Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
ว่าที่คุณแม่หลายท่านอาจจะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับความสำคัญของกรดโฟลิคต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ผ่านสื่อต่างๆ มาบ้าง เนื่องจากประเทศไทยเริ่มมีการรณรงค์ให้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการผสมกรดโฟลิคในอาหาร เพื่อป้องกันทารกพิการแต่กำเนิด ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ที่ถึงแม้ว่ายังไม่มีกฎหมายออกมาอย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็น่าจะเป็นการดีสำหรับว่าที่คุณแม่ทั้งหลาย จะรับรู้และทำความเข้าใจถึงความสำคัญของกรดโฟลิคกันก่อน
คุณรู้จักกรดโฟลิคดีแค่ไหน ?
เมื่อตั้งครรภ์ ว่าที่คุณแม่แทบทุกรายทราบดีว่าจะต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และรับประทานวิตามินรวมที่คุณหมอจัดให้ แต่ทราบหรือไม่ค่ะว่าเพียงเท่านี้อาจยังไม่เพียงพอที่จะปกป้องลูกน้อยจากภาวะพิการแต่กำเนิดได้
ข้อมูลจากไทยรัฐออนไลน์ โดย นพ.พิชิต ศิริวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ระบุว่าปัจจุบันคนไทยยังมีความรู้เรื่องนี้น้อยมาก คนที่ป้องกันถูกต้องจริงๆ มีไม่ถึง 0.3 % เมื่อเป็นเช่นนี้ เราลองมาทำความรู้จักกับกรดโฟลิคให้ดีขึ้นอีกสักนิดดีกว่าค่ะ
กรดโฟลิค หรือบางทีเราก็รู้จักกันในชื่อของโฟเลต
เป็นวิตามินชนิดหนึ่งในกลุ่มที่ละลายน้ำ มีบทบาทสำคัญเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของเซลล์ต่าง ๆ และมีบทบาทในการสร้างสารคาร์บอน ซึ่งเป็นกลไกการทำงานของดีเอ็นเอในการถ่ายทอดคำสั่งทางพันธุกรรมเพื่อสร้างโปรตีนชนิดต่าง ๆ รวมทั้งการควบคุมการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม ขณะตั้งครรภ์ ร่างกายของว่าที่คุณแม่กลับสูญเสียโฟลิคไปกับการปัสสาวะมากขึ้น ผนวกกับลำไส้ก็ดูดซึมกรดโฟลิคจากาอาหารได้น้อยลง ทำให้หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงที่จะขาดกรดโฟลิคสูงกว่าคนทั่วไป ส่งผลให้ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงที่จะมีพัฒนาการของสมองและระบบประสาทที่ผิดปกติ รวมไปถึงภาวะพิการแต่กำเนิดอื่น ๆ ได้
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค หรือ The Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ของสหรัฐฯ ระบุว่าในแต่ละปีมีทารกพิการแต่กำเนิด อันเนื่องมาจากแม่ขาดกรดโฟลิคขณะตั้งครรภ์สูงถึงปีละ 3,000 ราย ในทางกลับกัน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค รายงานว่าหากหญิงตั้งครรภ์รับประทานกรดโฟลิคในปริมาณที่เหมาะสม ก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 เดือน และรับประทานต่อเนื่องตลอดไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์จะช่วยลดความเสี่ยงของทารกที่มีความพิการทางสมองแต่กำเนิดได้ถึง 70 %
กรดโฟลิค กินอย่างไรได้ประโยชน์
เพื่อป้องกันภาวะพิการแต่กำเนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติของระบบประสาท หัวใจพิการแต่กำเนิด ไปจนถึงภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ แพทย์ส่วนใหญ่แนะนำให้รับประทานกรดโฟลิคในปริมาณ 400 ไมโครกรัม (0.4 มิลิกรัม) ต่อวันโดยเริ่มรับประทานอย่างน้อย 1 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ หากยังไม่ตั้งครรภ์ก็ให้กินต่อไปเรื่อย ๆ ก็สามารถลดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดลงไปได้ 25 - 50 % ลดความพิการของแขนขาลงได้ประมาณ 50 % ลดความพิการของระบบทางเดินปัสสาวะและโรคไม่มีรูทวารหนักได้ 1 ใน 3 และลดโอกาสการเกิดปากแหว่งลงไปได้ประมาณ 1 ใน 3 ทั้งนี้ในแต่ละวันนั้น ร่างกายได้รับกรดโฟลิคจากอาหารที่เรารับประทานเพียง 100 ไมโครกรัมหรือเพียง 0.1 มิลลิกรัมเท่านั้น ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายที่จะใช้นำมาพัฒนาชีวิตน้อยๆ ในครรภ์ให้สมบูรณ์ได้ หากไม่ได้รับกรดโฟลิคเสริม
อย่างไรก็ตาม...ปฏิเสธไม่ได้ว่าครึ่งหนึ่งของการตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ เป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผนล่วงหน้า ดังนั้นว่าที่คุณแม่จึงอาจไม่ได้รับประทานกรดโฟลิคเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ ในกรณีเช่นนี้ สมาคมสูตินรีเวช สหรัฐฯ the American College of Obstetricians and Gynecologists (ACOG) รวมทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ ต่างแนะนำว่าผู้หญิงทุกคนที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ควรรับประทานกรดโฟลิคเสริมอย่างน้อย 400 ไมโครกรัมให้เป็นกิจวัตร กรณีที่ไม่ได้รับประทานกรดโฟลิคมาก่อน และเพิ่งรู้ว่าตั้งครรภ์ควรเริ่มรับประทานกรดโฟลิคให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ U.S. National Institutes of Health แนะนำว่าควรเพิ่มปริมาณกรดโฟลิคเป็นวันละ 600 ไมโครกรัม เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์หรือผู้ที่กำลังวางแผนจะมีบุตร ที่ซื้อวิตามินรวมสำหรับหญิงตั้งครรภ์มารับประทานเอง ควรอ่านฉลาก และดูปริมาณกรดโฟลิคที่ระบุบนฉลาก ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 800 - 1000 ไมโครกรัม ซึ่งปริมาณกรดโฟลิคที่แนะนำในแต่ละวัน ไม่ควรเกินไปกว่า 1000 ไมโครกรัม นอกจากเป็นคำสั่งแพทย์ ทั้งนี้การรับประทานกรดโฟลิคติดต่อกันเป็นประจำในระยะเวลานานนั้น ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดการสะสมในร่างกายเพราะกรดโฟลิคเป็นวิตามินชนิดหนึ่ง ไม่อันตรายและขับออกได้ทางปัสสาวะ
รู้ได้อย่างไรว่าร่างกายขาดโฟลิค
อาการร่างกายขาดกรดโฟลิคมักจะไม่ปรากฏเด่นชัดนัก ส่วนใหญ่อาจมาในรูปของอาการท้องร่วง โลหิตจาง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด รวมไปถึงรู้สึกไม่มีเรี่ยวแรง เจ็บลิ้น ปวดหัว และหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากคุณมีภาวะขาดโฟลิคเพียงเล็กน้อยร่างกายอาจไม่แสดงอาการใด แต่หากคุณตั้งครรภ์ขึ้นมาก็มีโอกาสเป็นอย่างมากที่ตัวอ่อนในครรภ์จะไม่ได้รับโฟลิคอย่างเพียงพอในช่วงแรกหลังการปฏิสนธิ
กลุ่มเสี่ยงที่ร่างกายอาจมีภาวะขาดกรดโฟลิค ได้แก่ ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน คุณแม่ที่เคยให้กำเนิดทารกที่มีความผิดปกติของระบบประสาท ว่าที่คุณแม่กลุ่มนี้ หากวางแผนจะมีบุตร ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ และรับประทานกรดโฟลิคล่วงหน้าประมาณ 6 สัปดาห์ก่อนตั้งครรภ์ และหากคุณตั้งครรภ์ลูกแฝด ร่างกายมักจะต้องการกรดโฟลิคเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 1000 ไมโครกรัมต่อวัน
นอกจากนี้โรคทางพันธุกรรม ที่ชื่อว่า Methylene Tetrahydrofolate Reductase (MTHFR) ซึ่งทำให้ร่างกายมีปัญหาในการนำกรดโฟลิคไปใช้ ก็อาจส่งผลให้ทารกในครรภ์ไม่ได้รับกรดโฟลิคที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตได้
แค่กินอาหารอุดมโฟลิค...อาจยังไม่พอ
แม้ว่าในอาหารที่เรารับประทานแต่ละวัน เช่น ผักใบเขียว และถั่วเปลือกแข็งต่าง ๆ จะอุดมไปด้วยกรดโฟลิค แต่สิ่งนี้ก็ไม่ได้เป็นการการันตีว่าร่างกายของคุณจะได้รับกรดโฟลิคอย่างเพียงพอ เป็นเพราะว่ากรดโฟลิคในอาหารต่าง ๆ นั้นมักสูญเสียคุณค่าไประหว่างการปรุงและการเก็บรักษาอาหาร อีกทั้งนักวิจัยยังพบอีกว่าร่างกายของคนเราดูดซึมกรดโฟลิคในรูปวิตามินเสริม ได้ดีกว่ากรดโฟลิคที่มีอยู่ตามธรรมชาติในอาหาร
"รู้หรือไม่ว่า กว่า 41.8% ของหญิงตั้งครรภ์ทั่วโลกมีภาวะโลหิตจาง"
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า 41.8 % ของหญิงตั้งครรภ์ทั่วโลกมีภาวะโลหิตจาง โดยครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้มีสาเหตุมาจากร่างกายขาดวิตามินบี ซึ่งมีกรดโฟลิคเป็นส่วนประกอบ และอีกครึ่งหนึ่งมีสาเหตุมาจากการขาดธาตุเหล็ก ด้วยเหตุนี้ WHO จึงออกคำแนะนำทุกประเทศทั่วโลกให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีโอกาสตั้งครรภ์รับประทานกรดโฟลิค และเพื่อณรงค์ป้องกันความพิการแต่กำเนิด
ทั้งนี้เมื่อปี 2552 ประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดโครงการ ลูกครบ 32 สมองดี เริ่มต้นที่ 6 สัปดาห์ก่อนตั้งครรภ์ด้วยโฟลิกแอซิด พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับไอโอดีนและธาตุเหล็ก ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกด้วย แต่โครงการดังกล่าวกลับไม่มีการสานต่อให้เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร
10 มิ.ย. 2562
29 ก.ย. 2566