิตามินเอ ช่วยปรับสภาพสายตา สร้างเซลล์เนื้อเยื่อ และเป็นเกราะป้องกันโรคต่างๆ ให้แก่ร่างกาย
แคลเซียม มีประโยชน์ต่อการสร้างกระดูก ฟัน เล็บและยังมีส่วนช่วยพัฒนากล้ามเนื้อให้มีพัฒนาการแข็งแรงอีกด้วย แคลเซียมมีผลต่อการยืดขยายของโครงสร้างกระดูก และกล้ามเนื้อ ทำให้เด็กมีการเติบโตที่สมบูรณ์
วิตามินซี ทำหน้าที่เป็นโคเอนไซม์ เร่งปฏิกิริยาเคมีสร้างสารคอลลาเจน เพื่อสร้างเนื้อเยื่อ เอ็นกระดูกอ่อน และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เสริมความแข็งแรงให้กับเส้นเลือด และทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีบทบาทสำหรับในการช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียม ธาตุเหล็กให้ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
สังกะสี มีหน้าที่หลักในการสร้าง และส่งเสริมการเจริญเติบโตของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ทำให้เจ้าหนูมีพัฒนาการที่ดี และยังมีส่วนสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยป้องกันลูกน้อยไม่ให้ติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งป้องกันการเกิดอาการท้องเสีย ที่มักเกิดขึ้นได้ง่ายในเด็กวัย 0-3 ปี
วิตามินบี 1 ช่วยในการทำงานส่งผ่านสัญญาณประสาทระหว่างสมอง กับไขสันหลัง เป็นส่วนสำคัญในการสังเคราะห์สารที่ใช้ควบคุมการทำงานของระบบประสาท
วิตามินบี 6 เป็นตัวช่วยธาตุเหล็กอีกแรงในการสร้างฮีโมโกบินในเม็ดเลือดแดง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งถ่ายออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะ สมอง และหัวใจ
วิตามินบี 12 เป็นสารอาหารอีกตัว ที่มีส่วนช่วยให้กระบวนการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ร่างกายยังใช้วิตามินบี 12 ในการสร้างเซลล์ส่งสัญญาณประสาท ทำให้ระบบประสาทมีการทำงานที่ดีขึ้นอีกด้วย
...การเจริญเติบโตของเด็กทารกจำเป็นต้องได้รับสารอาหารหลากหลาย โดยมีสัดส่วนที่แตกต่างกันตามแต่ละช่วงวัย และปัจจัยในด้านอื่น ๆ เช่น พันธุกรรม สิ่งแวดล้อมรอบตัว และการเลี้ยงดู ความมหัศจรรย์ของนมแม่อยู่ตรงที่กลวิธีในการปรุง ซึ่งร่างกายของแม่แต่ละคนจะคัดสรรสัดส่วนสารอาหารที่เหมาะกับความต้องการในการเจริญเติบโตเฉพาะแบบสำหรับลูกน้อยเท่านั้นค่ะ
10 มิ.ย. 2562
29 ก.ย. 2566